เว็บไซต์อารมณ์กลอน เว็บไซต์สำหรับผู้มีกลอนในหัวใจ..

คุยเรื่องร้อยแปดชาวอารมณ์กลอน => คุยได้ทุกเรื่อง => ข้อความที่เริ่มโดย: สนอง เสาทอง ที่ 06 กันยายน, 2556, 05:12:13 PM



หัวข้อ: ซีไรต์ 2556 รวมบทกวี “หัวใจห้องที่ห้า”
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 06 กันยายน, 2556, 05:12:13 PM
 

***ขออภัยครับ ชื่อเรื่องกับเนื้อหาไม่ตรงกัน (พอดีแอบเก็งในใจว่า บทกวีไร้ฉันทลักษณ์ของกวีท่านหนึ่งน่าจะได้)

ซีไรต์ 2556 รวมบทกวี “หัวใจห้องที่ห้า” ย้อนรอยประวัติและสัมภาษณ์นอกรอบกับกวีซีไรต์คนล่าสุด
กระทู้ข่าว



         ล่าสุด ประกาศผลแล้ว และผลงานที่คว้ารางวัลซีไรต์ ปี 2556 ได้แก่ หัวใจห้องที่ห้า ของ อังคาร จันทาทิพย์
        สำหรับ "อังคาร จันทาทิพย์" เกิดเมื่อ 9 กรกฎาคม 2517  ที่มัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น เริ่มเขียนบทกวีมาตั้งแต่เรียนมัธยม มี "พระไม้" เป็นครูกวีคนแรก จบปริญญาตรีจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นสมาชิก "กลุ่มกวีหน้ารามฯ"
        ทั้งนี้มีผลงานโดดเด่นต่อเนื่อง มีผลงานกวีนิพนธ์หลายเล่ม ได้แก่ คนรักของความเศร้า, วิมานลงแดง (รางวัลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2545), ที่ที่เรายืนอยู่ (เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ 2550), หนทางและที่พักพิง (รางวัลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2553) และผลงานล่าสุด รวมกวีนิพนธ์ "หัวใจห้องที่ห้า" นอกจากนี้บทกวี "ความตายของสันติสุข"ได้รับรางวัลกวีนิพนธ์ยอดเยี่ยมรางวัลนายอินทร์ อวอร์ด ปี 2554  ปัจจุบันประจำกองบรรณาธิการนิตยสาร Mars

