เว็บไซต์อารมณ์กลอน เว็บไซต์สำหรับผู้มีกลอนในหัวใจ..

คุยเรื่องร้อยแปดชาวอารมณ์กลอน => คุยได้ทุกเรื่อง => ข้อความที่เริ่มโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 12 สิงหาคม, 2556, 03:01:35 PM



หัวข้อ: ระบบทาสที่ซ่อนเร้น
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 12 สิงหาคม, 2556, 03:01:35 PM


ระบบทาสที่ซ้อนเร้น
http://www.naturedharma.com/data-1434.html
( หากคิดละเว้น ต้องเปลี่ยนเป็น "ธรรมชาติธรรม" )


      ผลประโยชน์คือต้นตอของระบบทาส กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ไม่ว่ากลุ่มเล็กหรือใหญ่ผู้เป็นเจ้าของคือนายจ้าง ผู้รับใช้คือลูกจ้าง ถ้าเรามองผิวเผินก็คือการมีประโยชน์ร่วมกัน แต่ถ้ามองอย่างละเอียดรอบคอบ นายจ้างคือนายทาส ลูกจ้างคือลูกทาส

      ความรู้สึกของผู้ที่ได้รับเข้ามาเป็นลูกจ้างจะถือว่านายจ้างมีพระคุณใหญ่หลวง เป็นผู้อุปการคุณทำให้เขามีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว ช่วยให้เขามีงานทำ ไม่ตกงาน นี่เป็นความจริงเพราะระบบสังคมต้องใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ทุกคนต้องทำงานเพื่อเงิน ระบบตรงนี้เองที่เกิดนายจ้างและลูกจ้าง และที่สำคัญคือเกิดมีระบบทาสที่ซ้อนเร้นขึ้น

       นายจ้างก็คือนายทุน เมื่อมีนายทุนก็มีลูกจ้าง เมื่อมีลูกจ้างก็มีระบบทาสทันที เมื่อมีทาสการเอารัดเอาเปรียบจึงเกิดขึ้น ขอยกตัวอย่างเพื่อความเข้าใจ

       สมัยก่อนไม่มีนายทุน หรือไม่มีกลุ่มผลประโยชน์ ทาสก็ไม่มี เรื่อง "ลงแขก" เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเจน ลงแขกคือร่วมแรงเพื่อบ้านมาช่วยกันทำงานให้ลุล่วงเร็วขึ้นโดยไม่รับค่าจ้าง และผลัดเปลี่ยนช่วยกันไปตามความจำเป็น เช่น ลงแขกไถนา เก็บข้าว ทำบ้าน ฯลฯ การลงแขกจึงไม่มีนายจ้าง ไม่มีนายทุน การเอารัดเอาเปรียบจึงไม่มี ระบบทาสก็ไม่มี

       ขอยกตัวอย่างนายจ้างที่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มนายจ้างขนาดเล็ก แม้รับเหมาก่อสร้างบ้านของชาวบ้านที่ต้องการเป็นที่อยู่อาศัยทั่ว ๆ ไป งานเล็ก ๆ ขนาดนี้ก็จริง แต่ผู้รับเหมาจัดเป็นนายจ้าง จัดเป็นนายทุน คือต้องมีทุนจึงจะดำเนินงานได้ จะได้ทุนโดยวิธีใดก็แล้วแต่ เช่นกู้จากชาวบ้านโดยจ่ายดอกเบี้ยร้อยละห้าบาทต่อเดือน กู้ธนาคารร้อยละ สิบหกบ้านต่อปี หรือไม่ต้องกู้แต่ทำสัญญากับเจ้าของร้านวัสดุ เอาวัสดุมาก่อนค่อยผ่อนที่หลัง ส่วนดอกเบี้ยตกลงระหว่างกันตามความเหมาะสม

