เว็บไซต์อารมณ์กลอน เว็บไซต์สำหรับผู้มีกลอนในหัวใจ..

อารมณ์กลอน => ฉันท์ กาพย์ ร่าย => ข้อความที่เริ่มโดย: สนอง เสาทอง ที่ 03 กันยายน, 2556, 11:36:03 AM



หัวข้อ: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 03 กันยายน, 2556, 11:36:03 AM
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

***ตั้งใจคัดเลือกนิทานอีสปเอาเรื่องเด่นๆ มาเขียนเป็นร้อยกรองจำนวน ๑๐๐ เรื่อง เพื่อจะได้คัด/ขัดเกลาตีพิมพ์เป็น "วรรณกรรมเยาวชน" ในโอกาสข้างหน้าต่อไป ช่วยติชมและท้วงติง เพื่อให้ถูกต้องสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้...ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ***

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
   ๑.
หมาป่ากับหัวกะโหลกมนุษย์


๑.
        หมาป่าเร้นเถื่อนถ้ำ              ไพรวนา
เทียวล่าหนูเนื้อปลา                  อิ่มมื้อ
เพียงมนุษย์แกว่นฤทธา               เจ้ากริ่ง กลัวนา
ฉลเล่ห์พร่ำแก่งยื้อ                  แล่เนื้อเถือหนังฯ

๒.
หมาป่าเล่ห์ร้าย       อาศัยเชิงชั้น
ท่องทั่วป่านั้น          ล่าไล่เนื้อเบื้อ
เลียบย่องบ้านรั้ว        เร้นตัวจ้องเหยื่อ
ไก่เป็ดตายเบือ       ลักสิ้นหมดเล้าฯ

๓.
หมาป่านิสัยพาล       หยาบสันดานพร่ำดุร้าย
อาศัยเถื่อนขอบชาย       เร้นหลบกายเลี้ยงชีวิน
หนูกบไม่อิ่มมื้อ       ย่องเล้ารื้อลักไก่สิ้น
ชาวบ้านคร้ามทั่วถิ่น            ใครยลยินเอือมระอาฯ

๔.
        กาลครั้งหนึ่ง หมาใหญ่ อยู่ไพรเถื่อน   ไม่แชเชือน เที่ยวล่า สรรพสัตว์
หนูกระรอก กระต่าย ปรี่เข้ากัด         มังสาเนื้อ เขี้ยวฟัด ลิ้มโอชา
        หมาป่านั้น กลัวมนุษย์ สุดเล่ห์ร้าย           ศาสตราวุธ เทียวหมาย ไล่เข่นฆ่า
แล่เถือเนื้อ ถลกหนัง ไร้เมตตา         สุนัขป่า จึงเลี่ยง หลบไกลคน
        มาวันหนึ่ง หิวโซ ออกล่าเหยื่อ      ลำบากเหลือ อาหาร ช่างขัดสน
จึงเลาะเลี้ยว ละเมาะ ใกล้บ้านคน         ในตำบล อันตน ไม่คุ้นชิน
        เจอะกะโหลก มนุษย์ เขรอะดินพื้น      ให้ตระหนก หวาดตื่น ใจส่ำดิ้น
ด้วยฤทธา เล่ห์มนุษย์ เคยยลยิน         ใจเจ้าถวิล เภทภัย อาจกรายเยือน
        จึงด้อมด้อม ย่องวน อยู่หลายเที่ยว   ทั้งแลหน้า หลังเหลียว ระแวงเถื่อน
กะโหลกนั้น ตั้งนิ่ง ไม่ติงเตือน         เจ้าขยับเคลื่อน เข้าใกล้ นาสิกดม
        เมื่อมั่นใจ กะโหลก นั้นตายแน่      ไร้ฤทธี ตอแย โอหังข่ม
จึงใช้เท้า เขี่ยเล่น เต็มอารมณ์         เจ้าสุขสม กระหยิ่ม พลางรำพัน
        เจ้ามนุษย์เอ๋ย เคยใหญ่ เทียวไล่ล่า   ทั้งผองข้า สรรพสัตว์ ทั่วไพรสัณฑ์
ด้วยปัญญา ปราดเปรื่อง เล่ห์อนันต์      ในสักวัน แน่แท้ เจ้าวายวาง
        ยามชีพสิ้น แน่นิ่ง กองจมพื้น      ไหนศาสตรา พร้าปืน เคยอวดอ้าง
ไหนปัญญา เล่ห์คิด กลอำพราง         ในสุดท้าย เสื่อมร้าง ฤทธิ์ร้ายเอยฯ

๕.
     คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
ยามไร้บุญ วาสนา อำนาจหน
ก็ไร้สิ้น คนเกรง ใครกลัวตน
อย่าเป็นคน ติดหลง อำนาจเอยฯ

๖.
ยามไร้บุญวาสนา สิหาใครกลัวเกรง วังเวงแท้เหลืออนาถ อำนาจก็เสื่อมสิ้น อย่าดิ้นว่ายติดหลง กรรมกงกำเกวียนย้ำ ชอกช้ำยามวิบาก ปลงเถิดหลากสิ่งล้วน ควรยิ่งคิดรอบถ้วน ถ่องแท้โลกสมัย เทอญนาฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“ยามเมื่อหมดบุญอำนาจวาสนา คนที่เคยเกรงกลัวเราก็ไม่เกรงกลัวอีกต่อไป”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 03 กันยายน, 2556, 12:17:51 PM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
   ๒.
ต้นไม้กับคนตัดไม้


๑.
        อันพฤกษ์ไพรใหญ่ยั้ง         ดงแดน
คุณค่าประโยชน์แสน                 เร่งรู้
ตระหนักตื่นสงวนแหน                 ไม้ป่า ชนเฮย
ผิไป่เฉยพลิกกู้                    ก่อร้ายวิกฤตสมัยฯ

๒.
ไม้ป่าคามดง               เถื่อนพงล้นค่า
หล่อเลี้ยงชีวา            ก่อเกื้อถ้วนสิ่ง
ต้นน้ำลำธาร               เนานานป่าอิง
ตื่นรู้อย่านิ่ง               ป่าไม้รักษาฯ

๓.
พฤกษ์ไพรวิกฤตยิ่ง            ชนอย่านิ่งปล่อยดูดาย
ขั้วโลกน้ำแข็งมลาย            ใครเสียหายพึงตรองคิด
ธรรมชาติสร้างสมดุล                  ล้วนเกื้อหนุนสรรพชีวิต
ฤดูกาลโลกวิกฤต            ทุกถ้วนทิศท่วมท้นทุกข์ฯ

๔.
        กาลครั้งหนึ่ง ครอบครัว คนตัดไม้      ปลูกเรือนบ้าน อาศัย ชายเถื่อนถิ่น
พ่อแม่ลูก ขันแข็ง เรื่องทำกิน              งานอาจินต์ ตัดไม้ ขายเลี้ยงตน
        มาวันหนึ่ง ได้พบ ต้นไม้ใหญ่      ต่างปรึกษา วุ่นใน หารือหน
ตัดต้นนี้ แปรขาย ไม่ลำบน                 คงได้เงิน มากล้น ราคางาม
        ครั้นตกลง ปลงใจ ดูยามฤกษ์      ขวานจามเบิก โคนใหญ่ เข้ามิดด้าม
ไม่นานช้า ล้มตึง สนั่นคาม                 ใหญ่เกินแบก คอนหาม ต้องตัดทอน
        เลือกกิ่งเหมาะ ทำลิ่ม ทิ่มแยกไม้      เพื่อจะได้ บั่นทอน แบ่งหลายท่อน
ต่างแยงงัด แยกไม้ ไม่เกี่ยงงอน              ไม้ใหญ่ครวญ ทอดถอน ชะตากรรม
        อนิจจา อกเอ๋ย อนาถนัก         ถูกขวานจาม หน่วงหนัก อยู่หลายซ้ำ
ไม่เจ็บเท่า กิ่งตน เข้าทิ่มตำ              ระกำใจ ชอกช้ำ เนื้อตนเอยฯ

๕.
        คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
เจ็บอะไร เกินกว่า คนชิดใกล้
ที่ทั้งรัก ไว้เนื้อ และเชื่อใจ
กลับทำร้าย ตัวเรา ปวดร้าวเอยฯ

๖.
คนสนิทเชื่อวางใจ ในทุกเรื่องปรึกษา กลับแว้งมาก่อร้าย ป้ายสีเท็จโยนผิด อยู่เนืองนิจบ่เว้น ตัวเร้นเลี่ยงเบือนบิด เจ็บเพราะมิตรหักหลัง ชังชิงมากยิ่งแล้ หนักเจ็บปวดร้าวแท้ กว่าถ้วนเจ็บใด ท่านเอยฯ


๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“เจ็บอะไรไม่เท่าโดนคนที่ใกล้ชิดและไว้ใจทำร้าย”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 03 กันยายน, 2556, 12:36:20 PM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
๓.
คนชั่วไม่มีที่อยู่


๑.
อันโฉดชนชั่วช้า               เกเร
เช้าค่ำสำมะเล          ไป่สิ้น
ใจหยาบหมิ่นฉลเล่ห์       ร้ายยิ่ง   
จิตเร่าระวิงดิ้น          ก่อร้อนลำพองพาลฯ

๒.
โฉดชนสันดาน         ก่อพาลเรื่องร้อน
ยากขุดสันดอน         ชั่วรั้นลำพอง
คำถ้อยหยาบล้น         หยามชนคับข้อง
คิดแต่ร้ายปอง         มุ่งเหตุบีฑาฯ

๓.
โฉดชนฉลสันดาน          หาเรื่องพาลไม่รู้สิ้น
ใครต่างระอายิน         บ่ายหน้าผินไม่เกลือกข้อง
ผองมิตรต่างเลี่ยงหลบ      ใครไม่คบอับศรีหมอง
ค่ำเช้าเพรื่อพร่ำจ้อง         เหิมลำพองก่อร้ายพาลฯ

๔.
   กาลครั้งหนึ่ง คนพาล สันดานหยาบ   คึกคะนอง จ้วงจาบ ไม่รู้สิ้น
ลำพองจิต เราะร้าย อยู่อาจินต์         ใครยลยิน ระอา ไม่ผินมอง
   มาวันหนึ่ง ฤทธิ์พาล พลั้งมือฆ่า        ถึงเขาม้วย มรณา สยดสยอง
ไม่อนาทร ว่าใคร น้ำตานอง          กระหยิ่มย่อง ไม่ใช่ เรื่องกงการ
   ฝ่ายผู้ตาย เลือดเชื้อ และเครือญาติ    ผูกอาฆาต เคืองขุ่น คิดประหาร
ฆ่าตกตาย ตามกัน ลั่นสาบาน         แล้วยกพวก หมดบ้าน ตามกันมา
        เจ้าคนพาล รู้ข่าว เขาหมายหัว      เกิดนึกกลัว หนีเตลิด เร้นราวป่า
ด้วยเกเร ญาติมิตร ไม่นำพา         ช่วยอีกฝ่าย ตามหา หมายคร่ากุม
   หนีซ่อนป่า อนิจจา นักเลงใหญ่      เจอะสิงโต ตกใจ ปีนไพรพุ่ม
เลือกต้นเหมาะ ใบดก หมายหลบมุม       เจอะงูร้าย เงียบซุ่ม พันกิ่งรอ
   เจ้าคนพาล ลนลาน ขนหัวลุก      ฉุกละหุก เภทภัย ทุกทิศจ่อ
โดดลงน้ำ ทันใด ข้างไผ่กอ         ปะจระเข้ ขม้ำพ่อ จมเขี้ยวเอยฯ

๕.
        คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
อันคนพาล หยาบช้า สันดานชั่ว
ไร้ญาติมิตร ใครเมิน ไม่พันพัว
แม้แผ่นดิน ซุกหัว ไม่มีเอยฯ

๖.
โฉดชนสันดานหยาบ บาปก่อไม่นึกเกรง ข่มเหงใครก้มราบ จ้วงจาบอยู่นิจสิน อาจินต์ก่อเรื่องพาล ฉาดฉานเท็จโป้ปด ฉ้อคดแม้พวกพ้อง จ้องแต่หาเหตุร้าย แม้แผ่นดินห่างใกล้ หมดสิ้นซุกกาย ท่านนาฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“คนชั่วไม่มีแม้แต่แผ่นดินจะอยู่ ไม่ว่า ณ ที่แห่งใด”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 03 กันยายน, 2556, 12:43:44 PM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
๔.
สุนัขจิ้งจอกกับหมูป่า



๑.
   จิ้งจอกเหลี่ยมเล่ห์ร้าย      มากมี
สัตว์ใหญ่น้อยหน่ายหนี         ไป่ข้อง
มวลมิตรต่างหลีกลี้            คร้ามยิ่ง
ใครต่างทิ้งเพื่อนพ้อง         กริ่งได้ภัยถึงฯ
 
๒.
จิ้งจอกเล่ห์ร้าย            แต่หมายคดฉ้อ
เหลี่ยมเชิงหลอกล่อ          สัตว์น้อยใหญ่หน่าย
อาหารสัตว์เนื้อ            จ้องเหยื่อมุ่งร้าย
แอบซุ่มพุ่มหมาย            ว่องไวโจมตีฯ

๓.
จิ้งจอกมากร้ายเล่ห์            จริตแสร้งเสเหลี่ยมคูใช้
สัตว์ใดไม่ระไว             อาจถึงตายชีพปลิดปลง
เลาะเรื่อยป่าไพรถิ่น            จับเหยื่อกินตามประสงค์
ใครคร้ามทั่วคามดง            จิ้งจอกพงศ์ล้วนเล่ห์ร้ายฯ

๔.                    
    กาลครั้งหนึ่ง จิ้งจอก อยู่พนากว้าง         เยาะเยื้องย่าง ตรวจตรา ถิ่นอาศัย
เลาะดุ่มเดิน เรื่อยร่ำ ราวชัฏไพร               ถึงดงไม้ หมูป่า ย่านลำเนา
    เห็นหมูป่า ลับเขี้ยว อยู่โคนไม้             จึงถามไถ่ ปราศรัย เอินหยอกเย้า
สหายหมูจ๋า ลับเขี้ยว มิผ่อนเพลา              มีภัยร้าย ใดเล่า โปรดพาที
    ทั้งพรานไพร หมาล่า ไม่มีเห็น             ข้าเทียวท่อง เช้าเย็น ถ้วนเขตที่
แล้วเจ้าลับ คมเขี้ยว ไปไยมี                   เลิกเสียที เถิดสหาย อย่าร่ำไร
    หมูป่าฟัง พลางแจ้ง แถลงเหตุ             อันภัยเภท หมู่พราน หามีไม่
ลับคมเขี้ยว เผื่อใช้ ได้ทันใด                  รอมีภัย ค่อยลับ ไม่ทันเอยฯ

๕.
    คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
ทุกเวลา เตรียมตน ให้พร้อมพรั่ง
อย่าประมาท ดูดาย ไม่ระวัง
อาจพลาดพลั้ง เคราะห์ร้าย ถึงตายเอยฯ
 
๖.
ชนเอยอย่าประมาท ในสิ่งคาดหยั่งยาก วิบากเทวษนักยิ่ง ร้ายสิ่งอาจกรายใกล้ เกิดได้ถ้วนทุกยาม อย่าตามใจคร้านอู้ รู้เตรียมตนทุกเมื่อ คิดเผื่อไปเพื่อหน้า ถ้าเกิดเหตุอาจช้า ผ่อนแก้ทันไฉน ท่านเอยฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“จงเตรียมพร้อมไว้เสมอ เพราะเราไม่อาจจะรู้ว่าเหตุการณ์เลวร้ายจะเกิดขึ้นเมื่อใด”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 03 กันยายน, 2556, 12:51:28 PM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
๕.
แมงมุมกับนกกระจอก


