เว็บไซต์อารมณ์กลอน เว็บไซต์สำหรับผู้มีกลอนในหัวใจ..

คุยเรื่องร้อยแปดชาวอารมณ์กลอน => คุยได้ทุกเรื่อง => ข้อความที่เริ่มโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 20 มีนาคม, 2557, 11:33:49 AM



หัวข้อ: จิตบริสุทธิ์ฉุดสังคม
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 20 มีนาคม, 2557, 11:33:49 AM
จิตบริสุทธิ์ฉุดสังคม

     ด้วยจิตใจบริสุทธิ์ผุดผ่องใส
ความเป็นไทยในวิญญาณปานสวรรค์
เมื่อไม่มีสิ่งใดไหนผูกพัน
ย่อมจักกลั่นคุณปัญญาฝากหล้าล้น

     ความเป็นธรรมล้ำเลิศก่อเกิดยิ่ง
ความสัตย์จริงล้นค่ามหากุศล
ย่อมเป็นทุนล้นคณาต่อมหาชน
ล้วนส่งผลกุศลกรรมค้ำสังคม

     ผลประโยชน์มิแอบแฝงแห่งตัณหา
หวังได้มาไร้สติมิเหมาะสม
มิแบ่งปันเพื่อนฟ้องต้องล่มจม
ยังทับถมสังคมต่ำอยู่ร่ำไป

     แบ่งกันกินกันใช้ใต้โลกหล้า
ต่างเกิดมาต่างเกิดมาเหมือนกันนั้นข้อใหญ่
ความต้องการเสมอหน้ามิว่าใคร
คือปัจจัยทั้งสี่ที่ต้องการ

     มาเมตตาแบ่งปันกันดีกว่า
รู้ประมาณค่าบวกลบจบคูณหาร
จะหมู่ชนหรือคนรัฐบาล
ขอไหว้วานไตร่ตรองมองให้ดี

     พวกนายทุนขายค้าบ้าแข่งขัน
คอยคิดฝันครองวัตถุลุสุขี
ลืมมองดูผู้อดอยากมากมายมี
ถึงกดขี่ลืมตนไร้ผลบุญ

     ความเมตตาปรานีถึงหนีหาย
ซ้ำเกิดร้ายสู่ประชาเกิดว้าวุ่น
เหตุเหตุใหญ่สืบเนื่องเรื่องระบบทุน
เป็นตัวหนุนปัญหาสารพัน

     ยิ่งการเมืองร่วมนายทุนหนุนการกิจ
ก็เกิดพิษภัยประชาอย่างมหันต์
เกิดช่องว่างรวยจนล้นอนันต์
ปิดสวรรค์สันติสุขทุกยุคมา

     นี่พิษภัยสังคมนิยมวัตถุ
มุทะละดุดันล้วนตัณหา
แต่ละพวกแต่ละกลุ่มสุมมารยา
ไร้ศาสนาไร้ศีลธรรมนำสังคม

     อยู่อย่างนี้มินานตัวขวานปิ่น
จะสูญสิ้นขวานทองมองชาติล่ม
นี่ผลพวงบาปบุญทุนนิยม
ชาติจะล่มขวานจะปิ่นสิ้นกับมัน

     ขอมายึดปรัชญาศาสนาพุทธ
ศาสตร์สูงสุดนำมนุษย์ผุดสวรรค์
นรกร้ายป้ายขวานอันตรธานพลัน
โลกโจษจันไทยสูงสุดพุทธคุณ

     ก็คือหลักพอเพียงเลี้ยงชีวิต
ประกอบกิจธรรมดามิว้าวุ่น
ปัจจัยสี่เป็นหลักจักค้ำจุน
ระบบทุน “พอเพียง” เลี้ยงชีวา

     คนทั่วโลกลือเลื่องเมืองสยาม
ครบทั้งสามกษัตริย์ชาติศาสนา
รัฐธรรมนูญเขียนกฎเป็นบทตรา
รัฐสภาบริหารสามด้านเคียง

     ประเทศไทยจักใหญ่ยิ่งมิ่งสวรรค์
โลกลือลั่นไทยเมืองทองร้องแซ่เสียง
ด้วยยึดหลักพุทธศาสน์ปราชญ์พอเพียง
เป็นวังเวียงสันติภาพตราบนิรันดร์