      ที่มาของทุนคือภาระของนายจ้างที่ต้องแบกรับดอกเบี้ย ภาระดอกเบี้ยมาตกที่ลูกจ้างทันที ถูกนายจ้างเป็นผู้กำหนดราคา ซึ่งแบ่งจากส่วนกำไรของตน หากต้นทุนของการลงทุนสูง คือดอกเบี้ยสูง ลูกจ้างก็ได้รับค่าจ้างน้อยลง น้อยผู้รับเหมาที่จะยอมเหนื่อย ยอมขาดทุนหรือได้กำไรแต่น้อย เพื่อมีความเอื้ออารีกับลูกจ้าง ทั้ง ๆ ที่เขาอาจจะมีจิตสำนึกตรงนี้ แต่ภาระที่อยู่ข้างหลังเป็นตัวกำกับอีกทีหนึ่ง

      ทำไมลูกจ้างจึงต้องทำทั้ง ๆ ที่รู้ว่าผลตอบแทนไม่เป็นธรรม ไม่คุ้มค่า บางครั้งเพราะไม่มีงาน บางครั้งมีข้อผูกพันกับนายจ้าง เช่น หยิบยืมเงินมาใช้ก่อนล่วงหน้า ถามว่าค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนดไว้เหมาะสมหรือไม่ ถ้าพิจารณาให้ไม่มีความเหมาะสมเลย

      ขอย้อนกลับเรื่องการลงทุนเพิ่มเติมอีกนิด จะเห็นว่าการลงทุนโดยวิธีใด ก็แล้วแต่ ผู้รับเหมาจะต้องคำนวณค่าใช้จ่ายออกมาอย่างละเอียด ต้องรู้ว่าดอกเบี้ยจากที่มาของเงิน หรือวัสดุว่ามีมูลค่าเท่าไร ต้องจ่ายค่าคนงานเท่าไร เมื่อคิดออกมาแล้วก็ตกลงราคากับเจ้าของบ้าน ราคาที่ตกลงเป็นราคาที่ผู้รับเหมาได้กำไรมากหรือน้อยตามความต้องการ ตามความเหมาะสม

       เมื่อเราพิจารณาอย่างรอบคอบเจ้าหนี้คือเสือนอนกิน แหล่งที่มาของเงินคือเสือนอนกิน
เช่น ธนาคาร นายทุนเงินกู้ทั่วไป ร้านวัสดุ โยงไปถึงผู้ผลิต ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มนายทุนใหญ่ โอกาสขาดทุนน้อย เขามีเกราะคุ้มกันหลายหลาก เช่นบริษัทประกันต่าง ๆ หรือวิธีการอื่น ๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นวงจรที่สอดคล้องกันทุกระบบ โอกาสที่จะขาดทุนแทบไม่มี พูดง่าย ๆ จะล้มยาก หรือล้มก็ล้มบนฟูกอย่างที่รู้กัน ล้มบนฟูกก็คือเกราะกำบังเช่นกัน นี้ก็เข้าหลักการซ้อนเร้นในรูปแบบหนึ่ง

       ผู้ใช้แรงงานคือผู้ที่ถูกกำหนดค่าจ้าง ถามว่าค่าจ้างมีความเหมาะสมหรือไม่ ใครเป็นผู้กำหนด กำหนดอย่างซ้อนเร้นหรือไม่ ต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ก็จะได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องเที่ยงตรง ซึ่งจะขอชี้แจงรายละเอียดต่อไป แต่ก่อนอื่นขอยืนยันก่อนว่า บรรดาลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร พวกเขาทั้งหลายคือ "ทาส" ที่สรุปว่าทาส หรือเรียกให้แคบลงไปอีกคือทาสแรงงาน ทำงานให้นายจ้าง นายจ้างเอากำไรจากค่าแรงงานตรงนี้เอง ค่าแรงงานขั้นต่ำจึงกำหนดไว้ โดยเผื่อกำไรไว้สำเร็จในตัว ระบบเช่นนี้ไม่ได้ทำเพื่อการแบ่งปันที่เป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกัน ความถูกต้อง ความเป็นธรรมจึงไม่เกิดขึ้น นายจ้างจึงเป็นนายทาสที่แท้จริง ลูกจ้างคือลูกทาสอย่างแท้จริง