           (เป็นบทสัมภาษณ์เก่า)ระยะ 15 ปีเป็นการยืนยันตัวตนของ ‘อังคาร จันทาทิพย์’ เป็นอย่างดีว่าลมหายใจของเขาเป็นกวีเต็มตัว จาก ‘คนรักของความเศร้า’ เดินทางมาสู่ ‘วิมานลงแดง’ ผ่านไปเกือบ 6 ปี เขากลับมาพร้อมกับ ‘ที่ที่เรายืนอยู่’ กวีนิพนธ์เล่มใหม่ล่าสุด
             ประกาย ปรัชญา เขียน ‘บันทึกจากผู้สังเกตการณ์บทกวี’ ถึงผู้เขียนและรวมบทกวีนิพนธ์เล่มนี้ไว้ว่า...
กวีหนุ่มผู้สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง ด้วยประเด็นการใคร่ครวญที่หนักแน่น ผ่านทักษะด้านรูปแบบที่มีลีลางดงามเฉพาะตัว
             สำหรับผมแล้ว อังคาร จันทาทิพย์ มี ‘ใบหน้ากวี’ ที่ชวนมอง
            เมื่อพบเห็น ‘ใบหน้า’ นั้นแล้ว ได้ซึมซับรับรู้ลึกลงไป  ‘เนื้อสาร’ ของกวีหนุ่มยิ่งชวนพินิจพิจารณา
            ‘คนรักของความเศร้า’ ผู้เคยผ่าน ‘วิมานลงแดง’ ได้วางย่างก้าวปัจจุบันของเขาไว้ที่เดียวกับ‘ที่ที่เรายืนอยู่’เราทุกคน
            เราทุกคนที่ไขว่คว้า, ดิ้นรนค้นหาความสมดุล – กระทั่งความสมบูรณ์ - ให้แก่ ‘ที่ยืน’ ของตนเอง
           ในโลกที่คุณค่าและความไร้ค่าเหลื่อมล้ำซ้ำซ้อน จริงลวงยากแยกแยะ เรามุ่งหวังที่จะมี‘ความลงตัว’ อันกระจ่างชัดในมิติต่าง ๆ ของชีวิต เพื่อว่า จะสามารถปฏิสัมพันธ์ต่อโลกอย่างถูกต้องจากที่ที่เรายืนอยู่...
        กวีเปล่ง ‘น้ำเสียง’ ของเขาออกไป อ่อนโยนให้กำลังใจ, ปลุกเร้าทรงพลัง หรือกระทั่งเจือ ‘ความคลุมเครือสงสัย’ ไว้เสียเอง
          สำหรับเรา ไม่ว่าจะตกอยู่ใน ‘อาณานิคม’ ‘โลกเสมือน’ หรือเคว้งคว้างระหว่าง ‘โลกสองใบ’ก็ตาม  ผมคิดว่า เราพึงใส่ใจน้ำเสียงเยี่ยงนั้นของกวี เนื่องเพราะที่ที่เขาเปล่งเสียงก็คือที่ที่เรายืนอยู่!
        ในฐานะ ‘มือโคลง’ สมัยใหม่ อังคาร จันทาทิพย์ โดดเด่นอย่างมาก แต่ผมเห็นว่ากาพย์และกลอนของเขาก็ ‘ชวนมอง’ บนมาตรฐานหนึ่ง ลักษณาการที่คล้ายจะผ่อนคลายจากกระบวนท่า หากก็เคร่งครัดอยู่ในที เห็นอยู่ว่ารักษาจารีตแบบแผน แต่กลับยักย้ายในรายละเอียดได้อย่างอิสระลื่นไหล
        รูปแบบและเนื้อหาในกวีนิพนธ์ของอังคาร จันทาทิพย์ ได้ ‘สั่งสมย่างก้าว’ มาถึงจุดที่ผมเป็นผู้หนึ่งซึ่งยินดีจะติดตามเขาต่อไปโดยไม่ลังเล!
       ข้อกังวลของผมมีเพียงว่า บทกวีอิงสถานการณ์ซึ่งมีอยู่ในรวมเล่มนี้ จะ ‘ซา’ ไปอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับตัวสถานการณ์เองหรือไม่  จะ ‘ตาย’ ไปพร้อมกับธรรมชาติของสถานการณ์นั้นหรือไม่
     ผมได้แต่หวังว่า ด้วยความประณีตตั้งใจในการเขียน ด้วยมุมมองและทัศนะอันเป็น ‘สาระหลัก’ของตัวบท และสุดท้าย ด้วย ‘อายุของศิลปะ’ จะสามารถผลักดันเนื้องานให้ข้ามผ่านข้อจำกัดและเงื่อนเวลาไปได้.