ประทีป  วัฒนสิทธิ์
10 ธันวาคม 2556

   
          บุคคลใดหากมีจิตใจบริสุทธิ์อย่างแท้จริง  มีอิสระในแนวคิด  ย่อมมีสติปัญญาอันลึกล้ำ  เป็นเหตุให้จิตใจไม่ไปผูกพันกับสิ่งใด ๆ ไม่นำสิ่งใดยึดเหนี่ยวไว้เป็นหลัก   ไม่มีสิ่งใดมาเหนี่ยวรั้งใจให้เอนเอียง หรือไขว่เขวได้แม้แต่น้อย  เมื่อสภาพจิตใจคงเที่ยงธรรมเช่นนี้ส่งผลให้ความรู้สึกนึกคิด  รวมท้้งตัวสติปัญญาจักมีคุณค่าต่อสังคมยิ่ง  ด้วยเหตุที่มีจิตบริสุทธิ์ และเที่ยงธรรม
 
        หากสังคมอุดมด้วยบุคคลประเภทนี้ ย่อมเป็นหลักค้ำประกันได้ว่าหมู่สังคมนั้นย่อมมีความเข้มแข็ง  เด็กที่เกิดมาในสังคม  คนใกล้ชิดในสังคม หรือคนที่ได้สัมผัสได้รับรู้ในสังคมย่อมได้สัมผัส  ได้ซึมซับเอาความดี  ความเป็นเที่ยงธรรม  ความถูกต้องในทุก ๆ อย่างได้เป็นอย่างดี เหล่านี้ช่วยนำพาสังคมให้เห็นคุณค่าของความถูกต้อง ความสัตย์ตรง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ที่ช่วยค้ำจุนสังคม
 
          บุคคลที่เปี่ยมล้นด้วยคุณธรรมย่อมมีสติ และปัญญา ซึ่งส่งผลให้จิตใจมีความเมตตา  เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  เมื่อบุคคลใดมีจิตใจดังที่กล่าวนี้ย่อมจะตัดตัณหาได้อย่างสนิท ผลประโยชน์ต่าง ๆ จึงไม่มีในความคิด  กิน  กาม  เกียรติอย่างที่ท่านพระพุทธทาสกล่าวไว้ก็จะไม่มีในสันดาน  การตัดซึ่งผลประโยชน์  การตัดซึ่งตัณหาย่อมเป็นเครื่องหมายของผู้ที่ตั้งอยู่บนความถูกต้อง ตั้งอยู่บนวัฒนธรรม และประเพณีอันดีงาม เปี่ยมด้วยคุณธรรมทั้งปวง
 
          ด้วยธรรมชาติอันแท้จริงของมนุษย์คือความเท่าเทียมกัน ที่กล่าวว่าเท่าเทียมนี้คือความเท่าเทียมตามธรรมดา  ตามธรรมชาติ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความต้องการในการดำรงชีวิต  จึงหลีกไม่พันเรื่องของปัจจัยสี่  คืออาหาร  ที่อยู่อาศัย  เครื่องนุ่งห่ม  และยารักษาโรค    การที่หลายคนอ้างปัจจัยห้า  ปัจจัยหก นั่นหมายถึงมนุษย์เกินเลยขอบเขตตามธรรมดา ตามธรรมชาติ ซึ่งสืบเนื่องจากการดำรงชีวิตเหนือกฎธรรมดา  เหนือกฎธรรมชาติ อันเนื่องจากมนุษย์หลงเพลินในตัณหา  หลงเพลินผลประโยชน์  นั่นคือติดอยู่ในวังวลสังคมนิยมวัตถุ   "วัตถุนิยม"  ความเท่าเทียมในเรื่องปัจจัยสี่นั้นคือความเป็นธรรมที่แท้จริง  สังคมที่มีความเป็นธรรมค้ำจุน  สังคมที่มีศาสนาค้ำจุนสามารถที่จะจัดสรรแบ่งปันปัจัยสี่ให้สังคมได้อย่างเป็นธรรมลงตัวด้วยจิตสำนึกของคนในสังคมเอง
 
        ความเที่ยงธรรมในเรื่องปัจจัยสี่สามารถทำให้เกิดได้อย่างไร  ความเป็นไปได้อย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องนี้น่าจะกำหนดได้ในสองทางใหญ่ ๆ เป็นหลัก  คือคนในสังคมหมายถึงกลุ่มสังคม  และประการที่สองคือการกำหนดกฎเกณฑ์จากฝ่ายบริหารซึ่งหมายถึงรับบาล  องค์กรส่วนท้องถิ่นที่มี ทั้งสองทางนี้ทำควบคู่กันไป 
         
