เว็บไซต์อารมณ์กลอน เว็บไซต์สำหรับผู้มีกลอนในหัวใจ..

คุยเรื่องร้อยแปดชาวอารมณ์กลอน => คุยได้ทุกเรื่อง => ข้อความที่เริ่มโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 03 สิงหาคม, 2556, 08:12:14 PM



หัวข้อ: คนเหนือ-คนทุ่ง-คนทะเล ข้อคิดจาก "ธรรมชาติธรรม"
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 03 สิงหาคม, 2556, 08:12:14 PM


ความฝันอันสูงสุด
http://www.naturedharma.com/data-1416.html  

  



คนเหนือ-คนทุ่ง-คนทะเล
http://www.naturedharma.com/data-1429.html
        คนเหนือ คนทุ่ง คนทะเล หรือคนอยู่ริมทะเล เป็นชื่อเรียกกลุ่มคนที่อาศัยตามพื้นที่นั้น ๆ คำเรียกนี้นำมาใช้เมื่อ 40 ปี ก่อนของชาวใต้ โดยเฉพาะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่ไม่ได้ยินคำนี้อีกเลย ด้วยสภาพพื้นที่ของฝั่งทะเลตะวันออกอย่างจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดใกล้เคียง ด้านทิศตะวันออกจะอยู่ติดชายฝั่งทะเล จากชายฝั่งเข้ามาประมาณ 5 - 8 กิโลเมตรจัดเป็นคนกลุ่มทะเล ถัดมาพื้นที่จะเป็นที่ราบเหมาะสมที่จะทำนา ความกว้างมากกว่าบริเวณทะเล กว้างประมาณ 10 - 20 กิโลเมตร เราเรียกผู้ที่อยู่แถบนี้ว่าชาวทุ่ง และถัดไปจากพื้นที่ทำนาจะเป็นที่ราบสูงเล็กน้อย สภาพพื้นที่จะสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงแนวภูเขา ความกว้างของพื้นที่มีมาก เราเรียกผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนี่ว่าพวกเหนือ

        สมัยก่อนคนเหนือ คนทุ่ง และคนทะเลมีความรู้จักมักคุ้นกันอย่างดี ไปมาหาสู่กันเนืองนิตย์ ทั้งในหมู่ญาติพี่น้อง และหมู่มิตรสหาย การผูกมิตรที่กระชับของคนสมัยก่อนคือการเป็นเกลอกัน พ่อแม่นิยมให้บุตรหลานมีเพื่อนเกลอต่างหมู่บ้าน ดังนั้นคนเหนือจึงมีเพื่อนเกลอเป็นชาวทุ่ง และอาจจะมีเพื่อนเกลอชาวทะเล ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ต่อกันจึงมีมาก การไปมาหาสู่สมัยนั้นมักจะไปพักแรมอยู่กินติดต่อกันหลาย ๆ วัน แม้จะอยู่กินเป็นเวลานานก็ไม่ทำความเดือดร้อนแก่กัน เพราะต่างก็ไม่มีภาระงานอะไรมากนัก

        ขอกล่าวเรื่องงานหรือภาระของคนสมัยนั้น (40 ปีก่อน) คนเหนือส่วนใหญ่ปลูกพืชผลไว้รับประทาน จะจำหน่ายบ้างก็ส่วนน้อย เช่น เงาะ ทุเรียน ลางสาด มังคุด ปลูกข้าวไว้รับประทาน ซึ่งเป็นข้าวไร่ แต่มักไม่เพียงพอที่จะใช้รับประทานในรอบปี หลังจากปลูกข้าวนิยมปลูกผักไว้รับประทาน นี่คือภาระของคนเหนือ สมัยนั้นบริเวณแถบนี้มีของป่าสมบูรณ์พวกผลไม้ป่าหลายชนิดมีชุกชุม น้ำผึ้ง ผักที่ได้จากป่า รวมทั้งสัตว์ป่าก็ยังมีชุกชุมเช่นกัน

        คนทุ่งทำนาไว้รับประทานได้ตลอดปี ส่วนที่จะจำหน่ายก็เพียงเล็กน้อย หลังจากเสร็จหน้านาต่างก็มีเวลาว่างอย่างยาวนาน

        สำหรับชาวทะเลส่วนใหญ่ทำประมงเพื่อเลี้ยงครอบครัว ที่เหลือนำไปจำหน่ายบ้างก็เพียงเล็กน้อย แถบชายฝั่งมีมะพร้าวมาก ชาวทะเลเกือบทุกครอบครัวทำน้ำตาลมะพร้าวจากต้นมะพร้าว

         สภาพความเป็นอยู่ของคนสมัยนั้นไม่ต้องดิ้นรนหาเงินหาทองสักเท่าไร เพราะทำเพื่อบริโภคภายในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งนิยมระบบการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันแทบจะไม่ต้องใช้เงินเป็นสื่อกลางเลย

        การมาเยี่ยมเยียนญาติ เยี่ยมเกลอแต่ละครั้งจะต้องมีของฝากติดไม้ติดมืออย่างพะรุงพะรัง คนทะเลมี กะปิ ปลาแห้ง ปลาสด ปลาย่าง น้ำตาลมะพร้าว มาฝาก ขณะเดียวกันก็จะได้รับของฝากจากเจ้าถิ่น เช่น ถ้าคนทะเลมาหาคนทุ่งก็จะได้ ข้าวสาร กล้วยย่าง กะละเม ปลาแห้ง (ปลาน้ำจืด) เนื้อย่าง (เนื้อวัว หรือเนื้อควาย) ติดไม่ติดมือกลับไป ถ้ามาหาญาติมิตรที่เป็นคนเหนือก็จะได้ ผัก ผลไม้ เนื้อย่าง(เนื้อสัตว์ป่า) ทุเรียนกวน น้ำผึ้ง เหล่านี้เป็นต้น การแลกเปลี่ยนอาหาร หรือสิ่งของแบบประเพณีนิยมอย่างนี้ทำกันได้ตลอดปี