      ความซ้อนเร้นอีกอย่างหนึ่งที่จะเจียระไนให้เห็น นายทุนผู้ผลิตอาหารสัตว์ วัตถุดิบที่ซื้อจากเกษตรกร พ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนดราคา ซึ่งอาจจะถูกกำหนดอีกครั้งจากบริษัทที่เป็นผู้ผลิต สมมุติว่าซื้อปลาป่น ผู้ซื้อคำนวณละเอียดว่าค่าขนส่งถึงโรงงานเท่าไร ไปขายให้กับบริษัทในราคาเท่าไร จากนั้นต่อรอง หรือกำหนดราคาจากเรืออวนลาก คนที่มีสินค้าในมือแทบไม่มีโอกาสกำหนดราคาเอง หากสู้น้ำมันไม่ไหวก็หยุดกันไปเอง วัตถุดิบอื่น ๆ ก็เช่นกัน เช่น ข้าวโพด ถั่ว ฯลฯ นี่คือเรื่องจริงเห็นตัวอย่างกันอยู่เสมอ

      เมื่อโรงงานผลิตอาหารสัตว์เสร็จ โรงงานก็จะเป็นผู้กำหนดราคา ซึ่งแน่นอนไม่มีโอกาสที่จะขาดทุน

      เมื่อเกษตรกรเลียงสัตว์ ไม่ว่ากุ้ง ปลา หมู ไก่ ฯลฯ ได้ผลผลิตพร้อมที่จะจำหน่าย เกษตรกรก็ไม่มีโอกาสได้กำหนดราคา ว่าลงทุนอาหารเท่านี้ ค่าแรงงานเท่านี้ ราคาที่ควรจำหน่ายเท่านั้นเท่านี้ กลับเป็นพ่อค้าคนกลางกำหนดราคาอีกเช่นเดิม ความเสี่ยงจึงเกิดขึ้นกับเกษตรกร โอกาสขาดทุนมีมากกว่ากำไร ผู้ใช้แรงงานทั้งหลายจึงเป็นทาสรับใช้นายทุนอย่างไม่รู้จักจบสิ้น การอยู่ในระบบนี้จึงหาความสุขที่แท้จริงไม่ได้ หรือมีบ้างก็เพียงบางกลุ่มการอยู่อย่าง "ธรรมชาติธรรม" เท่านั้น ที่จะร่วมทุกข์ ร่วมสุขกันอย่างแท้จริง

      ขอยกกลอนสอนศิษย์ เนื้อความยังติดอยู่ที่ความเป็นธรรมของแรงงาน แต่หากเข้าสู่ระบบ "ธรรมชาติธรรม" เราไม่มีลูกจ้าง เราไม่มีนายทุน

      เราเกิดมาต่างพาถ้อยอาศัย
หากว่าใครเดียวดายไร้สุขสันต์
ผมเก่งอย่างคุณเก่งอย่างแตกต่างกัน
ควรแบ่งบันเทียมเท่าจงเข้าใจ

      สมมุติคุณนายธนาคารกอปรการกิจ
นั่งออฟฟิศดูสง่าหน้าสดใส
ผมภารโรงธนาคารของคุณไง
ผ่านปีไปเทียบเงินตราค่าตอบแทน

      ผมรวมรับเงินเดือนเรือนแสนเก้า
ส่วนคุณเล่าเงินเดือนเรือนเก้าแสน
ตลอดปีผมเศร้ากระเป๋าแบน
คุณยิ้มแป้นสบายใจไร้กังวล

      ผมทำงานแทนคุณคงวุ่นแน่
คุณคงแย่ทำงานด้านแบกขน
ผมก็หนักคุณก็เมื่อยเหนื่อยเหลือทน
อาจไม่พ้นเสียหายให้องค์กร

      ด้วยหลักที่แท้จริงงานทุกงานมีความสำคัญเท่ากัน ที่พูดเช่นนี้เพราะความสามารถในการทำงานไม่เหมือนกัน งานบางประเภทใช้แรงงาน งานบางประเภทใช้ความรู้ ใช้ความคิด
จะไปตีค่าว่างานที่ใช้ความรู้มีค่าสูงกว่าก็คงไม่ถูกต้องนัก ยกตัวอย่าง งานก่อสร้าง งานก่อสร้างประกอบด้วยช่างหลายช่าง ช่างปูน ช่างไม้ ช่างสี ช่างปูกระเบื้อง ช่างเหล็ก ช่างไฟฟ้า จัดทำม่าน จัดสวน ฯลฯ ขาดผู้ชำนาญใดชำนาญหนึ่งงานก็ไม่เดิน งานไม่สมบูรณ์ อย่ามองข้ามคนงานที่ผสมปูน หิ้วปูนเป็นอันขาด ทุกงานมีความสำคัญเท่ากัน คนที่รับเหมาจบวิศวกรรมการก่อสร้าง คือผู้ที่มีความรู้ด้านวิชาการ ไม่ต้องใช้แรงงาน แต่หากรับเหมางานได้แล้ว ไม่มีคนงานตามช่างต่าง ๆ ที่กล่าวมา ก็ไม่สามารถจะดำเนินงานได้ เมื่อเป็นเช่นนี้งานทุกงานจึงมีความสำคัญ เท่า ๆ กัน