๑.
   แมงมุมตัวกระจ้อย         ใยบาง
ตาข่ายดักขึงกาง            เหยื่อน้อย
คิดเหิมล่านกบ้าง            สัตว์ใหญ่
ใยเยิ่นขาดวิ่นย้อย            พ่ายต้านแรงสกุณฯ

๒.
แมงมุมตัวน้อย            ใยจ้อยดักกาง
หนอนไหน่วายวาง            อิ่มมื้อเหยื่อน้อย
คิดดักปักษี               มากมีพันร้อย
ดักขึงใยคอย               ยับวิ่นเยิ่นใยฯ

๓.
แมงมุมใยบางจ้อย            กางดักคอยผีเสื้อหนอน
อิ่มมื้อไม่อาวรณ์            ซุ่มตัวซ่อนจ้องจับเหยื่อ
วันหนึ่งคิดการใหญ่            เนื้อนกไพรคงมากเหลือ
ขึงใยกว้างผืนเสื่อ            ใยบางเยื่อนกทำลายฯ

๔.           
        กาลครั้งหนึ่ง แมงมุม ตัวกระจ้อย      ชักใยบาง ดักคอย แมลงหนอน
เห็นกระจอก นกน้อย เจ่าคบคอน         เทียวจิกกิน ด้วงหนอน อาหารตน
        จึงวางแผน ดักนก กระจอกนั้น      ด้วยโมหัน มโนจิต อกุศล
คิดชักใย ตาข่าย ขึงแยบยล          จริตเล่ห์กล กำจัด วิหคศัตรู
        จึงชักใย เหนียวหนา แผ่กว้างใหญ่   แต่หัวค่ำ ดึกไคล ล่วงเช้าตรู่
ครั้นเสร็จสิ้น เงียบนิ่ง เฝ้าซุ่มดู          นึกกระหยิ่ม ปองอยู่ เนื้อสกุณา
        ครั้นรุ่งสาง กระจอก บ่ายโผผิน      ถึงย่านถิ่น แมงมุม ชักใยหนา
ชนตาข่าย เต็มแรง ทะลุมา            ไม่นำพา ใยจ้อย บางเปราะเบา
        เจ้าแมงมุม รำพึง โอ้อกหนอ      ใจเหี่ยวห่อ ฝืนยิ้ม ก้มหน้าเศร้า
นึกทบทวน ตรองตน รั้นมัวเมา           อันตัวเรา คิดการ ใหญ่เกินตน
        จึงแมงมุม ค่ำเช้า เฝ้าใยชัก      แต่พอดัก หนอนไหน่ ไม่สับสน
ทำแต่พอ แรงตัว ไม่ลำบน          เลิกดิ้นรน สิ่งหมาย ไกลเอื้อมเอยฯ

๕.
        คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
ชนพึงอย่า ปรารถนา ในสรรพสิ่ง
ไกลเกินตัว เกินตน ทำได้จริง
จงเลือกสิ่ง ถนัดง่าย ทำได้เอยฯ

๖.
ใดสรรพสิ่งปรารถนา ตรองมากคราทั่วถ้วน ใครล้วนมีความอยาก มักมากเห็นแก่ตน ครวญหนรอบคอบถ้วน แต่ล้วนทำได้ง่าย หากป่ายสูงเกินคว้า ถ้าพลาดสิ่งอยากได้ ตนย่อมเทวษหนักไซร้ ร่ำไห้จาบัลย์ เพื่อนเอยฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“อย่าทำอะไร เกินตัว และเลือกทำในงานที่เราถนัดจะเป็นผลดีที่สุด”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 03 กันยายน, 2556, 12:58:52 PM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
๖.
ไก่ชนกับนกกระทา



๑.
   อันไก่ชนเผ่าเชื้อ      พงศ์พาล
ย่อมเชี่ยวช่ำสันดาน         ต่อสู้
ฤารู้เลี่ยงตีต้าน         พ้องไก่ เพื่อนนา
เฉกเช่นโฉดชนรู้         ก่อร้ายอาจินต์ฯ

๒.
ไก่ชนเผ่าเชื้อ            พาลเหลือสันดาน
ต่อตีเชิงชาญ            ค่ำเช้าอาจินต์
เดือยแข้งเขี้ยวเล็บ         แทงเจ็บแรงตีน
ไก่ชนชาชิน            พวกพ้องต่อสู้ฯ

๓.
ไก่ชนนิสัยพาล         เรื่องหักหาญโรมรันสู้
ค่ำเช้าเฝ้าพันตู         เพียรจับคู่เตะจิกตี
กระทาใช่ไก่ชน         ลำบากล้นถูกย่ำยี
ไก่ชนตามราวี         กระทาหนีอยู่วี่วันฯ

๔.
   กาลครั้งหนึ่ง มีชาย ไก่ชนเลี้ยง      ด้วยชอบเสี่ยง บ้าพนัน อยู่นิจสิน
เข้าบ่อนไก่ เดิมพัน อยู่อาจินต์         ไม่ยลยิน กลัวบาป เวรกรรมใด
        มาวันหนึ่ง จับได้ กระทานก      นำวิหค เลี้ยงดู เข้าฝูงไก่
กินอาหาร หลับนอน อยู่เนาใน          ประหนึ่งไก่ ตัวหนึ่ง ร่วมวงศ์วาน
   อนิจจา กระทา ใช่ไก่เชื้อ         ในกินอยู่ ทุกเมื่อ น่าสงสาร   
ด้วยนิสัย มิใช่ เช่นไก่พาล            ทุกเมื่อวาน ถูกกลุ้ม รุมรังแก
   ด้วยไก่ชน ทระนง ว่าทรงศักดิ์      รังเกียจนัก กระทา เจ้าขี้แพ้
ถูกแกล้งจิก กระทา ไม่ตอแย           อนาถแท้ เจียมตน ข่มน้ำตา
   เช้าวันหนึ่ง ฝูงไก่ เกิดปากเสียง      ต่างทุ่มเถียง แบ่งฝ่าย ไม่ชักช้า
ยกพวกพ้อง จิกตี กันเนื่องมา         เจ้ากระทา ถอนใจ ปลงรำพึง
        โอ้ไก่ชน ชั้นพาล สันดานหยาบ      แต่พวกพ้อง จ้วงจาบ ทะเลาะขึ้ง
เข้าจิกตี พัลวัน อยู่ตังตึง            จึงรู้ซึ้ง สันดาน โจรพาลเอยฯ
   
๕.
        คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
อันหมู่พาล โจรา สันดานหยาบ
ไร้สัจจะ เมตตา ไม่เกรงบาป
แม้พวกพ้อง จ้วงจาบ ไม่เว้นเอยฯ

๖.
สันดานพาลโจรา ย่อมยากหามิตรแท้ ผู้แพ้คร้ามระย่อ บาปก่ออยู่ห่อนเว้น แต่เน้นก่อเรื่องร้าย พวกพ้องไร้สัจจะ เลิกละสิ้นเมตตา หาแต่เรื่องหยาบช้า พ้องเพื่อนจ้วงจาบกล้า ห่อนรู้เว้นไฉน ท่านนาฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“ไม่มีความเมตตาและสัจจะใดๆ ในหมู่โจร”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 03 กันยายน, 2556, 01:05:31 PM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
๗.
นกกระทากับนักฝึกเหยี่ยว

๑.
   อันกระทาเผ่าเชื้อ         นกดิน
บ่คล่องปีกวาดบิน            เรี่ยพื้น
ทรยศเหล่าปักษิน            พ้องเพื่อน
คิดแต่รอดต่ำตื้น            ห่อนพ้นโทษประหารฯ

๒.
โฉดชนล้วนมัก            คิดหักหลังมิตร
ฉลใจฉ้อจิต               เพื่อนพ้องห่างหนี
หยาบช้าเล่ห์พาล            สันดานบ่งชี้
เสียศักดิ์เสื่อมศรี            เลี่ยงลี้อย่าข้องฯ

๓.
กระทาพงศ์ปักษิน            เผ่านกดินทำรังพื้น
สิ้นไร้หนทางขืน            เล่ห์ลิ้นลื่นเพียงตัวรอด
ทรยศเพื่อนกระทา            คารมค้าอ้อนพร่ำพรอด
ใครสิ้นไม่ใบ้บอด            เขาค่อนขอดหมิ่นแคลนยิ่งฯ

๔.           
        กาลครั้งหนึ่ง บุรุษ นักฝึกเหยี่ยว      ด้อมด้อมเทียว ตาข่าย ดักวิหค
เขาโชคดี จับได้ อยู่หลายนก         และครึ้มอก หนึ่งนั้น คือกระทา
   อันกระทา นกวงศ์ เนื้อนุ่มลิ้น      ใครต่างยิน อร่อยเลิศ เนื้อปักษา
เขาคิดหนัก กับข้าว จ้าวกระทา         จะแกงป่า ผัดเผ็ด ก็เด็ดนัก
   เจ้ากระทา ร้องขอ ปล่อยชีวิต       ฟังข้านิด ท่านขา อย่าห้ำหัก
ใช้ข้าเป็น เหยื่อล่อ เช่นกับดัก          แค่สักพัก กระทา มาติดกับ
   เมื่อนั้นท่าน มากมาย ฝูงวิหค      กระทายก พวกมา คณานับ
เชื่อข้าเถิด อย่าเพ่อ ฆ่าม้วยดับ         โปรดระงับ โทษา ถึงวางวาย
        นักฝึกเหยี่ยว ครุ่นคิด ก่อนเอื้อนเอ่ย   กระทาเอ๋ย อย่าเลย เจ้าช่างร้าย
แม้เผ่าเชื้อ ทรยศ ช่างไม่อาย         เจ้าอย่าหมาย ให้ข้า วางใจเอยฯ

๕.
        คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
ผู้ทรยศ วงศา มวลญาติมิตร
ใครจักเชื่อ สนิทใจ ร่วมน้ำจิต
ใครคบหา ชีวิต เสื่อมศรีเอยฯ

๖.
มิจฉาจริตสันดาน พาลทรยศวงศา เอาชีวาตนรอด มืดบอดแท้ปัญญา ประดามิตรหักหลัง ใครชังรังเกียจสิ้น ลิ้นกลอกกลิ้งสัจจะ พึงละเว้นชิดใกล้ หากคบท่านอาจได้ แต่ร้ายเข้าตัว เสมอนาฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“ผู้ที่ทรยศแม้แต่กับญาติมิตรของตนเองได้ ย่อมไม่สมควรคบหาอย่างยิ่ง"


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 03 กันยายน, 2556, 01:17:59 PM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
๘.
หมาป่ากับฝูงแกะ



๑.
   ถ้วนหมาป่าเล่ห์ร้าย         อุบายกล
มโนมุ่งแต่ฉ้อฉล            ชั่วช้า
มากเพทุบายกล            หลอกท่าน ลึกไฉน
คูเหลี่ยมใช้แกว่นกล้า         ยิ่งล้ำใครเสมอฯ

๒.
หมาป่าสันดาน            เชี่ยวชาญเล่ห์ใช้
ก่อชั่วเภทภัย               แต่ร้ายแยบยล
สัตว์ป่าน้อยใหญ่            ซึ้งในเกมกล
เช่นหมู่โฉดชน            ช่ำชองก่อร้ายฯ

๓.
หมาป่าโฉดสันดาน            เหลี่ยมเล่ห์ชาญใครรู้สิ้น
เลาะท่องทั่วไพรถิ่น            อาหารกินล่าสัตว์เนื้อ
เจ้าเล่ห์อุบายกล            คล่องฉ้อฉลใช้พร่ำเพรื่อ
สัตว์ไพรต่างหน่ายเบื่อ         ช่างร้ายเหลือเล่ห์หมาไพรฯ

๔.
   กาลครั้งหนึ่ง หมาป่า ผู้เชื่องช้า      ด้วยแพ้วัย แปล้ชรา ขืนสังขาร
ไล่จับเหยื่อ เงื้อง่า ไม่ว่องชาญ          จึงคิดการ แยบยล กลอุบาย
   มาวันหนึ่ง ฆ่าแกะ หลงฝูงเสร็จ      คิดกลเม็ด จับเหยื่อ เบามือง่าย
จึงถลกหนัง ควักกิน ไส้เนื้อกาย          เหลือหัวหนัง เจ้าหมาย ใช้ปลอมตน
   คิดแผนการ ปลอมตัว เข้าฝูงแกะ      เพื่อหวังฆ่า ชำแหละ หนึ่งคืนหน
ไม่ต้องล่า ให้เหนื่อย ได้ลำบน         ไม่ขัดสน อาหาร อีกต่อไป
   ครั้นปลงใจ ใช้แผน เล่ห์ล้ำลึก      คลุมหนังแกะ คักคึก เข้ากลุ่มได้
กระหยิ่มย่อง แอบยิ้ม อยู่ในใจ         เทียวดุ่มเดิน ไขสือ พรางปะปน
   ครั้นตกเย็น คนเลี้ยง ต้อนกลับคอก   ไม่แวกวอก เกาะฝูง ร่วมทางหน
จนเข้าคอก สำเร็จ แผนการตน          สุขใจล้น หมายิ้ม ตากริ่มวาว
   ค่ำวันนั้น คนเลี้ยง อยากกินแกะ      ภริยาแนะ หนังนั้น ตัดเสื้อหนาว
คนเลี้ยงจึง เยื้องย่าง ถือดาบยาว           เลือกหนึ่งแกะ สุ่มเอา ในมืดมัว
   อนิจจา หมาป่า ชะตาขาด         ถึงคราวฆาต ถูกเลือก มาตัดหัว
กงกรรมใด ใครก่อ ย้อนเข้าตัว         ใครคิดชั่ว ย่อมได้ ชั่วตอบเอยฯ

๕.
        คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
คนคิดชั่ว ท่านว่า ย่อมทำชั่ว
ทำสิ่งใด ย่อมคืน กลับย้อนตัว
ใครคิดชั่ว ทำชั่ว ได้ชั่วเอยฯ

๖.
ผู้คิดชั่วนิจสิน อาจินต์ย่อมทำบาป มโนฉาบเวรกรรม ค้อมนำทุรจิต เห็นผิดกลับเป็นชอบ ใครย่อมตอบชั่วคืน ฝืนชะตายากพ้น ชนดั่งเช่นว่านี้ ผู้อื่นย่อมมุ่งชี้ ตอบร้ายคืนเสมอ ท่านนาฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“คนที่คิดชั่ว และทำชั่ว ย่อมจะได้สิ่งชั่วนั้นตอบแทน”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 03 กันยายน, 2556, 01:24:34 PM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
๙.
จุดกำเนิดของทะเลทราย



๑.
        อันมนุษย์สุดหยั่งแท้      มโนจินต์
คิดแต่ฉ้อนิจสิน         ห่อนแก้
โลกีย์พร่ำเพรื่อลิ้น         ข้องดื่ม
เมาหื่นกิเลสแท้         อิ่มแปล้เกียรติกามฯ

๒.
หมู่ชนอาจินต์                 คุ้นชินก่อบาป
สันดานหนาหยาบ         โลกีย์โลภหลง
เบียดเบียนบีฑา         โฉดช้าเนื่องยง
กรรมเวรกำกง         ว่อนว่ายเวียนวนฯ

๓.
มนุษย์มากถ้วนสิ้น         ไม่ยลยินบาปกรรมเวร
เรื่องร้ายต่างถนัดเจน      ฝืนกฎเกณฑ์อยู่เพรื่อพร่ำ
เบียดเบียนพวกกันเอง      ไม่พรั่นเกรงชั่วกระทำ
ก่อบาปอยู่เนื่องซ้ำ         เพียรตอกย้ำสร้างกรรมเวรฯ

