เว็บไซต์อารมณ์กลอน เว็บไซต์สำหรับผู้มีกลอนในหัวใจ..

อารมณ์กลอน => ฉันท์ กาพย์ ร่าย => ข้อความที่เริ่มโดย: ศิลาสีรุ้ง ที่ 09 มีนาคม, 2557, 03:20:58 AM



หัวข้อ: เรียนรู้การแต่ง โคลงสี่สุภาพเบื้องต้น..สำหรับผู้เริ่มต้น..
เริ่มหัวข้อโดย: ศิลาสีรุ้ง ที่ 09 มีนาคม, 2557, 03:20:58 AM
    
(http://upic.me/i/f8/11-3-255722-09-15.png) (http://upic.me/show/50055609)


                                                                   โคลงสี่สุภาพ

                             โคลง คือคำประพันธ์ที่เน้นความสำคัญของรูปวรรณยุกต์

    โคลงสี่สุภาพ มีกำหนดบังคับพื้นฐานคือ คณะ สัมผัส  คำเอก คำโท และลักษณะเสริม
คือคำสร้อย ตามแผนผังดังนี้

  ๑.  คณะ โคลงสี่สุภาพ บทหนึ่ง มี ๔ บาท  บาทที่ ๑, ๒ และ ๓ มีบาทละ ๗ คำ บาทที่ ๔
     มี ๙ คำ
    แต่ละบาทแบ่งออกเป็น ๒ วรรค วรรคหน้า ๕ คำ วรรคหลัง ๒ คำ ส่วนบาทที่ ๔
    วรรคหลัง ๔ คำ
    รวม โคลงสี่สุภาพ บทหนึ่ง มี ๓๐ คำ
    อนึ่งอาจใช้คำสร้อยเสริมท้ายบาทที่ ๑  หรือบาทที่๓ หรือบาทที่ ๔ ได้อีกบาทละ ๒ คำ

  ๒.  สัมผัส
   สัมผัสบังคับในโคลงสี่สุภาพ เป็นสัมผัสสระ กำหนดไว้ดังนี้
   คำที่ ๗ ของบาทที่ ๑ ส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๕ ของบาทที่ ๒ และบาทที่ ๓
   คำที่ ๗ ของบาทที่ ๒ ส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๕ ของบาทที่ ๔

  เอก โท และคำเป็นคำตาย
  โคลงสี่สุภาพบังคับคำเอกไว้ ๗ แห่ง คำโท ๔ แห่ง ดังนี้
      บาทที่ ๑  คำที่ ๔ เป็นคำเอก  คำที่ ๕ เป็นคำโท เฉพาะ ๒ ตำแหน่งนี้ อาจสลับที่กันได้
      บาทที่ ๒  คำที่ ๒ และ ๖ เป็นคำเอก คำที่ ๗ เป็นคำโท
      บาทที่ ๓  คำที่ ๓ และ ๗ เป็นคำเอก
      บาทที่ ๔  คำที่ ๒ และ ๖ เป็นคำเอก  คำที่ ๕ และ เจ็ด เป็นคำโท
  
      โคลงสี่สุภาพ ที่แต่งให้ถูกต้องตามบังคับ เอก ๗ โท ๔ โดยใช้รูปวรรณยุกต์ครบทุกแห่่ง
  ท่านเรียกว่า โคลงแบบหรือโคลงตัวอย่าง (สร้อยไม่นับ)
      ถ้าจะให้โคลงที่แต่งไพเราะยิ่งขึ้น ควรมีสัมผัสใน และสัมผัสอักษรระหว่างวรรคด้วย

                      ๐ เสียงลือเสียงเล่าอ้าง    อันใด พี่เอย
                    เสียงย่อมยอยศใคร           ทั่วหล้า
                    สองเขือพี่หลับไหล           ลืมตื่น ฤาพี่
                    สองพี่คิดเองอ้า                 อย่าได้ถามเผือ
                                                                         (ลิลิตพระลอ)
                      ๐ จากมามาลิ่วล้ำ           ลำบาง
                    บางยี่เรือราพลาง              พี่พร้อง
                    เรือแผงช่วยพานาง           เมียงม่าน มานา
                    บางบ่รับคำคล้อง              คล่าวน้ำตาคลอ
                                                               (นิราศนรินทร์  : นายนรินทรธิเบศร์ (อิน)