       การได้มาเยี่ยมเยียน และการนำข้าวของมาแลกเปลี่ยนเป็นความสุขทางด้านจิตใจเป็นเยี่ยม ได้พบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น นับญาตินับมิตรให้สนิทสนมกันยิ่งขึ้น การมาเยี่ยมเยียนแต่ละครั้งส่วนใหญ่มาเป็นครอบครัว เด็ก ๆ ของแต่ละฝ่ายได้ทำความรู้จัก และสนิทสนมกันยิ่งขึ้น เป็นการผูกมิตรที่ยั่งยืน การอยู่ร่วมกันเป็นเวลาหลาย ๆ วัน บางโอกาส บางครั้งอาจจะได้ช่วยเหลือในการงานกันบ้าง ยิ่งทำให้เห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมยิ่งขึ้น

       จากการที่ครอบครัวของคนเหนือ คนทุ่ง และคนทะเลมีความสัมพันธ์เช่นนี้มาตลอดเมื่อมีงานแต่งงาน งานบวช งานศพ ขึ้นบ้านใหม่ หรืองานอื่น ๆ จะมีการช่วยเหลือเจือจุนกันยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านแรงงาน และข้าวของ งานจึงสำเร็จลุล่วงด้วยดีเพราะร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างพร้อมเพรียง ประเพณีแบบนี้ได้ทั้งงาน และได้ทั้งน้ำใจ น้ำใจเป็นเรื่องสำคัญที่สุด น้ำใจเป็นพื้นฐานด้านอื่น ๆ ในการอยู่ร่วมกัน

        การมีน้ำใจในการอยู่ร่วมของมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง จากการมีน้ำใจทำให้คุณธรรมอื่น ๆ ตามมาหลายประการ การมีน้ำใจเอื้ออารี การไม่เอารัดเอาเปรียบ การไม่อิจฉาริษยา การไม่โลภ การไม่ฉ้อโกง รู้ความเดือดร้อนผู้อื่น รู้จักการให้ มีความเมตตา รู้จักช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน คุณธรรมอื่น ๆ อีกนานัปการที่ตามมา การอยู่ร่วมของมวลมนุษยชาติในลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งควรค่าที่สุดที่มนุษย์พึงมี พึงเสาะหา พึงรักษาเอาไว้ เรายึดศีลธรรมเป็นกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วม กฎหมายไร้ค่า เมื่อธรรมมาแนบใจ

       ปัจจุบันนี้น้ำใจของเพื่อมนุษย์กำลังจืดจางลงไป และถึงกับขาดน้ำใจ เนื่องจากการแข่งขันด้านธุรกิจเป็นเหตุ การเอาเงินทองอยู่เหนือค่าของน้ำใจจิตใจ การเอาวัตถุมาอยู่เหนือจิตใจ การเอารัดเอาเปรียบจึงเกิดขึ้น การเห็นแก่ตัวตามมา เพราะการมุ่งหวังผลประโยชน์คือหลักชัยสำคัญ คุณธรรมที่เคยมี บาปบุญคุณโทษที่เคยตระหนัก ค่อย ๆ เลือนราง และหายไป สังคมจึงมีแต่ความวุ่นวาย ศีลธรรมที่เคยยึดเป็นกฎก็ค่อยหดหาย กฎหมายก็กลายเป็นตัวหนังสือในหนังสือพิมพ์รายวัน เพราะคนใช้ขาดคุณธรรม

      หากเรามาช่วยกันคิดในการบริหารจัดการในการอยู่ร่วมของสังคมมนุษย์โดยใช้หลัก คนเหนือ คนทุ่ง คนทะเล น่าจะทำให้การอยู่ร่วมกลับมาเหมือนเดิมได้ และดีกว่าเดิมเพราะเรามีการวางแผน มีความรู้ด้านวิชาการสาขาต่าง ๆ เป็นแนวทางในการบริหารจัดการให้ดีขึ้น

      จากแนวคิดนี้ขอยกตัวอย่างของการอยู่ร่วมของชาวเขาในภาคเหนือ และการอยู่ร่วมของชุมชนชาวอีสาน ที่ยังเหลือให้เห็นอยู่บ้างถึงทุกวันนี้ จะขอกล่าวโดยละเอียดในเรื่อง "การอยู่ร่วมของชาวเขา-ชาวอีสาน" อีกครั้ง

ได้ยินหลายคนมักบ่นในเรื่องสังคมปัจจุบันในหลาย ๆ ด้าน กระผมผู้ประสานงานรู้สึกดีใจว่าหากได้ป้อนแนวคิดให้ท่านได้ขบคิดบ้าง บางทีท่านอาจจะเห็นแนวคิดที่ดีกว่า หรือมีส่วนเพิ่มเติมช่วยเสริม ชี้แนะ สนับสนุนให้ "ธรรมชาติธรรม" ไปถึงความฝันอันสูงสุดโดยการที่เราร่วมถอยหลังอย่างมีกระบวนการ ขอกราบขอบพระคุณครับ