๔.
        กาลครั้งหนึ่ง พระเจ้า ทรงสร้างโลก   ล้วนสวยงาม ธารโตรก พฤกษชาติ
เสกเถื่อนภู เดือนดาว ดารดาษ         น้ำไฟลม ดินธาตุ ได้พักพิง
        เมื่อสำเร็จ โลกสวย แสนน่าอยู่      จึงสร้างมนุษย์ คู่หนึ่ง ชายและหญิง
ทรงสำทับ ตรัสห้าม อย่าช่วงชิง         ทุกสรรพสิ่ง แบ่งปัน เอื้ออาทร
        ครั้นเผ่าพันธุ์ มนุษย์นั้น มากมายขึ้น   เริ่มขืนขัด ฝืนสิ้น คำท่านสอน
กิเลสโลภ โลกีย์ ระยำบอน            ทุกหย่อมหญ้า ร่านร้อน ทะเลบาป
        ในครั้งนั้น พระเจ้า ปวดร้าวนัก      จำท่านจัก ตักเตือน ด้วยคำสาป
ผิว่าใคร กำเริบ ผิดจ้วงจาบ             ต้องกำราบ ลงโทษ ให้เข็ดจำ
        คิดดังนั้น จึงเสด็จ มายังโลก      เพื่อล้างโศก บาปชั่ว อันซากซ้ำ
ป่าวประกาศ หากใคร สร้างบาปกรรม         หนึ่งบาปทำ หนึ่งทราย เม็ดร่วงดิน
        ครั้นเสร็จการ พระเจ้า ก็ทรงจาก      มนุษย์โดยมาก หยาบช้า อยู่นิจสิน
ไม่หวาดกลัว ทำบาป คุ้นชาชิน         หนึ่งเม็ดทราย มิถวิล ทำร้ายตน
        ครั้นจำเนียร ผ่านกาล ไปนานเนิ่น      เม็ดทรายนั้น ถมเทิน หลายหลากล้น
ทะเลทราย ก่อเกิด จากบาปชน         จึงทั่วหน ทุ่งทราย มากมายเอยฯ

๕.
        คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
หากทำชั่ว บาปหนา เนิ่นนานเข้า
บาปชั่วนั้น ปรากฏ มิผ่อนเพลา
ยิ่งมากชั่ว เรื่องราว ยิ่งชัดเจนฯ  

๖.
ชนผู้โฉดชั่วช้า กล้าแต่ก่อเรื่องร้าย เนิ่นนานไซร้ทำบาป จ้วงจาบมิรู้สิ้น ทุรายดิ้นก่อพาล อยู่ช้านานมิหยุด ใครฉุดบ่พ้นปลัก บาปหนักมากชั่วแท้ ผู้อื่นรู้ล่วงแล้ ชั่วนั้นยิ่งระบือ ไกลนาฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“ทำชั่วมากๆ ยิ่งนานเท่าไร ก็ยิ่งเห็นชัดขึ้นเท่านั้น”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 04 กันยายน, 2556, 09:48:30 AM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
๑๐.
นกกับมด



๑.
        อันความดีอย่าร้าง      เลิกทำ
อุตส่าห์เพียรมุ่งย้ำ         เนื่องสร้าง
มโนแน่วหนุนนำ         ตั้งมั่น ท่านนา
อย่าเหนื่อยล้าปัดอ้าง      ชั่วแพร้วระบัดสมัยฯ

๒.
คนดีคนชั่ว            ถ้วนทั่วปนเป
คนดีว้าเหว่            มีน้อยอยู่ยิ่ง
คนชั่วมากมาย         ก่อร้ายมากสิ่ง
คนดีเฉยนิ่ง            คนชั่วลำพองฯ

๓.
ความดีไม่มีขาย         ชนอยากได้ตั้งใจทำ
โลกีย์อย่าเกลือกกล้ำ      อวยศีลธรรมนำทางตน
ละเลิกกิเลสไสย         เลี่ยงลี้ไกลอย่าข้องหน
ทำดีเถิดผองชน         ให้โลกล้นแต่คนดีฯ

๔.
   กาลครั้งหนึ่ง คามเขต ถิ่นไพรสี      สัตว์ใหญ่น้อย ถ้อยที ถ้อยอาศัย
ทั่วป่าจึง อบอวล ล้วนน้ำใจ                 ทุกชีวิน สดใส ไร้บีฑา
   มาวันหนึ่ง ทินกร สาดแสงอุ่น      ไร้เมฆเทา วิรุณ จะโถมถา
เจ้ามดน้อย ค่อยไต่ เลาะราวพนา         ใกล้หน้าหนาว เสาะหา อาหารตุน
   มดเลาะเดิน ริมฝั่ง ทะเลสาบ      ดั่งกรรมบาป ก้าวเร่ง อย่างหันหุน
อนิจจา ลื่นไถล เซซุกซุน         ใจว้าวุ่น หล่นน้ำ ร่ำไห้นอง
   ฝ่ายวิหค เหินฟ้า อยู่ใกล้ใกล้      เจ้าใจหาย เห็นมด ตะกายร้อง
คาบใบไม้ ทิ้งน้ำ แล้วเฝ้ามอง         มดเกาะใบ ไม้ว่อง จึงรอดตาย
   มาวันหนึ่ง ถึงคราว วิหคบ้าง      เพลินแต่สาง ร้องเพลง จวบแดดสาย
มีพรานปืน จ้องอยู่ ไม่รู้กาย         มิดูดาย มดคิด ช่วยสกุณา
   เจ้ามดน้อย คิดพลาง ก้าวรีบเร่ง      ใจนักเลง ไต่ขึ้น พรานไพรขา
กัดทันใด เจ็บพราน ร้องออกมา          ตื่นรู้ตัว สกุณา บินลับเอยฯ     

๕.
   คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
ทำสิ่งใด มิช้า ได้เช่นนั้น
เช่นมดนก ทำดี มีให้กัน
ความดีนั้น ย้อนท่าน ตอบแทนเอยฯ
 
๖.
อันสิ่งใดตนทำ ย่อมย้อนนำคืนตอบ ทำชอบย่อมคืนชอบ ชั่วทำมอบผู้ใด ไม่ช้าในตอบคืน อย่าขืนความดีเถิด ย่อมเกิดดีย้อนกลับ เนื่องนับอยู่ไม่สิ้น ชั่วปลักบ่จ่อมดิ้น สุขแท้เสมอสมัย ท่านนาฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“ทำสิ่งใด ย่อมได้สิ่งนั้นตอบแทน”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 04 กันยายน, 2556, 10:07:37 AM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
๑๑.
หมาในกับเจ้าป่า



๑.
        อันสิงโตแกว่นกล้า         ปกครอง
สัตว์ทั่วไพรถ้วนผอง            ใหญ่น้อย   
เคารพยิ่งยกย่อง            เจ้าป่า
ถือค่าแห่งคำถ้อย            ท่านชี้คดีความฯ

๒.
สิงโตเจ้าป่า               ถือค่าอำนาจ
ตัดสินชี้ขาด               เรื่องราวขัดแย้ง
ส่ำสัตว์ทั่วไป               ผิดใดร้ายแรง
สิงห์เจ้าจัดแจง            ลงโทษตามทัณฑ์ฯ

๓.
สิงโตเจ้าพงไพร            กำแหงไกรกำลังมาก
หาสัตว์ใดเทียมยาก            อาจลำบากหากคิดสู้
อำนาจล้นป่ากว้าง            สัตว์หลีกห่างฤทธิ์เดชรู้
คำรามเสียงก้องขู่            ใครไม่อยู่ตื่นหนีพลันฯ

๔.           
        กาลครั้งหนึ่ง เจ้าป่า สิงโตใหญ่      ผู้ปกครอง พงไพร อาณากว้าง
เพียรค่ำเช้า ตระเวน ไม่เว้นวาง          อำนาจสร้าง เหนือใคร ในผู้นำ
        ในครานั้น ฝูงสัตว์ ทั่วไพรสัณฑ์      ต่างคร้ามพรั่น สิงโต อำนาจล้ำ
ข้อพิพาท น้อยใหญ่ สิงโตคำ         พิพากษา ชี้ย้ำ ไม่ดื้อดึง
        มาวันหนึ่ง เจ้าป่า เลือกผู้ช่วย       เพื่ออำนวย ปกครอง ให้ทั่วถึง
จึงเอื้อนเอ่ย หมาใน เจ้าจงพึง         ทำหน้าที่ อันซึ่ง ช่วยควบคุม
        ฝ่ายหมาใน นับถือ และเลื่อมใส      ทั้งคร้ามกลัว เจ้าไพร ผู้สุขุม
เมื่อแรกทำ หน้าที่ เคร่งรัดกุม         ขันแข็งงาน ทุ่มเท ไม่ร่ำไร
        ครั้นนานเข้า หมาใน ก็หายหวาด      ในอำนาจ ศรีศักดิ์ เจ้าป่าใหญ่
จากเคยกลัว หมดเกรง ไม่สนใจ         จากเคารพ แสร้งไฉ อยู่เนืองนิตย์
        เมื่อสรรพสัตว์ ทั้งหลาย เห็นเช่นนั้น   ต่างสงสัย มากครัน เห็นแปลกผิด
จึงถามไถ่ ให้หาย คับข้องจิต          ไม่เบือนบิด หมาใน ไขความจริง
        สหายข้าเอ๋ย ก่อนนั้น ข้ารู้เห็น      ก็เฉกเช่น หน้ากาก ของท่านสิงห์
ผดุงคุณธรรม เลื่อมใส ได้พึ่งพิง          แต่ทุกสิ่ง กลอกกลิ้ง ล้วนหลอกลวง
        ด้วยหลังฉาก เจ้าป่า สันดานหยาบ   ทำชั่วบาป หลากเรื่อง มานานล่วง
ตัดสินใคร โทษผิด สิ้นทั้งปวง         ท่านหนักหน่วง ทำผิด ยิ่งกว่าเอยฯ

๕.
        คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
อันผู้นำ ชั่วช้า คุณธรรมสิ้น
หาผู้ใด ยำเกรง ทั่วแผ่นดิน
ถูกหยันหมิ่น ติฉิน เดียดฉันเอยฯ 

๖.
อันผู้นำชั่วช้า บ้าอำนาจหลงเมา ท่านบ่เอาคุณธรรม ใครบ่ยำเกรงทั่ว ด้วยชั่วแต่ท่านสร้าง ใครอ้างเฝ้าติฉิน นินทาชังเดียดฉัน ถูกหมิ่นหยันต่อหน้า ใครบ่กลัวตีกล้า หมดสิ้นนับถือ ท่านนาฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“ผู้นำที่ไร้คุณธรรม คนก็จะขาดความนับถือยำเกรง”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 04 กันยายน, 2556, 10:16:45 AM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
๑๒.
ห่านอยากเป็นหงส์

๑.
        อันห่านดินต่ำหญ้า         วานวงศ์
เผยอหยิ่งเทียมศักดิ์หงส์         เผ่าฟ้า
บ่เจียมเหล่าเทือกพงศ์         เชื้อห่าน ดินนา
เหิมเห่อชูคอกล้า            เทียบชั้นหงส์ไฉนฯ

๒.
ห่านดินต่ำพงศ์            เห็นหงส์เชื้อฟ้า
คิดเหิมอวดอ้า            อ้างตนเทียมชั้น
วางท่าเลียนหงส์            แต่งองค์เพียรปั้น
ห่านเทียบหงส์นั้น            สูงฟ้าต่ำดินฯ

๓.
ห่านดินค่าต่ำหญ้า            คิดเผยอหน้าเคียงศักดิ์หงส์
วางท่านวยนาดองค์            แต่งประจงวาดกรีดกราย
เหิมเห่อชูคอผยอง            เหยาะเยื้องมองปั้นเฉิดฉาย
ใครเห็นต่างหน้าส่าย         ด้วยไม่คล้ายเช่นจริตหงส์ฯ

๔.           
     กาลครั้งหนึ่ง ห่านหงส์ ร่วมบึงใหญ่      เชื่อมคูคลอง ทอดไกล สู่แม่น้ำ   
ต่างหากิน ฝูงตน ถิ่นประจำ               ไม่รุกล้ำ แยกพันธุ์ พงศ์สกุณ
    มาวันหนึ่ง มีห่าน เริ่มโตสาว         ขนใสขาว พราวสวย เต็มวัยรุ่น
แสนภาคภูมิ ไซ้ขน แพรวละมุน            เทียววายวุ่น วนว่าย อวดรอบบึง
  เจ้าเพลิดเพลิน ว่ายไถล ใกล้ถิ่นหงส์      ให้งวยงง หงส์สง่า ดูน่าทึ่ง
ห่านสาวเพิ่ง พบพาน จึงตะลึง             ชะโงกน้ำ รำพึง กับเงาตน
    ใต้โลกหล้า ขนขาว ของเรานี้         ใช่หมองศรี ต่ำเชื้อ กว่าหงส์ขน
แต่นี้ไป ขอเปลี่ยน ในบัดดล            สู่วงศ์หน หงส์ศักดิ์ ปภัสรา
    คิดดังนั้น ห่านเจ้า ยืดคอเชิด         ปั้นหรูเริ่ด ฝืนเจ็บ ข่มเมื่อยล้า
เหยาะเยื้องย่าง เลียนชั้น หงส์ลีลา          ปั้นวางท่า ทรงศักดิ์ ขืนดื้อดัน
    อนิจจา ห่านนั้น ยังเป็นห่าน         คืนวันผ่าน เมื่อยปวด ท่าวางปั้น
ไม่มีใคร ว่าหงส์ ในยืนยัน               ด้วยเจ้านั้น เชื้อพันธุ์ ห่านดินเอยฯ

๕.
        คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
อันห่านดิน ต่ำค่า วานวงศ์นั้น
คิดเปลี่ยนตน เช่นหงส์ ชั้นผ่องพรรณ
แม้ดึงดัน ท่าปั้น ไม่เหมือนเอยฯ

๖.
ห่านดินเชื้อต่ำหญ้า อวดอ้าคิดเทียมหงส์ วางองค์เชิดคอปั้น ดื้อรั้นเหยาะเยื้องย่าง เลียนต่างหงส์ลีลา ใครนินทาเจ้าเมิน เพลิดเพลินจำแลงจริต เนื่องนิจเผยอเชิดรั้น คิดเทียบหงส์เด่นชั้น เผ่าฟ้าเสมอไฉน ตรองเทอญฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงตัวตนที่แท้จริงของตนได้”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 04 กันยายน, 2556, 10:27:41 AM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
๑๓.
ใครสำคัญกว่า



๑.
   มวลสรรพสัตว์โอ่อ้าง      อวดตน
ใครยิ่งสำคัญล้น            เด่นชั้น
ปั้นตนย่ำเขื่องข่ม            ถ้อยหมิ่น
อันค่าสิ้นถ้วนนั้น            ท่านข้าสำคัญเสมอฯ

๒.
สัตว์ป่าน้อยใหญ่            อาศัยร่วมถิ่น
ต่างล้วนถ้อยชิน            ข่มเขื่องโอภา
ยกตนเหนือท่าน            สำคัญอ้างค่า
หยันหมิ่นนานา            ผู้อื่นต่ำตนฯ

๓.
สรรพสัตว์ทั่วคามไพร            อ้างตนใหญ่เหนือใครผู้
ถ้อยคำสรรเสริญชู               พล่ามเขื่องขู่ข่มเหยียดหยัน
ยกตนสำคัญยิ่ง               ต่างผยองหยิ่งคับไพรสัณฑ์
ห่อนรู้ถ้วนสัตว์นั้น               ล้วนสำคัญเท่าเทียมเสมอฯ