      ขอยกกลอนสอนศิษย์เสริม อย่างไรก็ดีเมื่อเราเข้าสู่ระบบ "ธรรมชาติธรรม" เราจะไม่มีนายทาส ลูกทาส เราอยู่อย่างธรรมดา อยู่อย่างธรรมชาติ ซึ่งเป็นความสงบสุขที่แท้จริง

      งานทุกงานประสานไปคล้ายกลจักร
ตอนใดหักร้าวสะปั้นนั้นเดือดร้อน
เครื่องยนต์หยุดทำงานนั้นแน่นอน
ขาดวงจรตอนใดไม่ทำการ

     มาระบบอวัยวะของมนุษย์
เปรียบประดุจเครื่องจักรประสมประสาน
ต่างระบบต่างกิจกรรมต่างทำงาน
แบ่งเป็นด้านเป็นฝ่ายมากมายมี

     ทุกระบบสัมพันธ์กันใกล้ชิด
ภารกิจร่วมฉันท์น้องพี่
ระบบงานสัมพันธ์กันด้วยดี
เป็นอย่างนี้ไม่ยากเย็นเป็นธรรมดา

      แต่หากว่าระบบใดเสื่อมสลาย
อันตรายทุกระบบพบปัญหา
ค่อยเร่งเสื่อมเร่งทรุดผุดตามมา
มิเนิ่นช้าล่มสลายตายแน่เชียว

      ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา บวกกับคุณธรรม แล้วเราต้อง ยอมรับและผ่อนผัน ผ่อนสั้น ผ่อนยาวกันได้ ทุกชีวิตต่างก็เกิดมาเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข เมื่อเราผ่อนผันกันได้เราเริ่มเดิมเข้าสู่ธรรมชาติธรรม เมื่อถึงขั้นสุดเรามาอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน

      ขอตั้งคำถามอีกประเด็นว่า คนรวย กับคนจนมีความต้องการอาหารเหมือนกันหรือไม่ คำตอบก็คือเหมือนกัน คือมนุษย์เราต้องบริโภคอาหารตามหลัก และครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ ถ้าพูดกันจริง ๆ ทุกคนต้องมีความเท่าเทียมในการกินอาหาร ต้องไม่มีเพื่อนมนุษย์บนโลกคนใดที่ต้องขาดแคลน อดอยากในเรื่องอาหาร ถ้าอดอยาก ถ้าขาดแคลนก็ต้องเหมือนกัน ด้วยสาเหตุเดียวกัน นี่คือความเป็นธรรมในสังคม ถามว่าสังคมของมนุษย์มีสิ่งนี้หรือยัง ตอบว่ายัง และยิ่งเกิดช่องว่างห่างไปเรื่อย ๆ หากเราอยู่ในสังคมที่แข่งขันด้านธุรกิจ แข่งขันด้านวัตถุ

      ขอตั้งคำถามที่เกี่ยวกับการกินอยู่อีกประเด็นหนึ่ง คือ คนรวย กับคนจนกินเนื้อหมูในราคาเท่ากันหรือไม่ คำตอบก็คือเท่ากัน วันนี้หมู่เนื้อแดงราคา 120 บาท มหาเศรษฐีซื้อก็ราคา 120 บาท ตาสีตาสาซื้อก็ราคา 120 บาท