จุดเริ่มต้นเพาะบ่มการเขียนบทกวี

     เป็นคนบ้านนอกธรรมดา เกิด-เติบโตที่อำเภอมัญจาคีรี ขอนแก่น เรียนประถม จบมัธยมที่นั่น จุดเริ่มต้นบ่มเพาะการเขียน พื้นฐานครอบครัวก็มีส่วนเหมือนกัน เพราะที่บ้าน พี่ชายคนหนึ่งชอบอ่านหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์อย่างสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ พี่ๆ ชอบฟังเพลงเพื่อชีวิต ฟังคาราวาน จินตภาพจากเพลงมันติดอยู่ในใจ ทำให้ภาพท้องไร่ท้องนา ภาพชีวิตผู้คนมันแตกต่างจากภาพปกติที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เหมือนมีพลังแฝงทางความรู้สึกบางอย่างส่งทอดมาถึงการคิดการเขียน
    ช่วงเรียนมัธยมต้นชอบเข้าห้องสมุดหมวดวิชาภาษาไทย บางวันเกเรโดดเรียนไปขลุกอยู่ในร้านหนังสือเช่าของ ’พระไม้ ซึ่งเป็นกวีและเป็นครูภาษาไทยที่โรงเรียน โลกทัศน์ทางการอ่านมันเริ่มต้นจากตรงนั้น
จากหนังสือเรียนที่ไม่ค่อยได้ใส่ใจก็มุ่งไปที่หนังสือซึ่งอ่านแล้วสร้างความแปลกใจ ตราตรึงใจ หนังสือประเภทแรกๆ ที่อ่านเป็นรวมเรื่องสั้นและนวนิยายซึ่งอาจจะเรียกว่าเพื่อชีวิตเป็นส่วนใหญ่ อย่างรวมเรื่องสั้นของสุรชัย จันทิมาธร ทุกเล่ม นวนิยายของนิมิตร ภูมิถาวร งานเขียนบางเล่มของจำลอง ฝั่งชลจิตร,วิมล ไทรนิ่มนวล, ไพฑูรย์ ธัญญา ตอนนั้นงานต่างประเทศรู้จักแต่เรื่อง ‘แม่’ ของแมกซิม กอร์กี้
    คนที่ถือว่ามีส่วนเปิดโลกทัศน์ทางการอ่านการเขียนจริงๆ คือ ’พระไม้ ครูภาษาไทยผู้ก่อตั้งชมรมวรรณศิลป์ของโรงเรียน เริ่มจากการเรียนผ่านผังฉันทลักษณ์ง่ายๆ อย่างกลอนสุภาพ ไปโคลงสี่สุภาพ นับคำ เอกโท สัมผัสนอก-ในแล้วหัดแต่ง พอเริ่มจับจังหวะได้แล้วมันติด ทุกสัปดาห์ต้องแต่งกลอนไปส่งเป็นการบ้าน จากสัปดาห์ก็กลายเป็นวันต่อวัน ที่โรงเรียนเวลามีวันสำคัญก็จะมีการประกวด ก็แต่งส่งประกวด ระดับโรงเรียนมัธยมในเขตการศึกษาก็มีการประกวดอยู่ตลอด ทุกๆ ปีที่โรงเรียนจะมีค่ายเยาวชนนักเขียน ซึ่งมีวิทยากรที่เป็นนักเขียน กวีที่มีชื่อเสียงไปให้ความรู้ ขณะเดียวกัน ’พระไม้ ก็แนะนำหนังสือบทกวีให้อ่าน อย่างขอบฟ้าขลิบทอง ของอุชเชนี, สุดสงวน ของประยอม ซอมทอง งานของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นำไปสู่บทกวีของกวีท่านอื่นๆ อย่างประกาย ปรัชญา, ไพวรินทร์ ขาวงาม
จากตรงนั้น ’พระไม้คงเห็นแวว ก็เลยชวนไปอยู่ร้านเช่าหนังสือ โลกการอ่านก็เลยกว้างมากขึ้น หัดเขียนสม่ำเสมอ เขียนเสร็จก็ส่งให้อาจารย์ดู ได้รับคำแนะนำ ดี ไม่ดีอย่างไร กลับมาแก้ไขขัดเกลา สำนวนไหนพอใช้ได้หน่อย ก็ลองส่งหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์หรือนิตยสารส่วนกลาง ประมาณ ม.4 ก็มีงานตีพิมพ์แล้ว

เมื่อก้าวมาเป็นกวีหน้ารามฯ

     ไม่นับนิด ระโนด, พจนาถ พจนาพิทักษ์, ศิริวร แก้วกาญจน์, พิทักษ์ ใจบุญ, พิเชฐ แสงทอง, ลำภา มัคศรีพงษ์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนเขียนบทกวีรุ่นพี่ที่อยู่แถวรามคำแหงอยู่ก่อนหน้าแล้ว ก็มีกลุ่มคนสนใจวรรณกรรมอยู่อย่างกลุ่มศิลปวรรณกรรมและกลุ่มวรรณศิลป์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการอ่านการเขียน แรกๆ เข้าไปผูกพันกับกลุ่มเหล่านี้ก่อน ซึ่งหลายๆ คนนอกจากจะอ่านหนังสืออย่างเอาจริงเอาจังแล้วก็เขียนหนังสือกันด้วย โดยเฉพาะบทกวี ถือเป็นรุ่นราวคราวเดียวกันอย่างอภิชาติ จันทร์แดง, วิสุทธิ์ ขาวเนียม, พิเชษฐศักดิ์ โพธิ์พยัฆค์ นอกจากนี้ยังมีรุ่นพี่และเพื่อนหลายคนที่อยู่ในสายของนักวิจารณ์วรรณกรรม และคนทำหนังสื่ออย่างเริงวุฒิ มิตรสุริยะ, อารดา เปรมพันพธุ์, นพดล ปรางค์ทอง, สรายุทธ์ ธรรมโชโต ความสนใจในเรื่องวรรณกรรมชักพามาให้รู้จักกัน มันมีบรรยากาศการพูดคุยถกเถียงกันอยู่ตลอด ซึ่งน่าจะถือว่าเป็นการเกาะกุมพูดคุยกันกว้างออกไปถึงทิศทางของงานเขียนในแขนงต่างๆ เป็นการสั่งสมความรู้  การอ่าน ความคิดเห็นเพื่อปรับปรุง หรือหาทิศทางความลงตัวให้กับการเขียนของแต่คนไปด้วย
     นอกจากได้เดินทางร่วมกับเพื่อนพ้องบ่อยๆ แล้วที่สำคัญช่วงเวลานั้น 2536 เป็นต้นมา น่าจะถือว่าเป็นช่วงที่แวดวงกวีมีความคึกคักอย่างยิ่ง เพราะนอกจากกลุ่มหน้ารามฯ ที่มีการพบปะพูดคุยอย่างสม่ำเสมอแล้ว ยังมีกลุ่มคนเขียนบทกวีในที่อื่นๆ ด้วย และตอนนั้นสนามที่รองรับผลงานก็ถือว่าเยอะมาก ทั้งแมกกาซีนรายเดือน รายปักษ์ รายสัปดาห์ รายวัน ทุกคนในกลุ่มมุ่งมั่นกับงานของตัวเอง จะพูดง่ายๆ ก็คือหาที่ทางและเอกลักษณ์ของตัวเอง แต่ขณะเดียวกันก็ได้อ่าน ได้วิเคราะห์วิจารณ์งานของกวีคนอื่นๆ ที่ตีพิมพ์ตามสื่อด้วย ถือเป็นช่วงสำคัญช่วงหนึ่งของการบ่มเพาะการเขียนบทกวี