๔.
        กาลครั้งหนึ่ง ส่ำสัตว์ ทั่วไพรสัณฑ์       ต่างเย้ยหยัน อ้างถ้อย ยกท่านข่ม
คิดโอ่ตน ให้ใคร ชื่นนิยม                 ใครอื่นนั้น โง่งม ต่ำเตี้ยดิน
        มาวันหนึ่ง นกยูง และกระเรียน              พร่ำจำนรรจ์ วกเวียน มุ่งข่มลิ้น
ใครสำคัญ สวยสง่า ผ่องโสภิณ                 สองสกุณิน กล่าวอ้าง เข้าทางตัว   
        ดูก่อนสหาย กระเรียน ในตัวเจ้า              ขนสีขาว ดอกเลา ช่างน่าหัว
กิริยา ไม่งาม ดูหมองมัว                    ใช่ยวนยั่ว ข้านี้ พูดความจริง
        นกยูงขา ข้านี้ แม้สีสัน                 ไม่เฉิดฉัน ลวดลาย เลอเลิศพริ้ง
เจ้ารำแพน กรีดกราย อยู่ระวิง                 ต่ำเตี้ยยิ่ง ว่อนพื้น ช่างน่าอาย
        แล้วเยี่ยงนี้ อ้างตน สำคัญไฉน              ข้าบินไกล สูงฟ้า ฟ้อนรำร่าย
เยี่ยงสกุณา อิสรา ท่องนภาลัย                 เจ้ารำแพน กรีดกราย ต่ำดินเอยฯ

๕.
        คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
หามีใคร เด่นกว่า ในทุกเรื่อง
ล้วนสำคัญ เสมอค่า ต่างประเทือง
อย่าวางเขื่อง ยกตน ข่มท่านเอยฯ

๖.
ทุกถ้วนชนทั่วหล้า ใช่สูงฟ้าต่ำดิน พึงยลยินสดับเถิด ล้วนเกิดร่วมชาติภพ นบศักดิ์ศรีเสมอค่า อย่าหลงตนเพ้อพร่ำ อย่าย่ำเหยียบใครอื่น ควรตื่นรู้รอบถ้วน ชนทุกผู้แต่ล้วน ท่านข้าสำคัญ เสมอนาฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“ไม่มีใครดีกว่าใครไปหมดทุกเรื่อง”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 04 กันยายน, 2556, 10:48:32 AM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
๑๔.
เทียนไขคุยโว


๑.
        อันเทียนไขสว่างจ้อย         วูบวาย
ถ้อยหมิ่นสุรีย์ฉาย                       แจ่มหล้า
ข่มแขเด่นดาวราย                       แจ้งกระจ่าง
เที่ยวโอ่อ้างเบ่งท้า                       ห่อนรู้ประมาณตนฯ

๒.
เทียนไขแสงจ้อย               เหิมถ้อยอวดอ้าง
อาทิตย์หนีห่าง               อย่าเทียบแสงตน
แม้ดาวเดือนจ้า               หมองค่าบัดดล
แสงข้ามากล้น               ยิ่งล้ำเหนือสิ้นฯ

๓.
เทียนไขแสงกระจ้อย            โอ่ข่มถ้อยเหลือประมาณ
อาทิตย์แสงโชติฉาน               หรืออาจต้านแสงข้านี้
เดือนดาวพร่างพราวฟ้า            แค่พริบพร่าแต้มราตรี
อวดเขื่องแสงฤทธี               ห่อนรู้ที่ประมาณตนฯ

๔.
        กาลครั้งหนึ่ง เทียนไข อยู่ในบ้าน               ใครแวะผ่าน เยี่ยมพัก จุดสว่างจ้า
ครั้นนานล่วง เทียนใหญ่ ด้วยน้ำตา                ของเทียนหยด ลงมา หุ้มแท่งเทียน
        เมื่อเทียนไข เห็นกาย ตนนั้นใหญ่              ภาคภูมิใจ คุยโอ่ ไม่กระเมี้ยน
อันแสงข้า สว่างไสว ใช่นวลเนียน                 เช่นอื่นเทียน แหร่มหรอย แสงน้อยนิด
        มาวันหนึ่ง มีแขก แวะมาเยี่ยม              เจ้าไม่เจียม อวดโอ่ อ้างแสงฤทธิ์
ชั้นสุรีย์ ดาวเดือน ใช่เบือนบิด                 แสงกระจิด กระจ้อย กว่าข้านัก
        คำเทียนไข โอ่ข่ม อวดเขื่องกร่าง              พลันลมผ่าน หน้าต่าง โชกกระชัก
วูบเดียวแสง เทียนดับ เหนือเชิงปัก               แขกผู้พัก เห็นพลาง ท่านเวทนา
        เทียนไขเอ๋ย อวดแสง โอ่ร้องป่าว               เหนือทินกร เดือนดาว พร่างเวหา
เพียงวูบลม พัดดับ สิ้นฤทธา                 ไม่ประมาณ ตนค่า เจียมตัวเอยฯ

๕.
         คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
จงรู้ค่า ตนนั้น ประมาณไหน
อย่าโอ่อ้าง ข่มท่าน เหนือใครใคร
รู้ประมาณ เจียมใจ เจียมตนเอยฯ

๔.
ชนพึงประมาณตน ยลรู้ค่าศักดิ์ยิ่ง ผยองหยิ่งลำพองเขลา หลงเงารูปมายา น่าเวทนายิ่งนัก กว่าประจักษ์เมื่อสาย หัดอายตัวเจียมนิ่ง ใครหน่ายยิ่งท่านถ้อย ด้วยบ่จริงแต่น้อย เสื่อมสิ้นราศี ท่านเอยฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“จงรู้จักประมาณตัว”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 04 กันยายน, 2556, 11:00:34 AM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
๑๕.
ลิงกับปู


๑.
        อันสันดานคดฉ้อ         แม่ปู
พลิ้วเหลี่ยมเชิงแต้มคู          เล่ห์จ้าง
ลิงถูกหลอกเสียรู้             เลี้ยงลูก ปูนา
ทวงค่าจ้างตอบบ้าง            ดอกเบี้ยทบประดาฯ

๒.
แม่ปูคดฉ้อ               หลอกล่อจ้างลิง
เลี้ยงลูกวุ่นวิ่ง               ปูน้อยดื้อซน
ค่าจ้างเบี้ยวจ่าย            ลิงร้ายเล่ห์กล
กินลูกปูจน               หมดสิ้นถ้วนตัวฯ

๓.
แม่ปูเหลี่ยมเล่ห์ร้าย            คิดหลอกใช้ลิงเปล่าเปล่า
วุ่นเลี้ยงลูกปูเจ้า            เบี้ยวค่ำเช้าค่าแรงจ้าง
ลิงวอกแต้มคูชั้น            รู้ทันกันเชิงไม่ห่าง
ลูกปูจับกินพลาง            แทนค่าจ้างค้างแม่ปูฯ

๔.
        กาลครั้งหนึ่ง แม่ปู กับลิงจ๋อ      ต่างชอบพอ พาที อัธยาศัย
แม่ปูเหนื่อย เลี้ยงลูก ซนวุ่นไว         คิดหลอกใช้ จ้างลิง เลี้ยงลูกตัว
        จึงแสร้งกล่าว ขอร้อง ลิงจ๋อสหาย      เจ้าช่างสบาย ไม่มี ลูกเยี้ยยั้ว
ข้าซิแย่ ลูกมาก อยู่พันพัว            เลี้ยงครอบครัว แสนหนัก ลำบากจริง
        จ๋อเพื่อนเกลอ วานหน่อย เลี้ยงลูกข้า   จ่ายค่าจ้าง อัตรา มากเสียยิ่ง
โปรดรับคำ วานช่วย อย่าประวิง         วอนเพื่อนลิง เห็นใจ ช่วยแบ่งเบา
        เจ้าลิงจ๋อ รับคำ อย่างง่ายง่าย      มีรายได้ ดีกว่า อยู่เปล่าเปล่า
ปูกับลิง ตกลง เสร็จเธอเรา            แม่ปูส่ง ลูกเช้า เย็นรับไป
        เลี้ยงวันแรก แม่ปู รับลูกกลับ      พาไปลับ ค่าจ้าง ไม่จ่ายให้
เจ้าลิงจ๋อ ทีแรก ไม่เอะใจ            วันหน้าคง จ่ายใช้ ไม่สงกา
        ในทุกเย็น ยังเป็น อยู่เช่นนั้น       เจ้าจ๋อพลัน ฉุกคิด ว่าเสียท่า
ต้องเอาคืน เบี้ยจ้าง ที่ค้างคา         กินลูกปู ต่างค่า เลี้ยงดูเอยฯ

๕.
        คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
คนคดโกง นั่นหนา จะบอกให้
ในไม่ช้า ถูกโกง คืนกลับไป
หนักยิ่งกว่า โกงไว้ ทีแรกเอยฯ

๖.
เหลี่ยมเล่ห์ร้ายโฉดชน ฉ้อฉลปลิ้นปล้อนหลอก ในนอกล้วนทุรจิต คิดเอาเปรียบแต่ได้ เที่ยวหลอกไว้ผู้อื่น ลมลิ้นลื่นคารม สมประโยชน์ตนล่อ บ่เนิ่นเขาจับได้ ตอบท่านคืนนั่นไซร้ ชดใช้ทบสม ท่านนาฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“คนที่คดโกง ท้ายสุดก็จะโดนเขาโกงคืนมากเสียยิ่งกว่าที่โกงเขาไป”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 04 กันยายน, 2556, 11:13:29 AM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
๑๖.
ลูกปูกับแม่ปู


๑.
        อันปูเปี้ยวเผ่าเชื้อ               นาทะเล
โย้ป่ายเย้ขาเก                  เยี่ยงนั้น
สอนปูบ่เดินเฉ                  ก้าวเที่ยง ตรงฤา
ปูว่านวงศ์ใช่รั้น                  ไต่เบี้ยวนิสัยฯ

๒.
เผ่าเชื้อพงศ์ปู             ล้วนรู้ไต่เบี้ยว
ลัดเดินดุ่มเที่ยว                  โย้เย้เฉไฉ
สอนปูเดินเที่ยง                  พึงเลี่ยงรู้ไว้
แต่ไหนแต่ไร                     ปูไต่เบี้ยวสิ้นฯ

๓.
เผ่าเชื้อว่านวงศ์ปู                 ใครล้วนรู้ไต่เบี้ยวเสมอ
ไต่ตรงไม่พบเจอ                 ด้วยปูเธอล้วนขาเก
สอนปูให้เดินตรง                 ปูยังคงไต่โย้เย้
ปูนาปูทะเล                    ล้วนไต่เฉอยู่นิสัยฯ

๔.
        กาลครั้งหนึ่ง แม่ปู มีลูกอ่อน    ไม่อนาทร กล่อมเลี้ยง เฝ้าฟูมฟัก
เลาะริมเลน ชายหาด ถิ่นพำนัก      เฝ้าถนอมรัก ลูกน้อย วัยน่าชัง
        เช้าวันหนึ่ง แม่ปู เดินนำหน้า   ฝูงลูกปู สาระพา เฮโลหลัง
แม่สังเกต ลูกไต่ โย้เย้จัง         จึงสอนสั่ง ลูกจ๋า เดินให้ตรง
        แม้แม่ปู ดุด่า สักเท่าไหร่      ลูกปูยัง เฉไต่ คล้ายเลือนหลง
แม่สำทับ กี่ครั้ง ลูกปูคง         ไม่พะวง เดินส่าย ป่ายเฉทาง
        โดนแม่ด่า ลูกปู ชักหงุดหงิด   จึงสะกิด บอกแม่ ทำตัวอย่าง
เดินให้ตรง จักดู ตาไม่วาง          ทุกก้าวย่าง ไต่ตรง ตามแม่เอยฯ

๕.
        คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
ก่อนว่าใคร นั่นหนา คิดเสียบ้าง
ดูตัวเอง เตือนตน ให้ถูกทาง
เป็นเยี่ยงอย่าง ก่อนอ้าง สอนสั่งเอยฯ
 
๖.
ก่อนว่าใครคิดบ้าง อย่ากล่าวอ้างแล้งลม สมควรวางตัวตน ทุกคนได้รู้เห็น เป็นเยี่ยงอย่างชัดเด่น เช่นแม่ปูนั่นเล่า เผ่าเชื้อปูขาเก ปูทะเลปูนา นานมาล้วนไต่เบี้ยว คดเลี้ยวไม่ตรงเที่ยง เยี่ยงเช่นปูว่านเครือ ยากเหลือสอนลูกปู ให้หนูเดินตรงทาง เฉอย่างปูไต่ก้าว เบี้ยวทุกครั้งสืบเท้า เช่นนั้นนิสัย ฉะนี้ฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“ก่อนจะว่าผู้อื่นนั้น ให้ดูตัวเองเสียก่อน”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 04 กันยายน, 2556, 11:32:39 AM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
๑๗.
ลูกแพะปากเก่ง


๑.
        ลูกแพะขลาดเก่งกล้า      ฝีปาก
ร้องด่าเย้ยถางถาก                    แกว่งถ้อย
หลังคาหลบสูงยาก                    ปีนป่าย ถึงนา
หมาป่าบ่แต่งสร้อย                    ต่อล้อทุ่มเถียงฯ

๒.
คารมคมถ้อย                       แต่งร้อยถางถาก
เก่งตีฝีปาก                       ตัวนั้นเร้นซ่อน
หากเจอซึ่งหน้า                    เงียบท้าเข่าอ่อน
เก่งแต่ปากบอน                    ลิ้นข่มอ้างเขื่องฯ

๓.
แพะขลาดฝีปากกล้า                 ร้องเย้ยด่าร้ายเราะราน
หลบบนหลังคาบ้าน                    ทำกล้าหาญร้องท้าสู้
หมาป่าอยู่เฉยนิ่ง                    หาเกรงกริ่งด้วยตนรู้
เงียบเฉยเนารั้งอยู่                    จ้องมองดูไม่ต่อคำฯ

๔.
   กาลครั้งหนึ่ง ชาวนา ซื้อลูกแพะ      เดินเตาะแตะ เลี้ยงไว้ คอกใกล้บ้าน
หวังเติบโต นมเจ้า ได้เจือจาน         มื้ออาหาร อิ่มท้อง ชีพประทัง
   ในย่านนั้น หมาป่า จอมเจ้าเล่ห์      เทียววนเวียน เตร็ดเตร่ ไม่หย่อนยั้ง
ปองสัตว์เลี้ยง ของใคร ไม่ระวัง          คมเขี้ยวฝัง ฟัดจม ถึงวายปราณ
   มาวันหนึ่ง ลูกแพะ เที่ยวซนซุก       ปีนขึ้นบุก หลังคา ชาวนาบ้าน
เห็นหมาป่า แวะวน แสนรำคาญ         ตะโกนด่า ฉาดฉาน ไม่หวั่นใด
   เจ้าหมาป่า ใจบาป ช่างหยาบช้า      เจ้าหมาชั่ว ตัวข้า หากลัวไม่
เทียวเลาะบ้าน นายข้า ไม่วางใจ         จงออกไป ไม่งั้น ได้เห็นดี
   ลูกแพะน้อย ทำเก่ง ฝีปากกล้า      ตะโกนด่า ไม่หยุด ก่นบัดสี
ด้วยรู้แน่ หมาป่า ไม่ย่ำยี            เพราะอยู่ที่ ปลอดภัย ไม่นำพา
   เจ้าหมาป่า มองแพะ พลันเอื้อนเอ่ย   เจ้าแพะเหวย ด่าเข้า เอาเถิดหนา
ตราบใดเจ้า หลบพ้น บนหลังคา         ตีฝีปาก เก่งกล้า ตามสบายเอยฯ