      ที่ยกมาสองประเด็นคือ ทั้งคนจนคนรวยต่างก็ต้องการอาหารเหมือนกัน และราคาเดียวกัน หากคนจนถูกกดขี่ อยู่อย่างลูกทาส สังคมปฏิบัติถูกต้องแล้วยัง สังคมมีความเป็นธรรมแล้วยัง เมื่อเราอยู่อย่างมีสุขบนความทุกข์ของคนอื่น ถามว่า เราคือใคร เราคืออะไร
เมื่อมีคำตอบ สักวันหนึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่มีเพราะเราต่างมุ่งสู่ระบบการเป็นอยู่อย่าง "ธรรมชาติธรรม"

      ขอยกกลอนสอนศิษย์ ประกอบ

      ปัจจัยสี่เรื่องใหญ่ในชีวิต
ใช่เรื่องนิดเรื่องใหญ่ใคร่แถลง
โดยเฉพาะอาหารการต้มแกง
แม้ถูกแพงต้องมีใช้ได้มีกิน

      ใช่แบ่งชั้นวรรณะค่าครองชีพ
ถึงปากกัดตีนถีบก็ต้องดิ้น
จะถูกแพงจำใจจ่ายใช้ชาชิน
แม้เป็นหนี้มีสินเสาะกินกัน

      เห็นเหตุผลต้นสายทั้งปลายเหตุ
คงเบิกเนตรใส่สว่างทางสวรรค์
คงซาบซึ้งตรึงจิตคิดแบ่งปัน
ความเท่าทันเสมอภาคฝากสังคม

      หยุดกดขี่คนบริการอยู่ฐานล่าง
ยกลูกจ้างเคียงนายให้เหมาะสม
มองแรงงานเห็นค่าน่าชื่นชม
เร่งคลายปมเอาเปรียบโดยเฉียบไว

      เห็นเพื่อนยากเพื่อนทุกข์สุขที่เกิด
แสนประเสริฐลบโศกโลกไสว
เห็นเพื่อนทุกข์เพื่อนยากจากจริงใจ
ความเป็นไทคืนมนุษย์สุดเปรมปรีดิ์

     มองทางไหนเห็นใครก็ยิ้มแย้ม
จิตใจแจ่มดูสง่าสมราศี
ทุกมุมเมืองรู้รักสามัคคี
หยุดกดขี่ทุกระบบอย่างครบครัน

     ต่างอ้าปากลืมตาเมื่อฟ้าเปิด
สัตว์ประเสริฐรู้ซึ้งถึงสวรรค์
ต่างเห็นเดือนเห็นดาราเห็นตะวัน
ขอความฝันเป็นจริงทุกสิ่งเอย

      เมื่อเรายึดหลักการอยู่ร่วมแบบ "ธรรมชาติธรรม" สิ่งเหล่านี้จะไม่มี เพราะเรากินอย่างพอเพียง เราช่วยกันทำแบ่งกันกิน เราไม่ธุรกิจ เราไม่มีนายจ้าง เราไม่มีลูกจ้าง ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบ ยึดธรรมะแทนกฎหมาย รัฐบาลยึดนโยบายอย่างประชาชน พรรครัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่คือพรรคของประชาชน

     คนของรัฐบาลได้เปิบข้าวหอมมะลิจากประชาชนของท่าน รัฐบาลหาทางคิดค้นพันธุ์ข้าวมะลิที่ดีที่สุดของโลก รัฐบาลจัดระบบน้ำให้ราษฎรปลูกพืชผล คนของรัฐได้กินพืชผลจากราษฎร คนในหมู่บ้านได้เปิบข้าวหอมมะลิอย่างคนของรัฐ คนในหมู่บ้านที่ถูกจัดเป็นโซนอย่างมีระบบได้รับประทานผลไม้ปลอดสารพิษเหมือนกับคนของรัฐทุกคน ระบบดี ๆ ต่าง ๆ จะตามมา เพราะความฝันอันสูงสุดคือ การอยู่ร่วมของมวลมนุษยชาติอย่างสันติสุข และยั่งยืน ตามวิถีทางของธรรมชาติธรรม

      ขอยกบทกลอนสอนศิษย์ ประกอบ

      เอาวัตถุวัดค่าคนตั้งต้นผิด
มีความคิดไกลกว่าสมัยหิน
หากความคิดจิตใจไร้ศาสตร์ศิลป์
เมืองพังภินท์ขาดธรรมะมาค้ำจุน

