เว็บไซต์อารมณ์กลอน เว็บไซต์สำหรับผู้มีกลอนในหัวใจ..

อารมณ์กลอน => ห้องเรียนรู้คำประพันธ์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ศิลาสีรุ้ง ที่ 13 กุมภาพันธ์, 2557, 11:53:58 PM



หัวข้อ: ~"ระวัง..คำรับสัมผัสที่.."ต่างรูป"..กันนะจ๊ะ..น้องรัก?"~♥♥ ระนาดเอก ♥♥
เริ่มหัวข้อโดย: ศิลาสีรุ้ง ที่ 13 กุมภาพันธ์, 2557, 11:53:58 PM
(http://upic.me/i/g3/linea004.gif) (http://upic.me/show/24711779)

~"ระวัง..คำรับสัมผัสที่"ต่างรูป"กันนะจ๊ะ..น้องรัก?"~



๐ เป็นมือใหม่หรือเก่าเฝ้าขีดเขียน
ร่างกลอนเนียนอารมณ์คมความหมาย
แต่งตอบโต้โชว์เพื่อนเหมือนรู้ใจ
คนอยู่ไกลได้อ่านกานท์ของเรา

๐ แต่งไปตามประสาอารมณ์ฝัน
ถ้อยหวานพลันแก้มใสให้ร้อนผ่าว
หวังว่าใครได้อ่านดวงมานเบา
แล้วคงเข้าถึงกลอนนอนชื่นชม

๐ ปล่อยเวลารังสรรค์ขวัญเจิดจ้า
ใส่ภาษาดื่มด่ำล้ำถาโถม
อ่านทุกครั้งกระหยิ่มยิ้มระดม
วาดคารมจนผึ้งอึ้งทุกวัน

๐ หวานเจ้าเอยภาษาหาใดเหมือน
ดั่งลมเคลื่อนพะนอล้อลมผ่าน
โลกแห่งศิลป์จำรัสอัศจรรย์
อิ่มเอมฝันสกาวทั้งเช้าเย็น

๐ เขียนครูพักลักจำถลำลึก
แบบลืมฝึกศึกษาตำราเข่น
ใส่สัมผัสผิดถูกลูกเขียนเป็น
พอได้เห็นแม่พ่อนั่งต่อกลอน

๐ รับสัมผัสสับสนคนละรูป
งานสวยวูบเหมือนไม้ไร้กลิ่นหอม
เด็กมาเห็นถ้อยคำพร่ำสุนทร
อาจถูกย้อนนี่หละ..กลอนประตู..

ระนาดเอก

 :21:


..ปล.คำรับสัมผัสที่ต่างรูป..หรือมีเสียงสั้นยาวที่ต่างกัน..
..น้องๆระวังให้มากนะจ๊ะ..เพราะว่าใช้รับสัมผัสระหว่างวรรคกันไม่ได้จ้ะ..
..ตัวอย่างที่พี่ยกมาเช่น..คำว่า..
.
.."หมาย"กับ"ใจ"..
.."เรา"กับ"ผ่าว"..
.."ชม"กับ"โถม"..
.."วัน"กับ"ผ่าน"
.."เย็น"กับ"เข่น"
.."กลอน"กับ"หอม"
.
..ตัวอย่างของคำเหล่านี้..ถึงแม้จะมีเสียงที่ใกล้เคียงกันก็ตาม..
..แต่ถือว่าเป็นสระ..หรือมีตัวสะกดคนละรูปกัน..
..จึงใช้รับสัมผัสระหว่างวรรค หรือระหว่างบทกันไม่ได้..
..ลองสำรวจกันให้ดีนะจ๊ะ..

จากใจ
..พี่ระนาดเอกจ้ะ..

 :18:

 (http://upic.me/i/g3/linea004.gif) (http://upic.me/show/24711779)




                    ขอบคุณภาพจาก  Internet ครับ
 


หัวข้อ: Re: ~"ระวัง..คำรับสัมผัสที่.."ต่างรูป"..กันนะจ๊ะ..น้องรัก?"~
เริ่มหัวข้อโดย: ธนุ เสนสิงห์ ที่ 14 กุมภาพันธ์, 2557, 03:02:07 PM
"ไอ กับ อาย" คล้ายกันแน่แต่ไม่เหมือน
"เอน - เอ็น" เตือนว่ายาว-สั้น ต่างกันอยู่
แต่บางคำทำเราเมาน่าดู
เพราะมิรู้สิ่งยึดถือคืออะไร

คือคำ "เพชร กับ เจ็ด" ไม่เด็ดขาด
ถือเสียงอาจเข้าขั้นไปกันได้
แต่ถือรูป"เพชร" ยมกนั้นตกไป
เอาทางไหนกันดีเล่าพี่น้อง