๕.
        คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
อันคนขลาด กล้าตี ฝีปากเก่ง
เพราะอยู่ที่ ปลอดภัย ไม่ยำเกรง
จึงอวดเบ่ง ทายท้า ไม่กลัวเอยฯ

๖.
คนขลาดฝีปากกล้า ถ้อยท้าคารมถ่อย พล่ามพล่อยเราะร้ายลิ้น รู้สิ้นตนปลอดภัย อวดเบ่งไยไพเย้ย วะเว้ยอยู่โวยวาย หมายย่ำหยันใครผู้ ถ้อยขู่รู้แกว่งท้า ฝีปากอวดเบ่งกล้า ขลาดแท้นิสัย ท่านเอยฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“คนขลาดจะเก่ง เฉพาะในที่ที่ตนปลอดภัย”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 04 กันยายน, 2556, 11:49:57 AM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
๑๘.
แร้งกับหมาป่า


๑.
        หมาป่าเพียรแกร่วเฝ้า      ทองคำ
มโนพร่ำอวยค่าล้ำ            สิ่งแก้ว
แหนหวงอยู่เช้าค่ำ            รั้นโง่
แร้งกระหยิ่มบ่แคล้ว            อิ่มเนื้อหมาเขลาฯ

๒.
หมาป่าน่าขำ               ทองคำเพียรเฝ้า
บ่ายค่ำคืนเช้า            กิ่วไส้อดโซ
อาหารไม่กิน               โหยลิ้นรั้นโง่
ผ่ายผอมหัวโต           ชีพม้วยวางวายฯ

๓.
หมาป่าเฝ้าทองคำ            ค่ามากล้ำด้วยหมารู้
ค่ำเช้าแกร่ววุ่นอยู่            เกรี้ยวเห่าขู่ใครกรายใกล้
อาหารยอมอดหิว            ท้องไส้กิ่วไม่สนใจ
สุดท้ายชีพวางวาย            ประโยชน์ไร้เขลานักยิ่งฯ

๔.           
        กาลครั้งหนึ่ง มีหมา เที่ยวจรจัด      แสนอัตคัด อาหาร ข้าวปลาเนื้อ
ด้วยไม่มี เจ้าของ คอยจุนเจือ          อนาถเหลือ ผ่ายผอม เทียวแรมรอน
        มาวันหนึ่ง เจอกอง กระดูกมนุษย์            หมานั่งทรุด ดีใจ โห่เห่าหอน
ด้วยโชคดี พบศพ คนตายนอน          เจ้าหมาจร คุ้ยซาก อยู่วุ่นวาย
        ทันใดนั้น หมาเจอะ ทองคำแท่ง      เปล่งวับแสง เข้าตา เจ้าใจหาย
ด้วยรู้ว่า ทองนั้น ค่ามากมาย         มนุษย์ทั้งหลาย บูชา คุณค่าทอง
        เจ้าหมาจร นอนเฝ้า ทองคำนั้น      หลายคืนวัน แหนอยู่ ด้วยหวงของ
โง่รั้นหลง ทองคำ ค่าตนปอง         ในที่สุด หมาต้อง อดโซตาย
        ฝ่ายเจ้าแร้ง เฝ้าดู อยู่ไม่ห่าง      เมื่อหมาตาย ปีกกาง ร่อนที่หมาย
จิกกินเนื้อ หมานั้น อิ่มสบาย         แล้วยืดกาย รำพึง ถึงหมาจร
        โอ้อนิจจา ชะตา เจ้าหมาโง่         ทนหิวโซ จนตาย เฝ้าทองก้อน
หวงในสิ่ง ไร้ค่า มิสังวร            จึงเดือดร้อน ไส้กิ่ว อดตายเอยฯ

๕.
         คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
อันคุณค่า สิ่งของ ต้องประสงค์
สมประโยชน์ กับใคร ในเจาะจง
กับบางใคร ฝุ่นผง ไร้ค่าเอยฯ 

๖.
ทองคำธาตุควรแก้ว ล้วนแล้วมนุษย์ให้ค่า หมาป่ารั้นโง่เฝ้า ประโยชน์เจ้าหามี อัญมณีค่าล้ำ ย้ำมายามนุษย์สร้าง อ้างอิงราคาของ ปองยิ่งแย่งยุดยื้อ ตีค่ากำหนดซื้อ มนุษย์รู้ประโยชน์ควร ฉะนี้ฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“ของบางอย่างก็มีประโยชน์เฉพาะกับคนบางคน”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 04 กันยายน, 2556, 11:58:53 AM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
๑๙.
ความเศร้ากับความยินดี


๑.
        อันสุขทุกข์หม่นเศร้า         ระคน
โศกคู่ยินดีปน                        คละเคล้า
พึงชนอย่าแพ้กล                    พลั้งพ่าย อารมณ์นอ
สุขบ่สมทุกข์เหย้า                    ว่ายฟ้อนเวียนวนฯ

๒.
สุขทุกข์คู่กัน                จาบัลย์ยินดี
ชนใดพ้นหนี             ช่วยชี้ทางช่อง
พึงควรรู้เท่า                ทุกข์เศร้าโศกหมอง
หรือสุขสมปอง               เนื่องข้องสัมพันธ์ฯ

๓.
ธรรมดาในหล้าโลก            ทุกข์คละโศกล้วนอยู่มี
สุขสันต์และยินดี            ถ้วนฤดีล้วนต้องการ
สุขทุกข์มายายิ่ง            ในสรรพสิ่งห้วงจักรวาล
ผันเวียนตามกฎกาล                 พึงรู้ทันธรรมดาโลกฯ

๔.
        กาลครั้งหนึ่ง มีชาว ประมงบ้าน      คร่ำเชิงชาญ หาปลา ออกเรือหมู่
ปลาทะเล น้อยใหญ่ ตามฤดู         ลากอวนกู้ หากิน ชาวถิ่นเล
        ในวันไหน ออกเร่ ระลอกคลื่น      ปลาดกดื่น ยินดี ต่างร้องเห่
หากวันใด เงียบเหงา ปลาทะเล         พาลโยเย เศร้าโศก อกทุกข์ตรม
        มาวันหนึ่ง ลงอวน ไปสักพัก      ตอนกู้ขึ้น หนักนัก ต่างสุขสม
คงได้ปลา มากมาย ชื่นอารมณ์           ปั้นหน้าเคร่ง กูก้ม อวนขึ้นเรือ
        ครั้นกู้เสร็จ อวนแผ่ ตาแลจ้อง      ต่างเศร้าหมอง เห็นปลา ปั้นหน้าเบื่อ
ด้วยอวนหนัก เพราะหิน ดินเลนเจือ      ปลาร้างเรือ ท้อแท้ กำลังใจ
        ท่านผู้เฒ่า ชาวเล เห็นเช่นนั้น      เอ่ยปลอบขวัญ ลูกเรือ เตือนสติให้
เจ้าคร่ำครวญ เศร้าโศก กันอยู่ไย         โชคเคราะห์ไซร้ ดีร้าย คู่กันเอยฯ

๕.
        คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
อันสุขทุกข์ ชะตา เคราะห์กรรมนั้น
เคล้าระคน ปนเป อยู่คู่กัน
มีทั้งทุกข์ สุขสันต์ คู่กันเอยฯ

๖.
สุขทุกข์ยินดีโศก อยู่คู่โลกแต่บรรพ์ สุขผันพลันโศกเข้า เร้ารุมผลาญวิญญา ทุกข์เวทนาผายพ้น ล้นยินดีขยับแทน แก่นแกนสัจธรรม นำทุกสรรพสิ่งให้ ไหลเคลื่อนทุกข์สุขไซร้ คละเคล้าระคน ฉะนี้ฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“ความทุกข์และความสุขเป็นของคู่กัน”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 04 กันยายน, 2556, 12:22:56 PM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
๒๐.
อิฐกับครั่ง

๑.
        อันอิฐเผาแกร่งก้อน         ทานทน
ไฟเคร่งเผาร้อนข้น            ผึ่งแห้ง
อันเนื้อครั่งไฟลน            แหลกร่าง เหลวเฮย
อิฐครั่งเผยธาตุแจ้ง            ต่างเนื้ออ่อนแข็งฯ

๒.
ธาตุเนื้ออ่อนแข็ง            สำแดงชัดคู่
เหลวน้ำมีอยู่               แข็งไม้เช่นกัน
ต่างแก่นแผกธาตุ            อากาศต่างชั้น
ดินลมไฟนั้น               ย่อมต่างน้ำเหลวฯ

๓.
อิฐครั่งต่างเนื้อธาตุ            แตกต่างญาติในอ่อนแข็ง
อิฐก้อนทานทนแกร่ง         เผาไฟแรงผึ่งแดดไล้
ครั่งเนื้อนั้นเปราะอ่อน         ถูกไฟร้อนเหลวหลอมไหม้
อิฐครั่งเนื้อนอกใน            แก่นธาตุไซร้ล้วนต่างกันฯ

๔.
   กาลครั้งหนึ่ง อิฐครั่ง สองเพื่อนสหาย   ไม่เกี่ยงบ่าย โอภา ด้วยน้ำมิตร
มักพูดคุย ปรับทุกข์ อยู่เนืองนิตย์         ในต้องจริต รักใคร่ ผูกสัมพันธ์
   ปัญหาหนึ่ง เพื่อนครั่ง มักเปรยเสมอ   อิฐเพื่อนเกลอ ทนทาน มิแตกบั่น
ผิดครั่งข้า เจอแรง กระแทกพลัน         เปราะเหลือนั่น แตกยับ ป่นผงไป
   เรื่องแข็งทน ปัญหา ร่วมทุ่มเถียง      ยากหลีกเลี่ยง ถกกัน หัวข้อใหญ่
ด้วยครั่งเจ้า เพียรถาม ให้รู้นัย          อยากแข็งเนื้อ นอกใน คล้ายอิฐเกลอ
   มาวันหนึ่ง เจ้าครั่ง ก็แจ้งจิต      บอกเพื่อนอิฐ เธอแข็ง สม่ำเสมอ
ด้วยเผาไฟ ตากแดด ผึ่งแห้งเออ         ฉะนี้เธอ จึงแกร่ง ทั่วแผ่นทน
   จึงครั่งนั้น เดินไป ที่เตาเผา         มิสนใจ รากเหง้า ในเหตุผล
กระโดดเข้า เตาเผา ไฟเปลวลน         ในบัดดล เนื้อตน ละลายเอยฯ

๕.
    คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
ในบางสิ่ง คุณค่า ประโยชน์แสน
เฉพาะบางใคร เจาะจง ใช่ทั้งแดน
หากใครแม้น ฝืนใช้ วอดวายเอยฯ

๖.
อันประโยชน์ใดสิ่ง ยิ่งค่าล้นมากใด เฉพาะใครซึ่งควรคู่ สิ่งอยู่กับท่านนั้น พึงอย่ารั้นหมายได้ อาจไร้ประโยชน์แท้ แม้ได้มาครอบครอง หมองทุกข์แต่คับข้อง ประโยชน์บ่สอดคล้อง ท่านใช้อาจวาย แท้เอยฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“บางสิ่งเป็นประโยชน์กับผู้อื่น แต่อาจเป็นอันตรายกับเรา”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 06 กันยายน, 2556, 03:42:17 PM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
๒๑.
ฝูงแกะกับหมาเลี้ยงแกะ


๑.
        อันงานหน้าที่นั้น         สำคัญ
ควรเร่งตั้งมโนมั่น            ถั่งสู้
ตรำเคร่งอย่าเบือนผัน         ทิ้งเลี่ยง
ผิท่านหลบเกี่ยงอู้            ห่อนรู้เสร็จไฉนฯ

๒.
การงานหน้าที่            บ่งชี้ค่าชน
บันดาลบันดล                    โภชผลดอกงาน
ดอกเหงื่อหลั่งอาบ             กำซาบซึ้งซ่าน
ดอกแรงแบ่งบาน             ไม่นานเผยผลฯ

๓.
อาชีพงานหน้าที่             ชนศักดิ์ศรีงามคุณค่า
อย่าหน่ายและเบื่อล้า          ทุ่มกายาเต็มแรงพลี
ค่าชนอยู่ที่งาน             ดลบันดาลสร้างชีวี
ชนใดงานเลี่ยงลี้             ย่อมเสื่อมศรีคุณค่าควรฯ

๔.           
        กาลครั้งหนึ่ง ฝูงแกะ กับหมาเฝ้า      ทุกค่ำเช้า หมาต้อน ตะล่อมเลี้ยง
จากคอกขัง ระวัง เจ้ามองเมียง         แกะกินหญ้า ไม่เกี่ยง เคร่งตรวจตรา
        ด้วยศัตรู ฝูงแกะ มีมากยิ่ง         ทั้งหมาใน จิ้งจอก เสือนักล่า
อีกงูเงี้ยว สัตว์ร้าย มากเหลือคณา         ตลอดเวลา หมาเฝ้า เช้าจรดเย็น
        แกะหนึ่งคิด น้อยเนื้อ ต่ำใจนัก      ในประจักษ์ หมาเฝ้า เห่าขู่เต้น
ตะล่อมต้อน พวกเรา คล้ายจองเวร       มองไม่เห็น คุณค่า หมาเลี้ยงแกะ
        ตัวแกะนั้น คิดเพียง ตนประโยชน์      ปวงโภชผล ขนนม เนื้อชำแหละ
หมายามนั้น วิ่งวน แต่ข้องแวะ          ไล่ต้อนแกะ น่าเบื่อ เหลือรำคาญ
        ซ้ำชาวนา ลำเอียง อคติเหลือ      แสนน่าเบื่อ ให้กิน หญ้าหยาบกร้าน
เทียบหมายาม เลี้ยงหรู เลิศพิสดาร       ตักใส่จาน ข้าวเนื้อ อาหารดี
        คำแกะบ่น ลือลาม ไปทั่วฝูง      และชักจูง เพื่อแกะ ให้เลี่ยงลี้
กิจการใด ชาวนา ล้วนมากมี          ทุกหน้าที่ งดพลัน เถอะพวกเรา
        หมาเลี้ยงแกะ ได้ยิน ข่าวลือนั้น      จึงเอ่ยเอื้อน อย่ารั้น เลยพวกเจ้า
งานหน้าที่ ข้านั้น ไม่บันเบา         ตั้งแต่เช้า เที่ยงบ่าย ไปอัสดง
        ต้องระแวด ภัยร้าย สุนัขป่า         สัตว์นักล่า เนื้อเจ้า จ้องประสงค์
อีกคอยต้อน ให้เดิน เลี่ยงชัฏดง          รวมเข้าฝูง อยู่คง ไม่หลงทาง
        ครั้นฝูงแกะ ได้ฟัง คำหมาเฝ้า      รู้รูปเค้า หน้าที่ สิ้นทุกอย่าง
จึงเลิกคิด น้อยเนื้อ ปล่อยใจวาง         ไม่อางขนาง หน้าที่ หมาเลี้ยงเอยฯ

๕.
        คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
งานหน้าที่ ของตน ต้องมุ่งมั่น
อย่าคอยแต่ จับผิด นินทากัน
งานต่างทำ สุขสันต์ ทุกวันเอยฯ   