แสดงสัมผัสใน และสัมผัสอักษรระหว่างวรรคด้วย กล่าวคือ
ควรให้คำสุดท้ายของวรรคหน้า สัมผัสอักษรกับคำหน้าของวรรคหลัง
จากตัวอย่างในโคลงได้แก่คำ "อ้าง" กับ "อัน"  "ไหล" กับ "ลืม" ,  "ล้ำ" กับ "ลำ"
"คล้อง" กับ "คล่าว"

    ๓.  เอกโทและคำเป็นคำตาย มีดังนี้
        ๑)  ต้องมีคำเอก ๗ แห่ง และคำโท ๔ แห่ง ตามตำแหน่งที่เขียนไว้ในผังภูมิ
        ๒) ตำแหน่งคำเอกและโทในบทที่ ๑ อาจสลับกันได้ คือ เอาคำเอกไปไว้ในคำที่ ๕
            และเอาคำโทมาไว้ในคำที่ ๔ เช่น

                     ๐ อย่าโทษไทท้าวท่วย      เทวา
                   อย่าโทษสถานภูผา             ย่านกว้าง
                   อย่าโทษหมู่วงศา               มิตรญาติ
                   โทษแต่กรรมเองสร้าง         ส่งให้เป็นเอง
                                                                     (โคลงโลกนิติ: กรมพระยาเดชาดิศร)  

        ๓) คำที่ ๗ ของบาทที่๑ และคำที่๕ ของบาทที่ ๒ และ ๓ ห้ามใช้คำที่มีรูปวรรณยุกต์
        ๔) ห้ามใช้คำตายที่ผันด้วยวรรณยุกต์โท ในตำแหน่งโท
        ๕) คำสุดท้ายของบทห้ามใช้คำตาย และคำที่มีรูปวรรณยุกต์ และเสียงที่นิยมกันว่า
            ไพเราะคือเสียงจัตวาไม่มีรูป หรือใช้เสียงสามัญก็ได้เพราะเป็นคำจบ จะต้องอ่าน
             เอื้อนลากเสียงยาว
        ๖) คำที่เป็นเอกโทษ และโทโทษ ไม่ควรใช้อย่างยิ่ง เพราะเป็นการขอไปทีอย่างมักง่าย
            ทั้งทำให้รูปคำเสียหายไปด้วย
        ๗) คำตาย ใช้แทนคำเอกได้                                                                  
   ๔.  ถ้าเนื้อความยังไม่สิ้นกระแส สามารถเติมคำสร้อยลงในท้ายบาทที่ ๑ ,ที่ ๓  และ
        ที่ ๔ได้อีก ๒ คำ จากตัวอย่างได้แก่ "พี่เอย" "ฤาพี่ " "มานา"

                                              
(http://upic.me/i/to/qx087.gif) (http://upic.me/show/10734105)
       (http://upic.me/i/d5/354991.gif) (http://upic.me/show/5314769)

หมายเหตุ
*******
๑. บทความนี้"เว็บไซต์อารมณ์กลอน"ได้จัดเตรียมไว้ให้ผู้เริ่มสนใจศึกษาการแต่ง
    โคลงสี่สุภาพเท่านั้น จึงเป็นแต่บทความเริ่มต้น ไม่มีข้อปลีกย่อยอื่นๆ
๒. บทความนี้ มีเฉพาะ โคลงสี่สุภาพ เท่านั้นไม่มีเรื่องโคลงชนิดอื่น
    เช่นโคลงสองฯ โคลงสามฯ โคลงห้า โคลงลิลิต โคลงดั้น ฯลฯ ซึ่งไม่จำเป็นสำหรับผู้เริ่มต้น