ธนุ  เสนสิงห์

 :22:


หัวข้อ: Re: ~"ระวัง..คำรับสัมผัสที่.."ต่างรูป"..กันนะจ๊ะ..น้องรัก?"~
เริ่มหัวข้อโดย: สุวัฒน์ ไวจรรยา ที่ 14 กุมภาพันธ์, 2557, 11:38:17 PM
><><><><

หลักการอ่านภาษาไทยว่าไว้
คำ "เพชร" ไซร้ "เสียงสั้น" นั้นถูกต้อง
ให้เหมือนมี "ไม้ไต่คู้" ตามครรลอง
เพชร..จึงคล้องกับ เก็จ เข็ด เด็ด ฯลฯ นานา

คำนามเฉพาะ..ก็มีที่ใช้ "เพ็ชร" *
ความหมายเบ็ดเสร็จอัญมณีมีค่า
คำสอนนี้มีแต่โบราณมา
เคยเรียกว่า "วิชาหลักภาษาไทย"

สุวัฒน์  ไวจรรยา
๑๔ / ๐๒ / ๒๕๕๗

*  เช่น "พระตำหนักเพ็ชร"  ที่วัดบวรนิเวศน์ฯ
(http://upic.me/i/kc/images28.jpg) (http://upic.me/show/48839676)


หัวข้อ: Re: ~"ระวัง..คำรับสัมผัสที่.."ต่างรูป"..กันนะจ๊ะ..น้องรัก?"~
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 15 กุมภาพันธ์, 2557, 01:30:07 PM
><><><><

หลักการอ่านภาษาไทยว่าไว้
คำ "เพชร" ไซร้ "เสียงสั้น" นั้นถูกต้อง
ให้เหมือนมี "ไม้ไต่คู้" ตามครรลอง
เพชร..จึงคล้องกับ เก็จ เข็ด เด็ด ฯลฯ นานา

คำนามเฉพาะ..ก็มีที่ใช้ "เพ็ชร" *
ความหมายเบ็ดเสร็จอัญมณีมีค่า
คำสอนนี้มีแต่โบราณมา
เคยเรียกว่า "วิชาหลักภาษาไทย"

สุวัฒน์  ไวจรรยา
๑๔ / ๐๒ / ๒๕๕๗

*  เช่น "พระตำหนักเพ็ชร"  ที่วัดบวรนิเวศน์ฯ
(http://upic.me/i/kc/images28.jpg) (http://upic.me/show/48839676)


น่าสนใจมากเลยครับ

เช่น
เล่น กับ เป็น
เก่ง กับ เอ็ง
ฯลฯ

อ่านออกเสียง แล้วเปรียบเทียบดู จะเห็นว่า ความสั้นยาวของเสียงไม่ต่างกันเลยครับ

ทีนี้ก็คงอยู่ที่ว่า "เราตัดสินความงามของกลอนที่รูป หรือ เสียง"

ศรีเปรื่อง

ปล.
ในความเห็นผม มองว่า ใช้ "เสียง"เป็นเกณฑ์ดูจะเข้าท่ากว่า เอา "รูป" เป็นเกณฑ์ครับ


หัวข้อ: Re: ~"ระวัง..คำรับสัมผัสที่.."ต่างรูป"..กันนะจ๊ะ..น้องรัก?"~
เริ่มหัวข้อโดย: สุวัฒน์ ไวจรรยา ที่ 15 กุมภาพันธ์, 2557, 09:53:38 PM
(http://upic.me/i/2r/jjkgc.jpg) (http://upic.me/show/49633706)


หัวข้อ: Re: ~"ระวัง..คำรับสัมผัสที่.."ต่างรูป"..กันนะจ๊ะ..น้องรัก?"~
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 16 กุมภาพันธ์, 2557, 08:01:52 AM
ขอบคุณครูสุวัฒน์มากครับ

ผมกระจ่างขึ้นอีกนิดหนึ่งครับ
แต่ไหนไหนก็ไหนไหนแล้ว ผมขอคำชี้แนะเพิ่มเติม เพื่อเป็นวิทยาทานนะครับ

คือจริง ๆ ผมไม่ได้เรียนเขียนกลอนมา แต่เคยเรียนอ่านทำนองเสนาะมาในระดับหนึ่ง
ผมมีเสภาตอน "ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง" อยู่บทหนึ่ง จำได้เลาเลาประมาณนี้ครับ

"ขุนแผนว่าจะผิดให้ผิดไป
ให้มันสาแก่ใจมันคุมเหง
อาจทำกันได้ไม่ยำเกรง
ใช่การของเอ็งกูแค้นนัก"

เป็นบทที่ขุนแผนบอกกับกุมารทองที่พยายามห้ามไม่ให้ทำร้ายขุนช้าง

ครูมีความเห็นอย่างไรครับ ??