๖.
งานหน้าที่สำคัญ เพียรขยันอย่าเกี่ยงอู้ ผู้ใดเลี่ยงเกียจคร้าน คิดต้านแต่หลีกหลบ ใครไม่คบรังเกียจ เบียดแรงใครทุกครา คอยนินทาจับผิด เบือนบิดร้อยหมื่นอ้าง ผองเพื่อนต่างหลีกร้าง หวั่นร้ายกรายถึง ฉะนี้ฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“ทุกคนก็มีหน้าที่ จงทำหน้าที่ของตนเอง ดีกว่าเอาแต่คอยจับผิดผู้อื่น”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 06 กันยายน, 2556, 03:53:41 PM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
๒๒.
นกกระเรียนกับหมาจิ้งจอก


๑.
        อันน้ำจิตถั่งล้น         รื่นหทัย
รินฉ่ำชื่นหลั่งไหล            ไป่สิ้น
น้ำมิตรห่อนเสื่อมไร้         ยั้งอยู่
ผิเนื่องนิจปล้อนปลิ้น           เพื่อนพ้องลี้ไกลฯ

๒.
น้ำจิตน้ำใจ               หลั่งสายถั่งล้น
มอบมวลหมู่ชน            ใสจิตมิตรแท้
น้ำใจเร่งสร้าง                    อย่าอ้างข้อแม้
มุ่งรินให้แต่               หวังผลตอบตนฯ

๓.
มิตรภาพอันใสจริต            มอบมวลมิตรอย่ารู้หน่าย
ถั่งล้นงามรวงสาย            ดับกระหายผู้ได้รับ
น้ำมิตรควรรักษา            หอมคุณค่าคณานับ
น้ำใจพร่างวามวับ            ย้อนคืนกลับผู้ให้เสมอฯ

๔.
        กาลครั้งหนึ่ง ป่าใหญ่ มากสรรพสัตว์   ต่างถือสัตย์ ปรองดอง พึ่งอาศัย
แต่ใช่ว่า ทั้งหมด จะจริงใจ            มีมากมาย หน้าไหว้ หลังหลอกจริต
        ในป่านั้น กระเรียน และจิ้งจอก      แม้เพื่อนกัน กลับกลอก อยู่เนืองนิตย์
อันน้ำใจ ใสจริง ล้วนเบือนบิด         ต่างตนคิด คดฉ้อ เพทุบาย
        มาวันหนึ่ง จิ้งจอก เชิญกระเรียน     ไปเยี่ยมเยียน บ้านตน หลังคล้อยบ่าย
เลี้ยงอาหาร เต็มอิ่ม กินให้สบาย          กระเรียนสหาย รับเชิญ ด้วยยินดี
        ครั้นถึงบ้าน งานเลี้ยง จิ้งจอกจัด      ให้เคืองขัด กระเรียน มากเหลือที่
จานอาหาร แบนแบ แสร้งย่ำยี         แสร้งไขสือ ชวนชี้ ร่วมวงกิน
        อันกระเรียน ปากคอ นั้นยาวแสน      กินจานแบน ไม่ได้ ใครรู้สิ้น
เจ้าจิ้งจอก เล่ห์ร้าย ล้วนคุ้นยิน         จึงมิถวิล กินแทน จนหมดจาน
        แล้ววันหนึ่ง กระเรียน เอาคืนบ้าง      ชวนจิ้งจอก ย้อนทาง กินเลี้ยงบ้าน
จิ้งจอกเจ้า ครุ่นคิด อยู่ไม่นาน         ตกปากขาน รับคำ ไม่ร่ำไร
        ครั้นจิ้งจอก ถึงบ้าน กระเรียนจัด      ให้เคืองขัด ภาชนะ อาหารใส่
ด้วยขวดคอ ยาวยื่น แคบเล็กไป         กระเรียนไซร้ ได้ที กินแทนเอยฯ

๕.
        คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
ทำสิ่งใด มิช้า ได้สิ่งนั้น
ทำใครอื่น อย่างไร เขาแก้พลัน
ย้อนเกล็ดย้อน เช่นกัน ตอบท่านเอยฯ

๖.
สุจริตชนพึงคิด เนื่องนิตย์ปฏิบัติ รู้ชัดสิ่งใดควร อย่าบ่ายผวนเบือนบิด คิดปองแต่ประโยชน์ เช่นโฉดชนเอาเปรียบ ย่ำเหยียบหยันหมิ่นมิตร ฉลจิตอยู่ค่ำเช้า ปองแต่ประโยชน์เจ้า เพื่อนรู้ยอมไฉน ท่านเอยฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“เราปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างไร เขาก็ทำกับเราเช่นนั้น”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 06 กันยายน, 2556, 04:01:32 PM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
๒๓.
ความจนปัญญาของโลมา


๑.
        อันสิงโตใหญ่ค้ำ         พงพนา
ปองคู่เจ้าโลมา            ฉลาดล้ำ
สองสหายต่างมรคา            คล้องคู่ เพื่อนนา
หนึ่งอยู่ป่าอีกน้ำ            ช่วยค้ำประโยชน์ไฉนฯ

๒.
สิงโตโลมา               คบค้าฉันมิตร
กฎเกณฑ์ฝืนผิด            คบไปไร้ค่า
สิงโตอยู่ดง               น้ำพงศ์โลมา
หากเกิดปัญหา            ห่อนได้กูลเกื้อฯ

๓.
สิงโตปกครองไพร            คบเพื่อนในเจ้าโลมา
ไร้แท้ประโยชน์ค่า            เจ้าคบค้ามิตรสนิท
หากใครประสบร้อน            ไม่ช่วยผ่อนเลยสักนิด
น้ำป่าต่างทางทิศ            ไม่เกื้อชิดประโยชน์ใครฯ

๔.
        กาลครั้งหนึ่ง สิงโต เจ้าแห่งป่า      เขี้ยวเล็บคม สง่าศรี กล้าห้าวหาญ
ส่วนโลมา ถือดี ปัญญาชาญ         ทั่วชลธาร ปลาปู ต่างรู้จัก      
        มาวันหนึ่ง โลมา อาบแดดเล่น      สิงโตเห็น จึงปรี่ เข้าทายทัก
โลมาจ๋า สองเรา สมานสมัคร         ผูกสัมพันธ์ เพื่อนรัก ร่วมน้ำมิตร
        ด้วยข้านั้น เป็นใหญ่ เหนือไพรถิ่น    ชเลสินธุ์ เจ้าเลิศ เรืองไกรวิทย์
เถิดสองเรา คบหา อย่าเบือนบิด         ชั้นสหายสนิท ประโยชน์ นั้นมากมี
        ฝ่ายโลมา ฟังความ เห็นตามถ้อย      จึงเออออ เห็นคล้อย ไปตามที่
คำสิงโต เอื้อนเอ่ย เผยวจี             ต่างยินดี ผูกเกลอ ร่วมสาบาน
        ครั้นจำเนียร เนิ่นผ่าน ไม่นานนัก       เจ้าสิงโต เพื่อนรัก บุกถึงย่าน
คุ้งสาคร โลมา เริงสำราญ            ร้องไหว้วาน เกลอเอ๋ย ท่านฟังคำ
        ด้วยวัวเถื่อน เกเร พาลนิสัย      ก่อเภทภัย กำแหง ล่วงรุกล้ำ
อาณาเขต ถิ่นข้า อยู่ประจำ                 ถึงห้ำหั่น ประลอง แกร่งกำลัง
        สู้กันอยู่ หลายครา ไม่รู้ผล         ข้าจึงด้น มาหา ด้วยความหวัง
แม้ได้เจ้า อีกแรง อาจพอยัง         ล้มวัวป่า ฤทธิ์คลั่ง ถึงม้วยวาย
        โลมาฟัง เกลอแก้ว สิงโตป่า      พลางส่ายหน้า ตอบคำ สิงห์สหาย
อันข้าท่าน สาบาน ฉันเพื่อนตาย         เพื่อนได้ทุกข์ ต่างหมาย ช่วยเหลือกัน
        แต่ครั้งนี้ ฟังเหตุ อาเพศร้าย      ข้าลำบาก ย้ายย่าง รกไพรสัณฑ์
อันโลมา อาศัย ห้วงชลธาร            มิอาจหนุน เกื้อท่าน สู้วัวเอยฯ

๕.
        คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
สิงห์อยู่ป่า โลมา อาศัยน้ำ
ท่านฝืนกฎ ธรรมชาติ ต้องระกำ
หนึ่งอยู่น้ำ อีกป่า น่าขันเอยฯ

๖.
ธรรมชาติรังสรรค์สร้าง อิงอ้างกำหนดเกณฑ์ จัดเจนแผกต่างสิ่ง หยิ่งสิงห์อยู่เถื่อนถ้ำ น้ำนั้นของโลมา สองปรารถนาคบมิตร ผิดฝืนธรรมชาติกฎ กำหนดชัดป่าน้ำ สิงห์โลมาต่างล้ำ ช่วยเกื้อประโยชน์ไฉน เพื่อนเอยฯ

๗.                    
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“เราไม่สามารถฝืนธรรมชาติของเราได้”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 06 กันยายน, 2556, 04:10:20 PM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
๒๔.
นกยูงผู้จองหอง


๑.
        มยุระหยิ่งเชื้อ         ทรนง
ฟ้อนร่ายรำแพนองค์             อวดฟ้า
ผยองศักดิ์ค่ายูงพงศ์          ยศยิ่ง ท่านเฮย
เย้ยหมิ่นสกุณอื่นหญ้า          ต่ำต้อยธุลีดินฯ

๒.
ยูงหยิ่งเชื้อพงศ์             อวดองค์รำแพน
หมิ่นนกหมื่นแสน             ต่ำเชื้อเผ่าดิน
เริงฟ้อนรำร่าย             ปีกว่ายโสภิณ
อวดโอ่อาจินต์             เผ่าเชื้อนกฟ้าฯ

๓.
นกยูงสำอางองค์            หยิ่งทะนงเผ่าเชื้อฟ้า
รำแพนวาดลีลา            เย้ยปักษาเพื่อนสกุณ
หมิ่นหยามนกอื่นสิ้น            ค่าต่ำดินแพรกสกุล
ถือตนไม่ชิดคุ้น            อยู่หมกมุ่นหลงรูปตนฯ

๔.
   กาลครั้งหนึ่ง นกยูง ผู้จองหอง              ลำพองตน หยิ่งผยอง ชั้นหงส์ศักดิ์
เหยียดเพื่อนสกุณ ร่วมพงศ์ ต้อยต่ำนัก              ค่ำเช้ามัก กรีดกราย ร่ายรำแพน
   มาวันหนึ่ง นกยูง ผู้เลอสง่า                 วาดท่วงท่า ปั้นจริต งามเหลือแสน
เหนือลานดิน โดดเด่น กลางดงแดน              ฟ้อนรำแพน เริงร่าย อวดเพื่อนพงศ์
   ในครานั้น งูใหญ่ พันไม้กิ่ง                 อยู่ไม่ไกล แอบนิ่ง ใจประสงค์
เนื้อนกยูง มื้อนี้ เจ้าเจาะจง                    ค่อยเลื้อยลง คืบใกล้ มยุรา
   ไม่ไกลนั้น กระจิบ ตัวกระจ้อย              เห็นงูใหญ่ จ้องคอย คิดหมายฆ่า
จึงส่งเสียง เตือนไพร อยู่โกกา                 นกยูงเฉย หมิ่นว่า อิจฉาตน
   กระจิบน้อย วุ่นวาย เตือนหลายครั้ง           นกยูงยัง รำแพน อวดปีกขน
กระจิบเจ้า เร้าเสียง อยู่ลานลน                  แต่ไร้ผล งูฉก ยูงตายเอยฯ

๕.
   คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
มยุรา หยิ่งผยอง ลำพองศักดิ์
เฉกเช่นคน ทะนงตน อนาถนัก
สุดท้ายมัก สิ้นศักดิ์ หายนะเอยฯ
 
๖.
มยุราหยิ่งศักดิ์ ทะนงนักเชื้อฟ้า รำแพนท้าอวดผยอง จองหองเทียวหยามหมิ่น ทั่วถิ่นพงศ์ปักษา เจรจาหยันถ้อย ต่ำต้อยกว่าศักดิ์เจ้า อื่นนกเร้าเร่งร้อง เตือนเหตุงูนิ่งจ้อง ฉกเจ้าฟังไฉน ท่านเอยฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“ความหยิ่งผยองเป็นเหตุแห่งความหายนะ”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 06 กันยายน, 2556, 04:16:00 PM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
   ๒๕.
ไม่เหมือนกัน


๑.
        อันต่างชนต่างล้วน         ต่างกัน
แผกต่างฝีมือชั้น            ต่างผู้
ต่างถนัดต่างขีดขั้น            สามารถต่าง
จึงต่างฉลาดต่างรู้            ต่างฟ้าต่างฝันฯ

๒.
ต่างผู้เผ่าชน               หลากล้นมากคิด
ต่างใจต่างจิต                    วุ่นวายสับสน
บังคับอื่นผู้               คิดอยู่เช่นตน
มืดแท้ลำบน               ต่างคนจิตใจฯ

๓.
นรชาติล้วนแตกต่าง            แผกทิศทางตั้งเข็มมุ่ง
ต่างใครคิดแต่งปรุง            มากเหยิงยุ่งยุงตีกัน
ประชาธิปไตย            เคารพในสิทธิ์ชนชั้น
คิดต่างใช่กางกั้น            แบ่งคอกคั่นเขาเราใครฯ

๔.               
        กาลครั้งหนึ่ง สรรพสัตว์ ร่วมชัฏรก      ทั้งสัตว์บก เลื้อยคลาน แมลงปักษิน
ร่วมเขตคาม พนาไพร หลายชีวิน         ร่วมประชุม ทั้งสิ้น พร้อมเพรียงกัน
        ข้อปรึกษา หารือ เต็มวาระ         เพื่อที่จะ อยู่ร่วม สมานฉันท์
ปกป้องภัย ถิ่นตน จากผองภยันต์         ทุ่มเถียงเครียด เสียงลั่น อภิปราย
        ฝ่ายลิงจ๋อ จอมกวน เห็นเช่นนั้น      จึงคิดมุข ขบขัน กำนัลสหาย
ให้ครึกครื้น สลับฉาก พอเครียดคลาย      ด้วยยักย้าย ส่ายเต้น ระบำโชว์
        เหล่าสรรพสัตว์ น้อยใหญ่ ต่างชื่นชอบ   ลีลาลิง ฮิปฮอป ร้องฮาโห่
ฝ่ายเจ้าอูฐ อิจฉา จ้องตาโต          หมั่นไส้โจ๋ แดนเซอร์ ลิงจ๋อสไตล์
        คิดดังนั้น จึงขยับ เอาอย่างบ้าง      วาดลีลา ท่าทาง ช้าอุ้ยอ้าย
ด้วยตัวใหญ่ ไม่พลิ้ว ดูน่าอาย         สัตว์ทั้งหลาย โห่ไล่ ให้หยุดเอยฯ

๕.
        คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
ในต่างคน นั่นหนา ถนัดเชิงชั้น
แล้วแต่ใคร เฉพาะตน ไม่เหมือนกัน
อย่าฝืนตัว ตามท่าน เช่นอูฐเอยฯ

๗.
พรสวรรค์และพรแสวง อย่าตะแบงอวดถนัด เจนจัดคนละอย่าง ต่างกันถ้วนใครผู้ พึงรู้อันตนเป็น เห็นอันตนสามารถ อาจทำดีสิ่งนั้น รั้นอวดฝืนเก่งแล้ อันสิ่งมิถนัดแท้ เพลี่ยงแพ้เสียผล เสมอนาฯ

๗.   
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“แต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน การที่ฝืนทำในสิ่งที่ตนไม่ถนัดอาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดี”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 06 กันยายน, 2556, 04:23:36 PM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
   ๒๖.
ลากับหมา