         โดยหลักที่ถาวร และมั่นคงที่สุดในเรื่องนี้ต้องมาจากจิตสำนึกของคนในสังคมเอง   จิตสำนึกที่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบุคลมีจิตว่าง บริสุทธิ์ ไม่เกาะติดผลประโยชน์ใด ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วแต่ต้น  หากเกิดได้อย่างที่กล่าวนั่นวัดได้ว่ากลุ่มสังคมนั้น ๆ มีคุณธรรมเป็นภูมิคุ้มกันในกลุ่มของสังคม  หากเป็นเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายมาควบคุม  คุณธรรมคือตัวบทกฎหมายอย่างเบ็ดเสร็จ  นี่จึงพูดได้เต็มปากว่าการได้มาซึ่งจิตสำนึกที่เกิดจากสังคมอย่างนี้เป็นหลักประกันว่า "ความเที่ยงธรรมอย่างถาวร"  ตรงข้ามหากเกิดจากรัฐหรือองค์กรต่าง ๆ  ย่อมต้องควบคุมด้วยกฎหมายซึ่งคล้ายกับเป็นการบังคับ ไม่ได้ปฏิบัติด้วยความสำนึกในจิตใจ  จึงไม่มีคุณภาพอย่างที่เกิดชึ้นจากจิตสำนึกภายในบุคคล  อย่างไรก็ดีทั้งสองก็ต้องควบคู่ไป
 
          บุคคลที่ยังมีผลประโยชน์ ยังหลงอยู่ในตัณหาย่อมไร้สติ และปัญญา บุคคลที่ไร้สติ  และปัญญาย่อมมีจิตไร้ความบริสุทธิ์   ไร้ความเป็นธรรม  ขาดคุณธรรมเป็นภูมิคุ้มกัน  บรรดานายทุน ซึ่งเป็นผู้ยืนอยู่บนผลประโยชน์ย่อมจะเข้าในกฎเกณฑ์ข้อนี้ จะทุกกลุ่มหรือไม่นั่นก็เก็บไว้พิจารณา แต่ส่วนใหญ่น่าจะเข้าลักษณะขาดคุณธรรมเป็นภูมิคุ้มกัน  ตัวหนึ่งที่เป็นหลักประกันเรื่องนี้คือ คำกล่าวที่ว่า  "นายทุนขูดรีด"  คำพูดเหล่านี้เป็นจริง  และเชื่อถือได้แค่ไหนก็ลองหากหลักฐาน  ใคร่ครวญการกระทำดู 
 
          อย่างหนึ่งที่จะเข้าหลักการว่าขูดรีดก็คือนายทุนเป็นผู้กำหนดราคาสิ้นค้าเองทั้งชื้อและขาย   เขาซื้อวัตถุดิบจากภาคเกษตรเขาก็กำหนดราคา  ราคาผลิตจากโรงงานของบรรดานายทุนเขาก็เป็นผู้กำหนด  ส่วนการซื้อการขายของชาวรากหญ้า หรือกลุ่มเกษตรกรกำหนดราคาเองไม่ได้  ขอยกตัวอย่างชาวเกษตรซื้อปุ๋ยใส่ไร่อ้อยก็ถูกนายทุนกำหนด  พอชาวเกษตรขายอ้อยให้โรงงานก็ถูกนายทุนกำหนดราคา   ชาวเกษรจะขาดทุนอย่างไรไม่มีมาตรการรองรับ  ผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ ก็เข้าทำนองนี้  ในที่สุดรัฐบาลต้องรับภาระ  ต้องช่วยประกันราคา  พยุงราคา โดยเอาเงินภาษีที่ควรจะใช้ในส่วนที่พัฒนาอื่น ๆ มาใช้ในนโยบายส่วนนี้  สิ่งเหล่านี้ที่เห็นมาตลอด   รัฐบาลไม่มีมาตรการใดที่ดีแก้ปัญหาได้เลย   มองเหมือนว่ารัฐบาลกับนายทุนเอื้อต่อกัน และถ้าจะพูดกันจริงมีคำพูดที่ตรงชัดเจนคือ  "นายทุนการเมือง"   จากที่กล่าวมาพอมีเหตุผลเชื่อได้ว่าบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีผลประโยชน์ย่อมขาดคุณธรรมเป็นภูมิคุ้มกัน
 
