โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์
โครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่๙
๐ เริ่มแรกรุดขุดวาง.เป็นทางตัด
เส้นทางลัด"ลุ่มเจ้าพระยา"ใหญ่
ครั้นเวลาพาผ่าน.หยุดการใช้
สภาพไซร้ทรุดเกิน.ตื้นเขินแทน..
๐ ยามมากฝนหล่นสาย.ระบายยาก
ครั้นน้ำหลากไหลขัง.เกินตั้งแผน
ต้องปรับปรุงมุ่งหวัง.ระวังแดน
เปลี่ยนแปลงแปลนป้องกัน.เป็นขั้นตอน..
๐ พระปรีชาสามารถ.สมปราชญ์ณัฐ
ทรงดำริตริตรัส.ดำรัสสอน
เร่งระบายผายผัง.น้ำขังดอน
ปัญหาผ่อนพบทาง.ควรสร้างเติม..
๐ น้ำไม่รั้งขังไหล.ผันไกลฐาน
"คลองลัดโพธิ์" พร้อมผ่าน.โครงการเริ่ม
ปรับทำนบจบลา.ปัญหาเดิม
ศาสตร์พ่อเสริมสู่ทาง.สว่างเมือง..
๐ พ่วงประโยชน์โชติไกล.สร้างไฟฟ้า
ร่วมศึกษาสร้างคิด.ประดิษฐ์เปรื่อง
ชลประทานขานไข.วิจัยเนือง
กังหันเลื่องเลิศผัง.พลังงาน..
๐ ทุกวิธีที่ก่อ.ตามพ่อสอน
จงวิวรณ์วิชา.สืบพาสาน
อุกฤษฏ์ศาสตร์ปราชญ์ครู.พ่อภูบาล
ทุกโครงการกอปรดล.เกิดผลจริง ฯะ
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม.
กิติราช ทับทิม
ผู้ประพันธ์บทร้อยกรอง
๒๕ กันยายน ๒๕๖๑
คลองลัดโพธิ์ เป็นคลองที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีกระแสพระราชดำรัสถึง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ว่าเป็นสถานที่ตัวอย่างของการบริหารจัดการน้ำ ที่ต้องการความรู้เรื่องเกี่ยวกับเวลาน้ำขึ้นน้ำลง หากบริหารจัดการให้ถูกต้องจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ และทรงเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และทรงเปิดสะพานภูมิพล 1 ภูมิพล 2 ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
วัตถุประสงค์โครงการ
ช่วยให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลลัดลงทะเลได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งสามารถช่วยลดระดับน้ำท่วมสูงสุด 5-6 เซนติเมตร และ ลดระยะเวลาน้ำท่วมลงได้ 1-2 วัน
ลักษณะโครงการ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2523 ให้ปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ บริเวณคุ้งน้ำช่วงที่ไหลผ่านเขตพื้นที่บางกระเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ ระยะทาง 18 กิโลเมตร ให้เหลือเพียง 600 เมตร เพื่อย่นระยะทางการไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาให้ไหลลัดลงสู่ทะเลได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น อันจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมบริเวณกรุงเทพฯและปริมณฑลได้อย่างดี โครงการปรับปรุงคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานรับสนองพระราชดำริ ดำเนินการปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ จากเดิมที่มีสภาพตื้นเขินมีความกว้างเพียง 12 เมตร ให้สามารถรับปริมาณน้ำได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งได้ก่อสร้างประตูระบานน้ำบริเวณต้นคลองด้านทิศเหนือขนาดกว้าง 14 เมตร จำนวน 4 บาน ขุดคลองด้านเหนือประตูระบายน้ำกว้าง 65 เมตร ความยาวรวม 600 เมตร
ผู้ได้รับประโยชน์
พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนถึงอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ คิดเป็นมูลค่าผลประโยชน์ ที่ได้รับ 161.4 ล้านบาท/ปี และประโยชน์ทางอ้อมอื่น ๆ ทั้งช่วยป้องกันน้ำท่วม ลดการสูญเสียทรัพย์สินและเวลา ในการเดินทาง ประหยัดค่ากระแสไฟฟ้าสูบน้ำ ของระบบป้องกันน้ำท่วมเดิม การเพิ่มขึ้นของมูลค่าที่ดินที่เคยเกิดน้ำท่วม รวมถึงลดภาระการบริหารงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเฉพาะหน้า ของภาครัฐได้อีกด้วย แถมพ่วงประโยชน์คือ ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยกังหันพลังน้ำ..
เครดิตข้อมูลบางส่วน จากเวปไซด์มูลนิธิมั่นพัฒนา
เครดิตภาพ จากเวปไซด์ ท่องเที่ยวไทย
ขอบพระคุณครับ