เสภาบทนี้อยู่ในชุดที่ผมเคยฝึกอ่านตอนมัธยม
และก็เพราะบทนี้ ทำให้ผมตั้งสมมติฐานไว้เป็น 2 ทาง (แหะ ๆ แค่สมมติฐาน)
1) คนสมัยก่อนให้ความสำคัญกับเสียงมากกว่ารูป หรือ
2) คนสมัยก่อนกับเราในสมัยปัจจุบันออกเสียงคำไม่เหมือนกัน

ด้วยความเคารพอย่างสูง

ศรีเปรื่อง
๑๖ ก.พ. ๒๕๕๗


หัวข้อ: Re: ~"ระวัง..คำรับสัมผัสที่.."ต่างรูป"..กันนะจ๊ะ..น้องรัก?"~
เริ่มหัวข้อโดย: สุวัฒน์ ไวจรรยา ที่ 16 กุมภาพันธ์, 2557, 12:24:40 PM
                                                                                                                              
              ขอบคุณ คุณศรีเปรื่องครับ ที่เรียก "ครู"  ซึ่งความจริงผมก็เคยเป็นครูจริงๆด้วย สอนหนังสือมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๖  และมาลาออกจากราชการเมื่อ ปี ๒๕๔๒  
              
               ในหนังสือวรรณคดี ต่างๆ  เราจะพบบทร้อยกรองในทำนองที่คุณศรีเปรื่องยกตัวอย่างมามากครับ รวมทั้งกลอนที่มีสัมผัสซ้ำด้วย  เพราะในยุคก่อนๆนั้น บรมครูแต่ละท่านมิได้แต่งกลอนแบบเราๆสมัยนี้ คือท่านแต่งเป็นเล่มๆ    ครั้งละหลายสิบบท  บางเล่มเป็นร้อยๆบท  (แต่พวกเราแต่งกันคราวละ ๕ - ๖ บท) และ ท่านมิได้เคร่งครัดเรื่องฉันทลักษณ์เหมือนสมัยนี้ครับ ก็น่าจะเป็นตามที่คุณศรีเปรื่องตั้งสมมุติฐาน ในข้อ ๑. นั่นแหละ    โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลอนบทละครบ้าง  กลอนเสภาบ้าง  กลอนเพื่อใช้ขับร้องบ้าง  (ซึงในปัจจุบันถ้าเป็นกลอนประเภทนี้ เราก็ไม่เน้นเรื่องสัมผัสสั้น-ยาว รวมทั้งสัมผัสซ้ำ กันมากนัก  ปล่อยให้ลื่นไหลไปกับการขับร้อง-การแสดง)
                
                ในยุคนี้ (ก็สัก ๔๐ กว่าปี มาถึงปัจจุบัน) เราเขียนกลอนโดยยึด "หลักภาษา" ครับ ในวิชาหลักภาษาไทยจะแยกไว้ชัดเจนว่าสระเสียงสั้น มีอะไรบ้าง  สระเสียงยาว มีอะไรบ้าง  เมื่อมีการประกวดประชันกลอนกันบ่อยๆขึ้น ก็เอาหลักภาษามาเป็นเกณฑ์ เรื่องเคร่ง "ฉันทลักษณ์" จึงเกิดขึ้นและยึดถือปฏิบัติกันโดยทั่วไปครับ  
                เมื่อผมเขียนกลอนครั้งแรกๆ ( ปี ๒๕๐๔ ) คำแบบที่คุณศรีเปรื่องยกตัวอย่างมาก็ยังใช้กันอยู่ครับ  แต่ในปัจจุบันนี้ถือว่า "ผิดฉันทลักษณ์"    คุณ ส. เชื้อหอม  ผู้อนุรักษ์ภาษาไทยตัวยง ท่านก็เคยเขียนบทร้อยกรองเกี่ยวกับการใช้ ไม้ไต่คู้ (   ็ ) ไว้นะครับ (คุณระนาดเอก เคยนำมาลงไว้ในเว็บฯ สมาคมกวีร่วมสมัยแล้ว)  ดูหน้าต่อไปครับ

                                                                                                    ด้วยความปรารถนาดี
                                                                                                        สุวัฒน์  ไวจรรยา
                                                                                                     ๑๖ / ๐๒ / ๒๕๕๗