           ความวุ่นวายในสังคมปัจจุปันส่วนใหญ่มาจากระบบเศรษฐกิจ  ระบบทุน หากระบบทุนยังยึดผลประโยชน์มากเกินไป  สังคมกลุ่มหนึ่งคือชาวรากหญ้าก็เพิ่มความเดือดร้อน  ช่องว่างคนรวยกับคนจนมีมากขึ้น 
 
          ถ้าจะพูดกันให้ตรงให้ชัดเจนที่สุดเรื่องของระบบทุน  ระบบนายทุนก็เข้าลักษณะดังนี้  นายทุนคือนายจ้าง นายทุนคือเจ้าของกิจการ   นายทุนคือผู้มีอำนาจเข้าถึงแหล่งเงินมากที่สุด   เมื่อมีนายจ้างก็ต้องมีลูกจ้าง  ลูกจ้างก็คือชาวรากหญ้าซึ่งมีจำนวนมาก  เมื่อมีนายจ้างขูดรีดบรรดาลูกจ้างก็คือทาสนั้นเอง   เมื่อการแบ่งปันไม่เป็นธรรมก็ต้องพูดอย่างนี้  และระบบทุนก็อยู่อย่างนี้ จริง ๆ  ฉะนั้นระบบทาสก็ยังมีอยู่เดิม  ชนชั้นแรงงานต้องเหน็ดเหนื่อยที่ถูกกลวิธีของระบบทุนบังคับให้เข้าสู่ระบบทุนของกลุ่มเขา  ระบบเงินผ่อนเป็นเรื่องที่น่ากลัวที่สุด นี่คือตัวอย่างง่าย ๆ ที่เดินเข้าสู่กลของระบบทุน จะเห็นว่าบุคคลส่วนใหญ่ต้องปลดหนี้กันตลอดชีวิต  กลวิธีอื่น ๆ ของกลุ่มทุนแอบแฝงไว้มากมายทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นหลัก
 
         ยิ่งนักการเมื่องร่วมผลประโยชน์กับกลุ่มนายทุน  ก็ยิ่งเกิดพิษภัยเรื่องการเอารัดเอาเปรียบได้มากขึ้น  มีช่องว่างมากขึ้น  มีโอกาสมากขึ้น  ด้วยหน้าที่ข้อหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)คือการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ คือการออกหมาย  แก้ไขกฎหมาย ในเมื่อนักการเมืองกับนายทุนมีส่วนร่วมกัน ผลประโยชน์ร่วมกัน  การทำหน้าที่ตรงนี้ก็ย่อมจะเอื้อประโยชน์กันได้  การที่จะแก้กฎหมาย หรือออกกฎหมายให้เป็นธรรม  ให้เกิดประโยชน์โดยส่วนรวมย่อมเป็นไปตามหลักยุติธรรมได้ยาก หรือไม่ก็มีโอกาสน้อยลงอย่างมาก
 
       นอกจากการออก หรือแก้กฎหมายที่ขาดความเป็นธรรมแล้ว การเอื้อประโยชน์เรื่องการประมูลโครงการใหญ่ ๆ ของรัฐบาลก็อาจจะมีโอกาสมากขึ้นดังที่เคยเป็นข่าว  ผลเสียของการฮั้วประมูลคือชิ้นงานโครงการออกมาไม่ดี  ไม่มีมาตรฐานตามโครงการ ด้วยเงินส่วนหนึ่งตกหล่นหายไป  ที่เรียกกันว่าเบี้ยใบ้รายทาง  นี่อยู่ในรูปโกงกินอีกแบบหนึ่ง ซึ่งล้วนแต่ทำให้ภาษีของราษฎรใช้ประโยชน์ได้ไม่เท่าที่ควร  งานก็ขาดคุณภาพ  ขาดมาตรฐาน
 