      ค่านิยมเงินทองคือกองกิเลส
ต้นตอเหตุแข่งขันกันว้าวุ่น
ท่าทางดีใจบาปคราบนักบุญ
ล้วนกองทุนทำลายร้ายอนันต์

      ลูกหลานเหลนทำอย่างแนวทางชั่ว
ฤๅรู้ตัวต่างเห็นเป็นสวรรค์
ดังโดมิโนลุกลามติดตามกัน
คอยเร่งวันโสมมสังคมทราม

      เห็นคนจนจ้องตีนปีนขึ้นหัว
เยี่ยงเขาชั่วเขาชังตั้งเหยียดหยาม
ไร้ศึกษาโง่งมสมรูปนาม
ใคร่จะถามมึงเกียจคร้านการทำไม

      นั่งงอมืองอเท้าแทบเช้าค่ำ
นอนขนำท้องนาป่าท้องไร่
มึงข้นแค้นแสนเข็ญเห็นแก่ใจ
รู้ยากไร้ทั้งปีไม่มีกิน

      สมองมีมิได้ใช้ความคิด
สร้างการกิจคิดเติมเพิ่มทรัพย์สิน
พวกนรกรกสังคมเหยียบจมดิน
ชวนหยามหมิ่นน่าชังพวกซังตาย

      ผมจะบอกให้รู้หูตาสว่าง
ชนชั้นล่างต่างดิ้นรนต่างขวนขวาย
อุปสรรคหลายหลากมีมากมาย
ฤๅเบาคลายยิ่งเพิ่มซ้ำเติมเรา


     เปรียบชาวนากระดูกสันหลังของชาติ
โอ้อนาถคิดไปใจแสนเศร้า
เมื่อยกระดูกทุกเวลามิซาเพลา
มันผุแล้วผุเล่าจงเข้าใจ

     น้ำมันแพงแรงทำนามันล้าลด
ต้องหยุดรถหยุดการเรื่องหว่านไถ
ปุ๋ยก็แพงเวรกรรมร่ำเรื่อยไป
ช่องกำไรล้างหนี้ไม่มีเลย

     ยิ่งเช่านาเขาทำกรรมซ้ำสอง
จักคอยต้องจ่ายเช่าเจ้าคุณเอ๋ย
เงินสำรองหดเหี้ยนเตียนดังเคย
นอนมือเกยหน้าผากยากยอมทน

     ผลผลิตปีนี้ดีเหลือคุ้ม
ถูกมรสุมรุมปลิดผลิตผล
ถูกน้ำท่วมจมเน่าเข้าตาจน
หลีกไม่พ้นขาดทุนตามบุญกรรม

     มีไหมใครดูแลแก้ปัญหา
คนพึ่งพาเช้าสายบ่ายกึ่งค่ำ
เอาใจใส่เป็นนิจเป็นกิจกรรม
คอยอุปถัมภ์ช่วยเหลือเข้าเจือจุน

     แทนหยาดเหงื่อเผื่อพึ่งถึงปากท้อง
ทุนสำรองครอบครัวส่งเกื้อหนุน
เสริมสินทรัพย์เงินทองกองเป็นทุน
ส่งผลบุญลูกหลานกอปรการดี

     ยิ่งอดอยากปากแห้งให้แหว่งวิ่น
นับอาจิณถาวรนอนกอดหนี้
ต่างดิ้นรนค้นแค้นแสนทวี
ตลอดปีตลอดชาติออนาถครัน

     คุณเปิบข้าวหอมมะลิซิใจชื่น
รสระรื่นรวยรินกลิ่นสวรรค์
อิ่มเอมเกษมสุขกันทุกวัน
ผลิตภัณฑ์หยาดเหงื่ออยู่เหนือจาน

     กว่ามาเป็นเม็ดข้าวขาวสะอาด
ลองนึกวาดภาพชาวนาน่าสงสาร
กระดูกสันหลังแม้ผุพังยังบริการ
ทรมานทนทำจากจำเป็น