๑.
        อันน้ำใจกลั่นแท้         มโนจิต
อาบรื่นฉ่ำมวลมิตร            ปรี่ท้น
หมั่นเติมอยู่เนืองนิตย์         นับเนื่อง ท่านนา
ให้บ่าแบ่งถั่งล้น            แน่นแฟ้นมิตรภาพฯ

๒.
น้ำใจใสจิต               มอบมิตรดื่มอาบ
ซึ้งซ่านกำซาบ            หอมรื่นไม่วาย
คิดดีทำดี               ย้ำมีมอบให้
เพื่อนแท้เพื่อนตาย            จริงใจน้ำมิตรฯ

๓.
น้ำใจอันใสจริต            มอบมวลมิตรอย่ารู้หน่าย
ใจจริงมอบให้ใคร            ท่านล้วนให้ตอบแทนคืน
มิตรจิตในมิตรแท้            ซ่านดวงแดสุขสมชื่น
มิตรภาพบานดกดื่น            มั่นแฟ้นยืนแม้ชีพวายฯ
           
๔.
        กาลครั้งหนึ่ง ชาวนา และลาหมา      จากเคหา ร่วมทาง ไปต่างถิ่น
เช่นดั่งเคย ทำมา อยู่อาจิณ         บ่ายหน้าผิน คลาไคล เถื่อนมรคา
        ครั้นล่วงสาย แดดกล้า ล้าเหนื่อยนัก   ชาวนาพัก ร่มไม้ พุ่มใบหนา
ทิ้งสองเกลอ เฝ้าโยง ทั้งหมาลา         แล้วม่อยหลับ นิทรา ผ่อนพักกาย
        เจ้าลานั้น กินหญ้า เป็นอาหาร      จึงเลาะเล็ม สำราญ จนคล้อยบ่าย
แต่เกลอหมา หิวข้าว มืดตาลาย          จึงร้องวอน ลาสหาย ช่วยข้าที
        ด้วยอาหาร ขนมปัง บนหลังเจ้า      วานเพื่อนเรา เอาลง มาตรงนี้
ให้ข้ากิน แก้หิว อย่ารอรี            ลานิ่งเฉย บุ้ยชี้ ที่ชาวนา
        รอเจ้านาย ตื่นก่อน อย่าร้อนเร่ง      ใช่ข่มเหง อดทน หน่อยเพื่อนหมา
ไม่นานหรอก เดี๋ยวนาย ตื่นขึ้นมา         เขาจัดแจง ข้าวปลา ให้เจ้ากิน
        เจ้าหมาฟัง นึกเคือง แต่ข่มนิ่ง       ไม่ท้วงติง ด้วยรู้ ลาใจหิน
เห็นแก่ตัว นิสัย หมาชาชิน            จึงหมอบนิ่ง สิ้นท่า กิ่วไส้ทน
        ในขณะนั้น หมาป่า หิวโซจัด      เดินหลงพลัด มาใกล้ ตำแหน่งหน
อันหมาลา ชาวนา แหล่งตำบล         จุดพักพล หลบร้อน ร่มไม้ลาน
        หมาป่าโซ เห็นลา น้ำลายไหล      ด้วยหิวจัด เจ้าหมาย เนื้ออาหาร
ย่างสามขุม หมายขย้ำ กำลังพาล         ลางุ่นง่าน หวาดกลัว ตัวสั่นเทา
        จึงลานั้น ร้องวอน เพื่อนเกลอหมา      โปรดช่วยข้า พ้นภัย เถิดนะเจ้า
ไล่หมาป่า ออกไป ไกลตัวเรา         หมาได้ที นิ่งเนา ไม่นำพา
        แล้วร้องบอก เกลอลา รอก่อนสหาย     เดี๋ยวเจ้านาย ตื่นมา ไม่นานช้า
ให้นายไล่ หมาป่า ไปไกลตา         อดทนหน่อย เถิดหนา ข้าขอนอน
        ในสุดท้าย ลานั้น ก็ถูกขย้ำ         ล้มคะมำ จมเขี้ยว หมาป่าต้อน
เพื่อนเกลอหมา ดูดาย ไม่อนาทร         ปล่อยให้ลา ม้วยมรณ์ ต่อหน้าเอยฯ

๕.
        คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
ถ้าไม่มี น้ำใจ ให้ใครก่อน
ก็อย่าหวัง น้ำจิต เอื้ออาทร
ได้คืนย้อน จากเขา ให้เราเอยฯ

๖.
หากหวังใครน้ำจิต ใสจริตข้องสัมพันธ์ แบ่งปันร่วมเราเขา เอาใจเรายื่นก่อน เขาผ่อนกลับคืนพลัน ผูกพันแน่นแฟ้นสนิท น้ำมิตรอันใสแท้ แม้ชีพม้วยดับดิ้น มิตรภาพห่อนสิ้น อยู่ยั้งอสงไขย เพื่อนเอยฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“หากไม่มีน้ำใจกับผู้อื่น ก็เลิกหวังให้เขามามีน้ำใจกับเรา”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 06 กันยายน, 2556, 04:33:06 PM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
   ๒๗.
นกน้อยขาดทุน

๑.
        กระจอกตัวกะจ้อย         แพรกสกุณ
จิกแต่เมล็ดพืชคุ้น            อิ่มน้อย
อำนาจบ่ใหญ่หนุน             ชั้นเหยี่ยว เทียบนา
เตี้ยต่ำเชื้อเผ่าด้อย             ชอกช้ำฤดีเสมอฯ

๒.
ชนผู้ต่ำต้อย               คำถ้อยหรือดัง
มองหน้าเหลียวหลัง            เดียวดายโดดเดี่ยว
ท่านจ้องเหยียบย่ำ            เช้าค่ำห่อเหี่ยว
ไร้หนทางเทียว            ชอกช้ำหม่นทุกข์ฯ

๓.
กระจอกแพรกสกุณ            เคยชินคุ้นใครรังแก
วาสนาต่ำต้อยแท้            มีแต่แพ้อยู่เพรื่อพร่ำ
มวลหมู่สกุณี               มากมายมีคอยเหยียบซ้ำ
หากินลำบากล้ำ            สุดชอกช้ำระกำใจฯ

๔.
        กาลครั้งหนึ่ง กระจอก ตัวกะจ้อย      เพลินเหลิงลอย ถลาลม เหนือเวหา
เทียวจิกกิน เมล็ดธัญญ์ เลี้ยงชีวา         สร้างรังน้อย อยู่มา พอสุขตน
        มาวันหนึ่ง บินไถล ไกลรังถิ่น      ด้วยฝืดเคือง ของกิน จึงดั้นด้น
เจ้าเพลินใจ ร้องเพลง ไม่กังวล         ในเถื่อนหน อันตน ไม่คุ้นเคย
        ทันใดเห็น เมล็ดพืช ตกอยู่พื้น      เจ้าเริงรื่น ดิ่งลง ไม่ช้าเฉย
เพื่อจิกกิน อิ่มมื้อ แสนเสบย         ตาข่ายเสย ติดกับ อนิจจา
        กระพือปีก ดิ้นรน สุดกำลัง         ตาข่ายพัน สิ้นหวัง รัดแน่นหนา
นกน้อยเศร้า คร่ำครวญ ทัณฑ์ชะตา      แหงนมองฟ้า ปลงตก พลางรำพัน
        โอ้อกเรา แพรกสกุณ ขาดทุนเสมอ    เทียบเหยี่ยวเกร่อ ผลาญคร่า ชีวิตมหันต์
ส่ำสัตว์ไพร หนูนก ฆ่าอนันต์         กลับรอดตัว รอดทัณฑ์ ไม่บรรลัย
        กับตัวเรา กระจอก ช่างงอกง่อย      ศักดิ์ต่ำต้อย กินเมล็ด พืชน้อยใหญ่
กลับถูกทัณฑ์ ถึงตาย ช่างกระไร      แสนน้อยใจ วาสนา ชะตาเอยฯ

๕.
        คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
บุญอำนาจ วาสนา แข่งไม่ได้
ผู้ด้อยกว่า เสียเปรียบ อยู่ร่ำไป
เช่นกระจอก เหยี่ยวใหญ่ เรื่องนี้เอยฯ

๖.
แข่งบุญแข่งวาสนา ยากจริงหนาท่านสอน เว้าวอนบวงสรวงไหว้ ยากได้ผลสำเร็จ ทั่วเจ็ดถิ่นย่านน้ำ ตอกย้ำวาสนา บุญนำพาเช่นนั้น ชั้นแต่เลี้ยงชีพแล้ ลำบากเข็ญทุกข์แท้ ค่ำเช้าดิ้นรน ฉะนี้ฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“คนที่มีอำนาจน้อย ย่อมขาดทุนและตกเป็นเหยื่ออยู่เสมอ”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 07 กันยายน, 2556, 11:11:27 PM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
   ๒๘.
เท้ากับท้อง

๑.
        ทุกอวัยวะต่างล้วน         สัมพันธ์
มิยิ่งใดสำคัญ                    กว่าสิ้น
เกื้อกูลอย่างเอื้อฉัน            หน้าที่ กันเฮย
อย่าหมิ่นเย้ยเล่ห์ลิ้น            ข่มอ้างอวดผยองฯ

๒.
ถ้วนทั่วทุกสิ่ง               ต่างอิงสัมพันธ์
เกื้อกูลเอื้อกัน            แบ่งฉันหน้าที่
ท้องขาข่มอ้าง            เข้าข้างตนชี้
สำคัญมากมี               ล้ำเธอเหนือท่านฯ

๓.
อวัยวะทุกถ้วนนั้น            ล้วนสัมพันธ์เกื้อกูลคล้อง
หน้าที่สำคัญข้อง            ต่างช่ำชองแผกต่างไป
ท้องขาทุ่มเถียงอ้าง            เอนเอียงข้างข่มข้าใหญ่
เรื่องจริงนั้นแท้ไซร้            อวัยวะใดล้วนเท่าเทียมฯ

๔.
        กาลครั้งหนึ่ง เรื่องเล่า เท้ากับท้อง              ไม่ปรองดอง อวดตน ข่มท่านนัก
ด้วยถือตน เหนือกว่า ใหญ่โตศักดิ์                 ทั้งสองมัก ทุ่มเถียง อยู่อาจิณ
        ด้วยเท้าท้อง อวัยวะ ของชายผู้              ใครไม่สู้ กินเก่ง อยู่นิจสิน
ทั้งเดินทาง ก็เก่ง ไม่ต่างกิน            ทั้งเท้าท้อง เถียงหมิ่น ใครสำคัญ
        มาวันหนึ่ง ชายนั้น นอนหลับอยู่              เจ้าทั้งคู่ เปิดศึก ทุ่มเถียงลั่น
หามีใคร ยอมลง ให้แก่กัน                    ต่างยืนยัน เหตุผล อ้างอวดตน
        ฝ่ายเจ้าเท้า อวดอ้าง ข้ายิ่งใหญ่              ท่านเดินทาง ใกล้ไกล ทั่วทิศหน
ด้วยสองเท้า แข็งแรง ไม่ลำบน                 ประโยชน์จึง มากล้น เหนืออื่นใคร
        ข้าแข็งแรง ประโยชน์ มหาศาล               แบกตัวท่าน อวัยวะ ทุกส่วนได้
หากขาดข้า ตัวท่าน อยู่เช่นไร                 คงไปไหน ไม่ได้ ใช่ข่มความ
        ฝ่ายเจ้าท้อง เถียงบ้าง อ้างเหตุผล      สหายเท้าเอ๋ย อย่าพ่น คำหมิ่นหยาม
อันงานข้า อาหาร ทุกมื้อยาม                 อีกทั้งน้ำ ข้าย่อย ป้อนพลังงาน
        หากขาดข้า แรงเจ้า มีได้ไฉน              ชั้นแต่ยืน หรือไหว คิดตรองท่าน
ทุกอวัยวะ ต่างเอื้อ เกื้อกูลกัน                 หากขาดพลัน สิ่งใด ไม่สบายเอยฯ

๓.
        คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
ถ้วนอวัยวะ มีค่า ล้วนกูลเกื้อ
ทำหน้าที่ สัมพันธ์ ต่างจุนเจือ
มีประโยชน์ ช่วยเหลือ เอื้อกันเอยฯ

๔.
อวัยวะหมดสิ้นถ้วน ล้วนหน้าที่สำคัญ มีดีกันแตกต่าง ประกอบร่างสมบูรณ์ เกื้อกูลคล้องสัมพันธ์ อย่าเบ่งฉันข่มเธอ เสมอในทุกสิ่งล้วน ถ้วนอวัยวะนี้ หน้าที่นั้นบอกชี้ แน่แท้เท่าเทียม เพื่อนเอยฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“ทุกสิ่งมีประโยชน์และล้วนเกื้อกูลกันและกัน”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 07 กันยายน, 2556, 11:25:46 PM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
   ๒๙.
ต้นไม้กับขวาน


๑.
        อันขวานด้ามย่อมใช้              ไม้ทำ
คมร่ายจามกระหน่ำ            โค่นไม้
สุดเทวษยิ่งระกำ            เนื้อเยื่อ เจ้านา
ไม้ป่าครวญพร่ำไห้            เจ็บล้นเหนือใดฯ

๒.
เจ็บมากหนักท้น            หากคนเคียงชิด
ทำเราหมองจิต            ล้นเจ็บเหลือใด
ต่างเคยก่อเกื้อ            ไว้เนื้อเชื่อใจ
ย้อนทำเราได้               เจ็บนั้นฝังนานฯ

๓.
ขวานด้ามทำจากไม้            คมขวานใช้จามไม้ต้น
สุดเทวษระกำล้น            ก้านกิ่งตนแว้งทำร้าย
เฉกเช่นมิตรใกล้ชิด            กลับเบือนบิดมาแปรกลาย
เชื่อใจมิตรมากมาย            แต่ไม่วายแว้งเราเจ็บฯ           

๔.
        กาลครั้งหนึ่ง กล่าวถึง คนตัดไม้          เทียวเลาะหา ไม้ไพร ทำด้ามขวาน
ต้องการแต่ เนื้อดี ไม้ใช้งาน             แข็งทนทาน ทุกยาม จามเหมาะมือ
        คนตัดไม้ อ้อนวอน ไม้ทั่วป่า          ต้นไม้จ๋า ขอถาม เรื่องไม้ชื่อ
คุณสมบัติ ต้องตาม คำใครลือ             และเชื่อถือ แข็งทน ทำด้ามดี
        ฝ่ายหมู่ไม้ นานา ทั่วป่าย่าน             ยินเสียงอ้อน สงสาร อยู่เหลือที่
จึงประชุม ปรึกษา เต็มภาคี                     แล้วเอ่ยชี้ ต้นนี้ แข็งดีนัก
        คนตัดไม้ ได้ฟัง คำไม้บอก             ไม่ย้อนยอก เลือกโค่น เร่งมือหนัก
แล้วถากเนื้อ กบไส เสลาสลัก              ชั่วครู่พัก สวยด้าม คู่ขวานงาม
        อนิจจา ด้ามเสร็จ คนตัดไม้          เที่ยวโค่นไพร ใหญ่น้อย คอนแบกหาม
ทั้งไม้บ้าน ไม้ฝืน ทั่วเถื่อนคาม              ด้วยขวานด้าม หมู่ไม้ เลือกให้เอยฯ

๕.
        คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
อย่าฆ่ามิตร เพื่อใคร ศัตรูอื่น
อาจเขานั้น ย้อนร้าย กลับท่านคืน
เช่นหมู่ไม้ ตายดื่น เยี่ยงนี้เอยฯ