       นี่คือพิษภัยที่เกิดจากสังคมวัตุนิยมซึ่งก่อมาจากการที่คนยังมีกิเลสตัณหา  ทั้งที่เป็นส่วนบุคคล และเป็นกลุ่มบุคคล  เมื่อคนเรามีกิเลสตัณหาเกิดขึ้นศีลธรรม คุณธรรมก็หดหายไปเป็นธรรมดา  คล้ายดั่งว่าเราอยู่อย่างไร้ซึ่งศาสนา   เมื่อ ศีลธรรม  คุณธรรมไม่เป็นภูมิคุ้มกันสังคมแล้วพิษภัยก็ตามมาในหลาย ๆ ด้านอย่างมิมีวันซาเพลา และนับวันแต่จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จะเห็นได้จากที่เกิดความวุ่นวายอย่างปัจจุบันทั้งระบบเศรษฐกิจ  และนักการเมือง  ความวุ่นวายที่เกิดจากนักการเมืองเขามักจะกล่าวว่า "เพราะผลประโยชน์ไม่ลงตัว"
 
       เรื่องของนักการเมืองในปัจจุบันเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจอย่างมาก
นักการเมืองคนใด  กลุ่มใดจะแหกปากร้องว่ารักชาติอย่างไรเขาก็ยังเชื่อไม่สนิท ที่ว่ายังเชื่อไม่สนิทก็เขามองดูที่พฤติกรรม และผลงาน  หากทั้งสองอย่างเป็นที่ยอมรับของคนในชาติ  นโยบายต้องใจประชาชน  ทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนจริง ๆ เขาก็จะมองว่ารักชาติ  รักประชาชน  ไม่ต้องแหกปากร้อง  ไม่ต้องบิดเบือนข้อมูลเขาก็ยอมรับ และชื่นชม
 
       ที่กล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคมที่อยู่ในระบบทุนนิยม หรือสังคมระบบวัตถุนิยม  ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นล้วนสืบเนื่องจากผลประโยชน์เป็นตัวหลัก
พระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นว่าการอยู่ร่วมของสังคมมนุษย์ที่จะให้เกิดสันติสุขแท้จริงนั้นคือการยึดหลัก ธรรมดา  ยึดหลักธรรมชาติ ปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ ไม่ฝืนกำธรรมชาติ  การดำเนินชีวิตของมนุษย์ก็เช่นเดียวกับสรรพสิ่ง  สรรพสัตว์ทั่ว ๆ ไป  เพียงแต่มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีความฉลาด ก็ใช้ความฉลาด  ปัญญา ตามความเหมาะสม ก็คือด้านวิทยาการ หรือวิทยาศาสตร์นั่นเอง
 
       การอยู่ร่วมแบบธรรมดา  แบบธรรมชาติก็คือเข้าลักษณะ "พอเพียง"  พระพุทธองค์ทรงเน้นเรื่องพอเพียงไว้เป็นหลักในเรื่องการดำเนินชีวิตของมนุษย์  การอยู่อย่างนี้เป็นการอยู่อย่างระบบจิตวิญญาณ  มีความสุขด้านใจ ไม่ใช่ความสุขด้านวัตถุ การอยู่ร่วมอย่างนี้ยึดหลักแค่ความจำเป็น  ความต้องการ ก็คือแค่ปัจจัยสี่ การยึดหลักแค่ปัจจัยสี่ก็คือพอเพียง และปัจัยสี่ที่ว่าต้องควบคุมความพอเพียงมันด้วย แท้จริงเมื่อมนุษย์เข้าสู่ระบบจิตวิญญาณ หรือมีความสุขด้านจิต หลีกหนีความสุขจากวัตถุได้แล้วเรื่องของผลประโยชน์ก็จะถูกตัดทิ้งไป  จึงเกิดการอยู่ร่วมที่มีการช่วยเหลือเกื้อกูล  มีจุนเจือ  แบ่งปัน  เมื่อมีความเมตตาปรานีต่อกันการเบียดเบียนก็ไม่เกิดขึ้น สังคมก็สันติสุขอย่างแท้จริง
 
        หลักปัจจัยสี่เป็นส่วนสำคัญของพื้นฐานของการดำรงชีพมนุษย์  เราสามารถปรับปรุง  พัฒนาปัจจัยสี่ด้วยวิทยาศาสตร์ตามความจำเป็นเหมาะสม  เพียงเท่านี้ความสุขก็เกิดในสังคมมนุษย์  เรามิต้องวุ่นวายมีการแข่งขัน  แย่งผลประโยชน์ที่เกินความจำเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
 