     ในสังคมที่เรากำลังเดินหน้าด้วยความลุ่มหลง คิดว่านี้คือหนทางแห่งความสุข การแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น เหยียบย่ำ เห็นผู้แพ้ผู้ชะนะ แล้วมีความสบายใจ นึกกระหยิ่มยิ้มย่อง นึกลำพองตัวเองว่าตัวเรามีความเหนือกว่า เก่งกว่า ฉลาดกว่า จนมีจิตใจมุ่งมั่นที่จะทะเยอทะยานหวังได้เปรียบไม่มีสิ้นสุด จนบ้างครั้งเราลืมนึกไปว่า คนจนก็กินไก่ที่มีสารพิษตกค้าง เราคนรวยอย่างตัวเองก็กินไก่มีสารพิษตกค้าง ที่พูดเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า เราแข่งขันกันจนไม่รู้บาปบุญคุณโทษอะไรเลย ไม่มองหน้า มองหลัง ไม่ได้วิเคราะห์ ไม่ได้พิจารณา สิ่งที่ได้ตอบแทนจึงไม่มีค่าอะไรเลย มิหนำซ้ำยังเป็นพิษเป็นภัยกับตัวเอง และสังคม

      บางครั้งเราทำตัวของเราให้ตกเป็นทาส ยกตัวอย่างให้เห็นเด่นชัด เช่น ทาสยาเสพติด ทาสสุรา ทาสการพนัน เราไปรับใช้มัน ตกในอำนาจของมัน ลงผลสุดท้ายก็เหมือนกับถูกบีบบังคับให้ทำตาม เราจึงเรียกว่าเป็นทาสของสิ่งนั้น ๆ ตัวอย่างจากที่พบเห็นจริงต่อไปนี้ขอได้ใคร่ครวญพิจารณาในบางส่วน แล้วลองสรุปดูว่า จะตกอยู่ในลักษณะของทาสได้หรือไม่

     ขอยกตัวอย่างที่ผู้เขียนเห็นชีวิตจริงของบุคคล มีแม่ค้าคนหนึ่งเป็นเจ้าของร้านขายอุปกรณ์การประมง ในตัวเมืองของจังหวัด ขายมาตั้งแต่อายุ 15 ปี บัดนี้อายุย่างเข้า 85 ปี ก็ยังขายอยู่อย่างเดิม กิจการรุ่งเรืองมาตลอด มีเงินฝากหลายสิบล้าน

     เนื่องจากมีลูกค้ามากต้องเปิดบริการในวันอาทิตย์ด้วย ตลอดช่วงชีวิตที่เป็นแม้ค้าแทบไม่ได้พักผ่อนเลย ปิดร้านเพื่องานพิเศษ หรือกิจธุระของตนเองเกือบจะนับวันได้ ถามว่าเขามีความสุขกับงานหรือไม่ อาจจะตอบว่ามีความสุขเพราะประสบความสำเร็จ การปฏิบัติตนเช่นนี้เป็นทาสเงินหรือไม่ ถามต่อไปว่าเงินทองที่สะสมไว้คุ้มค่ากับชีวิตแล้วยัง คำถามสุดท้าย "เราเกิดมาทำไม" คำถามสุดท้ายตอบยากที่สุด แต่หากเราเข้าใจ "ธรรมชาติธรรม" คำตอบก็ค่อยกระจ่างขึ้น และตอบง่ายที่สุด

     ขอยกอีกตัวอย่าง ที่ผู้เขียนได้เห็นจากสภาพความจริงในชีวิตอีกเรื่อง นายแพทย์ท่านหนึ่งมีชื่อเสียงในการรักษาผู้ป่วย ทำงานที่โรงพยาบาลของรัฐ นอกเวลาราชการเปิดคลินิกเป็นส่วนตัว หลังจากเกษียณก็ยังเปิดคลินิกต่อ ขณะนี้อายุย่าง 80 ปีก็ยังสู้งานไม่ถอย หันไปมองเรือนร่างของคุณหมอ จะพบว่าแขนของท่านลีบเล็ก ผิวของท่านขาวผุดผ่องเพราะไม่เคยต้องแดดเลยก็ว่าได้ ท่านมีเงินมีทองมากมาย ในแง่อุทิศเวลาเพื่อคนป่วยถือว่าเป็นเยี่ยมถามว่าการทำงานอยู่เช่นนี้ถูกต้องมากน้อยเพียงใด หรือคุณหมอไปติดกับทาสเงิน