๖.
เพื่อนน้ำมิตรชิดใกล้ ไว้เนื้อเชื่อใจยิ่ง สิ่งใดล้วนกอบเกื้อ เอื้อเฟื้ออยู่ไม่สิ้น แม้ดับดิ้นวางวาย ยังมิคลายมิตรภาพ ดื่มอาบน้ำมิตรอยู่ หดหู่แท้เพื่อนไซร้ กลับกระทำเราะร้าย เจ็บล้นเหลือเรา เพื่อนเอยฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“การทำร้ายเพื่อนเพื่อศัตรู อาจนำภัยมาสู่ตัวเราเองได้”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 07 กันยายน, 2556, 11:36:38 PM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
   ๓๐.
งูกับกา

๑.
        อันกาดำต่ำชั้น         ปัญญา
คิดต่ำตื้นประสา            โง่รั้น
เห็นงูร่อนปีกถลา            เข้าจิก
งูฉกสวนเจ้านั้น            ด่าวดิ้นวางวายฯ

๒.
กาดำปัญญา               หนักหนาโง่รั้น
เห็นงูดื้อดัน               คิดง่ายร่อนฉก
งูนั้นพิษเขี้ยว               แรงเรี่ยวยิ่งนก
สวนคืนไวฉก               กาดิ้นชีพม้วยฯ

๓.
กาดำเขลาปัญญา            บินถลาเหนือทุ่งกว้าง
เห็นงูพื้นดินล่าง            คิดง่ายกร่างร่อนจิกรั้น
ชาติเชื้ออสรพิษ            หรือเบือนบิดฉกโต้พลัน
เขี้ยวจมเนื้อเจ้านั้น            วายชีวันด้วยพิษงูฯ

๔.
        กาลครั้งหนึ่ง กาดำ ปัญญาเขลา           ทั้งมัวเมา โลภนัก อุปนิสัย
หาเลี้ยงตน โบกบิน เหนือราวไพร       เห็นงูขด กริ่มใจ ได้ลาภลอย
        นึกกระหยิ่ม เนื้องู อาหารเช้า           โจมจู่เข้า หมายจิก มื้ออร่อย
ไม่ทันคิด ตนอาจ ถูกย้อนรอย               งูฉกสวน ค่อยรัด มัดกาตัว
        อนิจจา กานั้น สำคัญผิด              นึกว่างู พิษด้อย ไม่ตรองทั่ว
จึงบุ่มบ่าม ลงมือ ไร้กริ่งกลัว              เข้าพันพัว ต่อสู้ ขาดระวัง
        ก่อนกาตาย คิดได้ พลางสำนึก             อันตัวเรา เหิมฮึก เขลาโง่งั่ง
คิดมักง่าย จิกงู แรงกำลัง                  แต่สุดท้าย พลาดพลั้ง ชีพวายเอยฯ

๕.
        คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
อันกาดำ โลภนัก ปัญญาเขลา
คิดต่ำตื้น มักง่าย ด้วยมัวเมา
สุดท้ายเจ้า เคราะห์ร้าย ถึงตายเอยฯ

๖.
มิมีในสิ่งใด ใจประสงค์อยากได้ ไร้อุปสรรคง่ายดาย สิ่งหมายปองถ้วนสิ้น จำดิ้นรนขวนขวาย แรงใจกายทุ่มเท อย่าไฉเฉตั้งจิต คิดอยากได้สิ่งนั้น อุปสรรคล้วนมากกั้น บากสู้สำเร็จเสมอ ท่านนาฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“ไม่มีสิ่งไหนได้มาโดยง่าย ทุกอย่างต้องเต็มไปด้วยความยากลำบาก”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 08 กันยายน, 2556, 02:38:52 PM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
   ๓๑.
ชายหัวล้านสองคน


๑.
   อันข้าวของสิ่งแก้ว         รุ้งมณี
ควรยิ่งสนองหน้าที่            ช่วงใช้
หัวล้านท่านได้หวี             ทิ้งเปล่า
ผมบ่มีนั่นไซร้             ค่าไร้ประโยชน์ควรฯ         

๒.
ทรัพย์สินใดสิ่ง            ค่ายิ่งมุกแก้ว
ล้ำงามผ่องแผ้ว            ควรสมช่วงใช้
สิ่งของใดถ้วน            หาควรค่าไม่
ด้วยไม่สมใน               ช่วงใช้ท่านควรฯ


หัวล้านท่านได้หวี            หาใดมีประโยชน์ค่า
ลิงค่างได้เงินตรา            ห่อนรู้ว่าของแก้วสิ่ง
ของใดทุกอย่างล้วน            ถวิลใคร่ครวญค่าแท้ยิ่ง
หากไร้ประโยชน์จริง            ก็เปลืองทิ้งประโยชน์เปล่าฯ


    กาลครั้งหนึ่ง สองเกลอ คู่หัวล้าน           ศีรษะเลี่ยน เตียนลาน ไร้เส้นผม
เรื่องแบ่งปัน สองรา ไม่นิยม                    ด้วยเพาะบ่ม โลภมาก อยากได้มี
   มาวันหนึ่ง สองสหาย ร่วมทางหน            ธุระตน ต่างเมือง ไกลย่านที่
แม้ร่วมทาง ใจนั้น ไม่ยินดี                       ด้วยโลกีย์ ฉลฉ้อ กิเลสใจ
   สองเกลอล้าน เรื่อยเดิน ไปพร้อมคู่         เพื่อนคู่หู อีกคน เก็บของได้
จึงรีบซ่อน เร้นเก็บ ในทันใด                    อีกเพื่อนล้าน ซักไซ้ เร่งแบ่งปัน
   อ้างเหตุผล เราสอง นั้นแท้เพื่อน            อย่าแชเชือน ของสิ่ง ทุกอย่างนั้น
มีสิทธิ์ร่วม สมบัติ ควรแบ่งปัน                 ไมตรีฉัน มิ่งมิตร พึงกระทำ
   ฝ่ายเพื่อนผู้ เก็บของ ครู่ตรองคิด          จึงเอื้อนอิด บ่ายเกี่ยง แกมขันขำ
เพื่อนเกลอเอ๋ย ใช่แกล้ง อมพะนำ             ใช่ละโมบ ใจดำ ครองผู้เดียว
   อันของสิ่ง เก็บได้ เมื่อตะกี้                 อยู่นี่ไง คือหวี ใช่แก้เกี้ยว
หาประโยชน์ มิได้ แน่แท้เทียว                 ผมเส้นเดียว เราท่าน ไม่มีเอยฯ

๕.
    คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
สมบัติใด มีค่า วิเศษวิศาล
หากไร้ซึ่ง ประโยชน์ ข้องใช้งาน
เมื่อได้ท่าน ค่าสิ้น เศษหินเอยฯ 

๖.
ของสิ่งถ้วนมากเห็น อาจเป็นประโยชน์ใคร ล้วนในประโยชน์สม ท่านนิยมค่ายิ่ง สิ่งนั้นย่อมประโยชน์ค่า ท่านอย่าคิดแบ่งเขา อยู่เนาท่านค่าไร้ ใช้ประโยชน์บ่ได้ เปลืองเปล่าแท้เก็บไว้ ห่อนใช้ประโยชน์ควร ฉะนี้ฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“สมบัติแม้มีค่าเท่าใด แต่ถ้าเราไม่ได้ใช้ ก็มีค่าแค่เศษหินธรรมดา”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 08 กันยายน, 2556, 02:58:21 PM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
   ๓๒.
กบสองตัว


๑.
        ทิฐิถือมั่นแล้            อันตราย
พึงอย่าติดยึดหมาย            แน่วรั้น
ผูกคิดท่านกรานถวาย         น้อมสิ่ง เดียวนา
ทิฐิอาจปิดกั้น                    ครอบแท้ปัญญาฯ

๒.
ถือดียึดมั่น               สิ่งอันตนเชื่อ
ไม่คิดใดเผื่อ               อื่นค่ามากมี
หากถึงดื้อรั้น               อาจดั้นหนที่
ปิดกั้นตนนี้               ห่างแท้ปัญญาฯ

๓.
ทิฐิตนยึดมั่น               อาจปิดกั้นช่องทางหน
ดวงตาอาจมืดมน            ถึงอับจนแก้ปัญหา
พึงชนตระหนักรู้            กรานกราบชูเพ็ญปัญญา
ไม่รู้เร่งค้นคว้า            สรรพวิชาประดับตนฯ

๔.
    กาลครั้งหนึ่ง สองกบ ตัวกระจิด              ผูกมิตรสนิท แต่เล็ก จนเติบใหญ่
ฉันพวกพ้อง เพื่อนเล่น แต่เยาว์วัย         ได้สิ่งใด แบ่งปัน ไร้บีฑา
    อันถิ่นเนา สองกบ อยู่ชิดใกล้              หนึ่งอาศัย บึงใหญ่ ถิ่นเคหา
อีกหนึ่งเลือก ห้วยเล็ก อยู่สุขมา                 อันอาหาร นานา ไม่ขาดแคลน
    ด้วยด้วงมด แมลงปีก อีกไหน่หนอน         แมงกะชอน ไส้เดือน หาง่ายแสน
ทั้งลูกยุง ไรน้ำ สองคามแดน                    ไม่หวงแหน แบ่งปัน ฉันไมตรี
    มาวันหนึ่ง ห้วยแล้ง ฝนทิ้งช่วง              เจ้ากบบึง แสนห่วง จึงชวนชี้
กบห้วยจ๋า น้ำแห้ง เกวียนมากมี                 อาจทับเจ้า เร็วรี่ อยู่ด้วยกัน
    ฝ่ายกบห้วย ตอบคำ กบบึงใหญ่              มีประโยชน์ อันใด ย้ายไปนั่น
ข้าคุ้นชิน ห้วยเล็ก อยู่เนานาน                 แมลงอาหาร หาง่าย ได้อิ่มกิน
    กบบึงใหญ่ มากมาย ยกเหตุผล              เพื่อโน้มน้าว เพื่อนตน ให้ละถิ่น
แต่กบห้วย ดื้อรั้น แสร้งไม่ยิน                 กล่าวเบี่ยงบ่าย อาจิณ ไม่เว้นวาย
    ถึงคราวเคราะห์ เกวียนผ่าน ลำห้วยนั้น     เหยียบกบพลัน สิ้นใจ ต่อหน้าสหาย
กบบึงใหญ่ สลดนัก เพื่อนมาตาย                 ด้วยดื้อร้าย ถือมั่น ทิฐิเอยฯ

๕.
        คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
อันทิฐิ มิจฉา ติดยึดมั่น
ไม่ตรองคิด แวดล้อม ให้รอบครัน
อาจตัวท่าน ถึงขั้น หายนะเอยฯ

๖.
อันทิฐิถือมั่น ไม่บั่นเผื่อใดอื่น อีกร้อยหมื่นเหตุผล ถือคิดตนเป็นใหญ่ ไม่ฟังใครด้วยรั้น ปิดกั้นหนปัญญา ไม่นำพาใครเตือน เบือนบ่ายอยู่ร่ำสิ้น มั่นแน่วจวบดับดิ้น มืดแท้ปัญญา ท่านเอยฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“การยึดติดโดยไม่ดูสภาวการณ์แวดล้อม อาจทำให้ตนเดือดร้อนได้”


หัวข้อ: Re: ศตอีสปนิทานคำกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 08 กันยายน, 2556, 03:08:18 PM
ศตอีสปนิทานคำกรอง
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย)
   ๓๓.
แม่อูฐตาเดียว


๑.
        อันหลากสิ่งอาจเร้น            คลองตา
มองบ่เห็นนานา               อื่นล้น
ทะนงเชื่อตาข้า               รั้นยิ่ง ท่านนา
จึงบ่ฟังดื้อด้น                  คลาดท้นสิ่งหมายฯ

๒.
อันชนใดนั้น                  ถือรั้นตนยิ่ง
แน่วแน่ใดสิ่ง                  ยากรับใดอื่น
ยึดมั่นเชื่อตน                  เหตุผลพันหมื่น
เถียงอ้างต่ำตื้น               ข้างคูปัญญาฯ

๓.
ชนใดปิดกั้นตน                    เรียนรู้หนฟังใครอื่น
ปัญญาอาจต่ำตื้น                    เรื่องพันหมื่นไม่รู้รอบ
ชนพึงเปิดใจกว้าง                    อย่ารู้ร้างความรู้กอบ
รู้มากยิ่งรอบคอบ                    ชั่วดีชอบใคร่ครวญแจ้งฯ

๔.
   กาลครั้งหนึ่ง แม่อูฐ บอดตาซ้าย        เหลือตาขวา เหลือบชาย ข้างเดียวเห็น
เลี้ยงลูกน้อย หญ้าน้ำ แสนลำเค็ญ         ด้วยยากเข็ญ ถิ่นเนา ทะเลทราย
   จึงชักชวน ลูกรัก เจ้าอูฐน้อย            อย่าท้อถอย รอนแรม เคลื่อนถิ่นย้าย
โอเอซิส ไม่ไกล มีมากมาย               รีบสองเรา ดุ่มหมาย ที่ปลายทาง
   ฝ่ายลูกอูฐ สงสัย โอเอซิส               จึงสะกิด แม่อูฐ ถามขึ้นบ้าง
แม่อูฐเดิน แล้วพลัน อธิบายพลาง          คือถิ่นบาง น้ำชุ่ม หญ้าสดขจี
   ลูกอูฐซัก แม่จ๋า น้ำกับหญ้า             ทั้งหน้าตา สีสัน โปรดแจ้งชี้
แม่บอกน้ำ สีฟ้า ดูให้ดี                      ส่วนหญ้าสี เขียวนั้น อร่อยนักเทียว
   ครั้นลูกอูฐ เข้าใจ เรื่องราวรู้              จึงบอกหนู ช่วยหา ตาเหลือบเหลียว
ลูกอูฐน้อย เร่งหา ขึงขังเจียว               บัดเดี๋ยวเดียว เห็นน้ำ คล้ายคลับคลา
   จึงบอกแม่ สีฟ้า นั่นไงน้ำ                 แม่อูฐขำ ไม่ใช่ ดอกลูกหนา
แล้วดุ่มเดิน ต่อไป ไม่ชายตา               พลางเตือนย้ำ อย่าช้า เร่งลูกเดิน
   ไม่นานนัก ลูกอูฐ เห็นหญ้าเขียว         ใบรูปเรียว เจ้ามอง อยู่นานเนิ่น
บอกแม่จ๋า นั่นหญ้า ขึ้นทั่วเนิน              แม่อูฐเมิน ดุว่า น่ารำคาญ
   อนิจจา แม่อูฐ ตาซ้ายบอด               หญ้าและน้ำ เร้นรอด อยู่ซ้ายท่าน
แม้หญ้าน้ำ ของจริง ลูกยืนกราน            ด้วยดื้อพาล คลาดสิ้น หญ้าน้ำเอยฯ

๕.
    คตินิทาน เรื่องนี้ ท่านสอนว่า
หลากหลายสิ่ง เร้นตา มองไม่เห็น
ไม่เชื่อท่าน ดื้อรั้น อาจลำเค็ญ
เช่นแม่อูฐ ไม่เห็น หญ้าน้ำเอยฯ

๖.
อันชนใดถือดี มากมีเหตุผลอ้าง แย้งง้างผู้ใดทั่ว ชั่วดีบ่ฟังเหตุ เนตรบอดสิ้นปัญญา อาจนำพาหลงผิด ปิดคิดตนคับแคบ แยบยิ่งหาเหตุชี้ ดื้อหยิ่งอยู่เช่นนี้ พลาดสิ้นสิ่งหวัง ถ้วนเอยฯ

๗.
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“เรื่องบางเรื่องเราอาจไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตนเอง อย่าทะนงว่าเก่งกว่า ไม่งั้นจะพลาดโอกาสได้”