        หากมวลมนุษย์ชาติมาถึงจุดนี้ได้ถือว่ามีความสำเร็จอันยิ่งใหญ่  หากจะไม่เปลี่ยนแปลงชนิดหักด้ามพร้าด้วยเข่าก็หาแนวทางได้  ได้เคยนำเสนอให้กำหนดกฎหมายในรัฐธรรมนูญไว้หนึ่งมาตรา  ทุกรัฐบาลต้องบริหารประเทศแบบคู่ขนาน  คือมีให้ประชาชนเลือกอยู่แบบ "ทุนนิยม"  และแบบ "พอเพียงนิยม" รัฐบาลต้องบิหารดูแลทั้งสองระบบด้วยความเหมาะสมเท่าเทียมกัน  นี่คือประชาธิปไตยเต็มใบแท้จริง  เปิดสิทธิ์เสรีให้กับสังคม  ไม่ใช่มีเพียง"ประชาธิปไตย แบบทุนนิยม" อย่างที่ใช้กันทั่วโลก  ขอทุกฝ่ายเปิดใกว้าง  รับฟังหลาย ๆ ฝ่าย  ที่เราฝังหัวอยู่กับประชาธิปไตยแบบทุนนิยมเราคิดว่าดีเลิศประเสริฐศรีแล้ว  เราไม่รู้ไม่ได้สัมผัสกับแนว "ประชาธิปไตยแบบพอเพียง" ว่าดี หรือไม่ดีอย่างไร  เราเป็นเมืองพุทธโดยแท้ แต่ยังห่างพุทธศาสนาอย่างมาก ไม่ได้นำแก่น หรือปรัชญาของพุทธศาสนามาใช้อย่างแท้จริง
 
       หากรัฐบาลรับหลักการและใช้หลักบริหารควบคู่ไปทั้งสองอย่าง ก็ยังต้องวางแผนระบบงานกันอย่างมีระบบซึ่งไม่ใช่เรื่องยากนักหากมีความตั้งใจจริง  ทั้งนี้นักวิชาการหรือรัฐบาลเองยังเคยกำหนดนโยบายพอเพียงเป็นวาระแห่งชาติด้วยซ้ำ แต่หากการดำเนินการยังไม่เป็นรูปธรรม ด้วยอิทธิพลของทุนนิยมยังฝังลึกในกระแสสังคม  ในกระแสความคิดของบุคคล จึงเป็นเรื่องยากที่จะมีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นรูปธรรมในเรื่องของกิจกรรมพอเพียง
 
       ถ้าหากนักวิชาการ หรือผู้มีประสบการณ์ในหลายหน่วยงานของรัฐที่รู้ปัญหาสาเหตุของความวุ่นวายทางสังคม  การเมืองในปัจจุบันในระบบทุนนิยม ได้ร่วมมือกันแก้เปัญหาสังคมให้ถูกจุดก็คงเล็งเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า  หลักปรัชญา หรือแก่นของศาสนาพุทธ ที่พระพุทธองค์ทรงยึดหลักพอเพียง  อยู่แบบธรรมดา  อยู่ในกรอบกฎของธรรมชาติแล้ว  การอยู่ร่วมในสังคมมนุษย์ก็จะหยุดการเบียดเบียนซึ่งกันและกันทันที เพราะการอยู่ร่วมแบบพอเพียงเป็นตัวตัดกิเลสตัณหาได้อย่างสินเชิง  ที่ตัดได้โดยสินเชิงเพราะผลประโยชน์ทุกอย่างถูกตัดออกไปนั่นเอง
 
      ประเทศไทยหากนำหลักปรัชญาของพุทธศาสนาใช้ในการบริหารประเทศควบคู่กับประชาธิปไตยแบบทุนนิยมอย่างที่ใช้ในปัจจุบันอยู่แล้ว  จะเป็นต้นแบบแรกของโลกที่อาจจะมีหลายประเทศยอมรับ  และเลียนแบบตามด้วย  และนาน ๆ ไป  อาจจะลดเหลืออย่างเดียว คือ "ประชาธิปไตยแบบพอเพียงนิยม" ตามหลักของพุทธศาสนาก็เป็นได้  เพราะเหตุที่สังคมพบทางสันติสุขที่แท้จริง
http://www.naturedharma.com/data-2854.html   
 
 ประทีป  วัฒนสิทธิ์
10 ธันวาคม 2556