      อย่างเพิ่งคิดว่าหน่วยงานใดที่จ่ายค่าจ้าง หรือเงินเดือนสูงเป็นสิ่งที่ดี เรามองว่าดีในส่วนของผู้ได้เข้าทำงานในหน่วยงานนี้เท่านั้น การที่หน่วยงานสามารถจ่ายเงินค่าตอบแทนสูง ก็สืบเนื่องจากผลกำไร ผลกำไรเหล่านั้นได้มากจากผู้บริโภคนั้นเอง ดังนั้นภาระที่หนักคือผู้ใช้บริการ หรือผู้บริโภค ถ้าลดค่าจ้างของพนักงานหน่วยงานเหล่านี้ จะส่งผลให้ผู้ใช้บริการ หรือผู้บริโภคมีความเป็นธรรมมากขึ้น จะเห็นว่า หน่วยงาน องค์กร หรือ บริษัท ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับผู้บริการ ผู้บริโภคทั้งหมด เช่น ไฟฟ้า บริษัทด้านพลังงาน อาหาร ฯลฯ หากเรามองให้ลึกซึ้ง จะพบว่า คนส่วนใหญ่ จะอยู่ในฐานะเป็นทาสรับใช้อย่างซ่อนเร้น ขอชี้แจงเป็นข้อมูลเบื้องต้นไว้ก่อน จะนำเรื่องนี้เขียนให้ละเอียดในเรื่องนี้เฉพาะอีกครั้ง

     การใช้ระบบเงินผ่อนเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน เมื่อสี่สิบก่อนเราต่อต้านเงินเชื่อ ปัจจุบันถูกปั่นให้เห็นคุณค่าของเงินเชื่อ วงการธุรกิจคิดแบบสินเชื่อให้หลากหลาย และธุรกิจประเภทนี้มีเพิ่มเหมือนดอกเห็ด ผู้ใช้ระบบสินเชื่อได้สิ่งที่ปรารถนาอย่างทันอกทันใจ ธุรกิจที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยจึงรุ่งเรื่องมากในระบบที่มีการแข่งขันด้านธุรกิจ การหลงค่านิยมวัตถุ ผู้ที่ติดในบ่วงของสินเชื่อต้องทำงานตัวเป็นเกลียว ก็ไม่ผิดอะไรกับทาสแรงงาน เพราะเขาเอากำไรจากลูกค้า และเป็นกำไรก้อนโตเสียด้วย เป็นการซ้อนเร้นระบบทาสแรงงานอย่างเบ็ดเสร็จครบวงจร กลุ่มนานทุนเท่านั้นที่นั่งสุขสบาย เขาเอาเงินจากน้ำพักน้ำแรงของลูกหนี้ไปบำเรอความต้องการ ซึ่งเป็นผลพวงให้ผลักดันทำธุรกิจประเภทฟุ่มเฟือยต่าง ๆ ตามมาอีก ล้วนเพิ่มการทำลายธรรมชาติเกินความจำเป็น เพิ่มภาวะโลกร้อน เพิ่มสารเคมีในน้ำ ในอากาศ ในดิน อันส่งผลต่อระบบของธรรมชาติ และสร้างมลพิษให้เกิดกับโลกอย่างไม่จบสิ้น

      ผู้เขียนเองก็ยังตกอยู่ในวังวนของระบบเงินผ่อน และมีจำนวนที่ยังอึดอัดใจพอสมควร
คิดว่าเกษียณราชการจึงจะหมดหนี้สิน นี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่มีความคิดผลักดัน เรื่อง "ธรรมชาติธรรม" เพื่อแก้ปัญหาที่จะตามมากับลูกหลานของเรา ตั้งใจอย่างแน่วแน่เพื่อความสุขของคนรุ่นหลัง

      จากที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นการแสดงเหตุผลให้พิจารณา ท่านอาจจะฟังไม่ขึ้น หรือท่านมีแนวคิดอย่างไรบ้าง กรุณาแสดงความคิดเห็น ไปยังธรรมชาติธรรม ขอกราบขอบพระคุณอย่างยิ่ง