อารัมภกถา
“พระสุธนชาดก” เป็นนิทานชาดกหนึ่งใน ๔๘ เรื่อง จาก “ปัญญาสชาดก”
ต้นฉบับเดิมนั้นเริ่มบทเป็นภาษาบาลี แล้วขยายความด้วยร้อยแก้วเป็นบท ๆ ไป
ลักษณะการนำเสนอ มีเพียงเนื้อหาหลักเท่านั้น มิได้มีบทการแสดง การเจรจา
อารมณ์และเรื่องปลีกย่อยในการดำเนินเรื่องของตัวละครแต่อย่างใด
มี “พระสุธนกลอนสวด” ซึ่งแต่งเป็นกาพย์ชนิดต่าง ๆ โดยจะมีกาพย์ยานี ๑๑
กาพย์ฉบัง ๑๖ และกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ คละกันไปเป็นส่วนใหญ่
มี “พระสุธนคำฉันท์” ผลงานการประพันธ์ของพระยาอิสรานุภาพ (อ้น)
ในสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔
ที่แพร่หลายที่สุดเป็นนิทานมุขปาฐะ ที่เล่าสืบต่อกันมา แต่มักจะ
แปลกพิสดารแตกต่างกันออกไปตามแต่ละท้องที่ และโวหารของผู้เล่า
นอกจากนี้ยังมีบทละครอีกส่วนหนึ่ง ทว่าเป็นการนำเอามาเพียงเค้าเรื่อง
แต่งบทการแสดงให้มีความสนุกสนานเป็นสำคัญ พบแต่เพียงบางตอน
ที่รู้จักกันแพร่หลาย เช่นตอน “พรานบุญจับนางมโนราห์”
อนึ่งพระสุธน มโนราห์ ที่แต่งเป็นคำกลอน มีคนกล่าวว่าเคยมีแต่งไว้
ก่อนพ.ศ. ๒๔๕๙ แต่จะสมบูรณ์ตลอดทั้งเรื่องหรือไม่นั้นมิมีหลักฐานยืนยันได้
ด้วยปัจจุบันนี้ ได้ค้นหาในหอสมุดแห่งชาติแล้วยังไม่พบ จึงมีความตั้งใจที่
จะแต่ง “พระสุธน มโนราห์คำกลอน” เล่มนี้ฝากไว้แก่อนุชนรุนหลังสืบต่อไป
ลักษณะการแต่ง “พระสุธนมโนราห์คำกลอน” นี้ เป็นการประมวลความ
ตามนัยแห่งชาดก เข้ากับความพิสดารในกลอนสวดต่าง ๆ รวมทั้งมุขปาฐะ
เรื่องเล่าของชาวบ้านในท้องถิ่นต่าง ๆ เข้ามาไว้ด้วยกัน เพื่อให้เกิดอรรถรส
มีความสนุกสนาน รัก เศร้าเคล้ากันไป ทั้งมีสาระ ธรรมะ ปรัชญาสอดแทรกไว้
ตามสมควร
ท้ายที่สุดนี้ผู้แต่งคิดว่า หาก “พระสุธน มโนราห์คำกลอน” เล่มนี้
มีการตอบรับจากผู้อ่านพอเป็นกำลังใจให้บ้าง ก็จะพยายามแต่งนิทานชาดก
เป็นคำกลอนเรื่องต่อ ๆ ไปในโอกาสหน้า
ขอขอบพระคุณทุกท่านครับ
ธนุ เสนสิงห์
[/color]