บรรณานุกรม  

อาจารย์ วินัย ภู่ระหงษ์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย .. ภาษาไทย การแต่งคำประพันธ์
                               โรงพิมพ์คุรุสภา พ.ศ. ๒๕๓๙
รศ. วิเชียร เกษประทุม  ..ลักษณะคำประพันธ์ไทย ฉันทลักษณ์
                              สำนักพิมพ์พัฒนศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๐
อาจารย์บรรจง ชาครัตพงศ์ ..เคล็ดลับการแต่งคำประพันธ์
                              สำนักพิมพ์ดอกหญ้าวิชาการ พ.ศ. ๒๕๕๑


(http://upic.me/i/0n/images54.jpg) (http://upic.me/show/50014620)(http://upic.me/i/0n/images54.jpg) (http://upic.me/show/50014620)


ศิลาสีรุ้ง :: ผู้เรียบเรียง

เว็บไซต์อารมณ์กลอน
๙ มีนาคม ๒๕๕๗

บ้านกลอนน้อยลิตเติลเกิร์ล
๒๓ เมษายน ๒๕๕๖







หัวข้อ: Re: เรียนรู้การแต่ง โคลงสี่สุภาพเบื้องต้น..สำหรับผู้เริ่มต้น..
เริ่มหัวข้อโดย: share ที่ 07 พฤษภาคม, 2557, 01:31:56 PM
....ดุจอาทิตย์รุ่งแจ้ง...............แสงงาม
พลังสว่างชูชีพวาม..................อร่ามกล้า
เดือนดาวเด่นประดับยาม...........เย็นค่ำ
แสงส่องเชิญชวนท้า................ท่องหล้าดับเข็ญ

....เป็นลมโหมกระหน่ำร้าย.........เลวทราม
บปล่อยคอยคุกคาม..................ขุ่นแค้น
ฝนเสริมส่งชีพงาม...................วามทั่ว
กระทำผ่านกาลนาน แม้น..........ไม่ได้ใครชม

โคลง ๒ บทนี้ ผมตั้งใจแต่งให้มี
๑) เอก ๗ โท ๔ ตามเกณฑ์
๒) มี สัมผัสสระ หรือ สัมผัสอักษร ระหว่างวรรค เพื่อเป็นแนวสำหรับผู้อยาก ลับสมอง
๓) ส่งสัมผัสระหว่างบท ซึ่งจะรับสัมผัสได้ที่วรรคแรกของบทถัดไป ในตำแหน่งคำที่ ๑ หรือ ๒ หรือ ๓
๔) คำท้ายสุดของบท แสดงทั้งแบบใช้ เสียงจัตวา ตามที่ว่ากันว่า ไพเราะ กับใช้ เสียงสามัญ ที่เกณฑ์ก็ยินยอมกัน

หวังเป็นประโยชน์บ้างนะครับ ผิดพลาดแจ้งบอกด้วยครับ


หัวข้อ: Re: เรียนรู้การแต่ง โคลงสี่สุภาพเบื้องต้น..สำหรับผู้เริ่มต้น..
เริ่มหัวข้อโดย: มนตรี ประทุม(2) ที่ 08 มีนาคม, 2561, 05:00:32 PM
ขอบคุณสำหรับความรู้เรื่องโคลงสี่สุภาพครับ มีโอกาสจะฝึกเขียนดูครับ


หัวข้อ: Re: เรียนรู้การแต่ง โคลงสี่สุภาพเบื้องต้น..สำหรับผู้เริ่มต้น..
เริ่มหัวข้อโดย: เนิน จำราย ที่ 08 มีนาคม, 2561, 08:29:29 PM

ครูกลอนสอนสั่งไว้.  พึงจำ
ควรแก่การแนะนำ.  หมั่นซ้อม
ลูกหลานเล่นพึมพำ.  ตามต่อ
ศัพท์ส่งรับสารพร้อม.  ก่อเกื้อกวีวรรณ

           เนิน จำราย