หัวข้อ: Re: ~"ระวัง..คำรับสัมผัสที่.."ต่างรูป"..กันนะจ๊ะ..น้องรัก?"~
เริ่มหัวข้อโดย: สุวัฒน์ ไวจรรยา ที่ 16 กุมภาพันธ์, 2557, 12:29:21 PM
เพชรน้ำหนึ่ง
********

๏...กลอนเก้าคำ จำไว้ ด้อยไพเราะ  
เขียนให้เหมาะ แปดคำ เพชรน้ำหนึ่ง
แต่ละวรรค หนักแน่น ดุจแกนกลึง
กลอนจะซึ้ง ติดใจ และให้คุณ

..คำสุดท้าย วรรคแรก แยกพิเศษ
สามัญเขต หวงห้าม ตามเกื้อหนุน
ท้ายวรรคสอง ต้องรู้ อยู่เป็นทุน
เอก-โทจุน จัต วาประพนธ์

..ท้ายวรรคสาม วรรคสี่ นี้จำมั่น
เสียงสามัญ -ตรีใช้ ได้ทุกหน
สัมผัสซ้ำ จำจด งดปะปน
จงคิดค้น  ถ้อยคำ ที่จำ เป็น

..ไม้ไต่คู้ใช้กับ ไม้ไต่คู้
เมื่อฟังดู เด่นดี ดั่งที่เห็น
เสียงสั้นยาว ก้าวก่าย หลายประเด็น
อย่าบำเพ็ญ พ้องกัน นิรันดร


..อย่าเขียนให้ ใจความ ตามเพ้อนึก
จงตรองตรึก ตระหนัก เรื่องอักษร
คติธรรม นำใส่ ให้สังวร
รวมสุนทร ถ้อยไว้ ให้งดงาม

..จุดจบก็ ขอให้ กินใจหน่อย
มิควรปล่อย เปะปะ เหมือนสนาม
จบให้เด่น เห็นชัด จำกัดความ
ให้ตรงตาม เค้าโครง เรื่องโยงใย

..เขียนเสร็จสรรพ กลับมา ตรวจตราผิด
ตรวจชนิด เรียงตัว ทั่วกันใหม่
เมื่อเห็นเพราะ เหมาะดี จี้หัวใจ
จึงเผยให้ ประชา ชนตราตรึง

..กลอนเก้าคำ จำไว้ ด้อยไพเราะ
เขียนให้เหมาะ แปดคำ เพชรน้ำหนึ่ง
แต่ละวรรค หนักแน่น ดุจแกนกลึง
ผู้อ่านจึง จะชอบ ชมขอบคุณ ๚๛  

ส. เชื้อหอม ผู้ประพันธ์

 :letter:


หัวข้อ: Re: ~"ระวัง..คำรับสัมผัสที่.."ต่างรูป"..กันนะจ๊ะ..น้องรัก?"~
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 16 กุมภาพันธ์, 2557, 03:06:38 PM
เรียน ครูสุวัฒน์

อย่างที่เคยเรียน ผมเริ่มงานกลอนจากการร้องก่อนการเขียน
เห็นกลอนโบราณที่คนยุคสมัยนี้บอกว่าผิดฉันทลักษณ์มาพอสมควร
เคยพยายามหาคำตอบอยู่เหมือนกัน ว่าทำไมปัจจุบัน กลอนลักษณะนี้เขาจึงถือว่าผิดฉันทลักษณ์
ก็มักจะได้คำตอบว่า เพราะ "มันไม่ไพเราะ"

ซึ่งก็ขอเปิดอกตรง ๆ วันนี้ครับว่า คำตอบเหล่านี้ มันทำให้ผมคาใจกว่าเดิม
ด้วยกลอนที่เขาเรียกว่าผิดฉันทลักษณ์ในหลายลักษณะ ผมก็เคยได้อ่านทำนองเสนาะมาแล้ว
และก็พบว่า "มันไม่มีปัญหาเรื่องความไพเราะเลย"

จนกระทั่งได้ทราบจากครูในวันนี้ว่า เขายึดหลักภาษาในวิชา "ภาษาไทย"
และเป็นกฏเกณฑ์เฉพาะที่สร้างขึ้นมาเพื่อหาผู้แพ้-ชนะในการประกวดประชัน
ซึ่งหากเป็นเหตุผลนี้ ผมยอมรับได้ครับ
(ส่วนเรื่องที่ว่า "ผิดฉันทลักษณ์ แล้วไม่ไพเราะ" ผมรับได้บางส่วนครับ ไม่ใช่ทั้งหมด)

ขอบคุณมาก ๆ ครับ ที่กรุณาให้ความกระจ่าง

ด้วยความเคารพอย่างสูง

ศรีเปรื่อง
๑๖ ก.พ. ๒๕๕๗