บนถนนกวีกับผลงานที่ผ่านมา

     กว่าจะได้เป็นงานเล่มแรก ‘คนรักของความเศร้า’ ปี 2542 ถือว่าใช้เวลานานพอสมควร มีบทกวีให้คัดกรองเป็นเล่มอยู่เยอะพอสมควร ให้เพื่อนๆ หลายคนช่วยดู ช่วยคอมเมนต์ด้วยว่าควรจัดวางภาพรวมของเล่มอย่างไร ถือเป็นเล่มที่ไม่ได้ทำอยากอะไร เพราะปริมาณงานที่เขียนและตีพิมพ์ไปแล้วมันเยอะ ก็แค่คัดเอาที่น่าพอ ที่ดีที่สุดในความเห็นของเรา แล้วมาจัดหมวดหมู่ อีกอย่างโดยโทนของงานมันเป็นคอนเซ็ปต์ที่พูดถึงวัยหนุ่ม การแสวงหา ความรัก การเดินทาง ความแปลกแยกต่างๆ มันจึงหาความลงตัวของเล่มได้ไม่อยาก ก่อนหน้านั้นทำเป็นเล่มทำมือมาก่อนด้วย ประกอบกับห้วงเวลานั้นเพื่อนอีกคนคือวาด รวี กำลังจะทำสำนักหนังสือใต้ดินร่วมกับเพื่อนรุ่นพี่และเพื่อนๆ ต้นฉบับคนรักของความเศร้าเสร็จพอดี ก็เลยพิมพ์ จะว่าไปสำนักหนังสือใต้ดินช่วงนั้นก็พิมพ์บทกวีของกวีหลายๆ คนออกมา ส่วนหนึ่งเพราะโดยตัวของเพื่อนพ้องที่สร้างสำนักหนังสือใต้ดินขึ้นมานั้น มีจุดประสงค์หลักๆ เพื่อรองรับงานเขียนของนักเขียน กวีรุ่นใหม่ที่อาจจะยังไม่มีชื่อเสียงมากนัก แต่โดยตัวของงานอยู่ในระดับที่ไม่ขี้ริ้วขี้เหร่ มีเนื้อหาน่าสนใจ หาสำนักพิมพ์เผยแพร่ไม่ได้ หรือบางทีตัวนักเขียนหรือกวีเองเบื่อหน่ายกับระบบของการเสนองานด้วย ก็เอาต้นฉบับมาช่วยกันอ่าน ช่วยกันคัดกรอง
2544 รวมบทกวี ‘วิมานลงแดง’ กับสนพ.ดับเบิ้ลนายน์, 2550 ‘ที่ที่เรายืนอยู่’ กับสนพ.Shineถือว่าทิ้งระยะเวลาห่างจากเล่มสองมาพอสมควร

มองภาพรวมกวีไทย

     อาจจะดูเงียบเหงาไปบ้าง แต่บทกวีคงไม่ตายอย่างที่ใครๆ ก็พยายามสาปแช่งมั้ง คือโดยรวมกวีแทบจะทุกคนเขียนถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับสังคมอยู่แล้ว ว่ามันมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น แล้วระดับของเนื้องานโดยรวมมันก็ไม่ถึงกับเลวร้าย หรือรูปแบบการนำเสนอมันก็ไม่ได้ห่วยแตกขนาดนั้น ทั้งนี้ไม่ต้องพูดถึงเรื่องกำแพงความยากง่ายในการเข้าถึงที่ใครต่อใครพยายามกล่าวโทษ หากฉันทลักษณ์มันยาก กลอนเปล่าก็มีอยู่ ฉะนั้นคำถามกลับกันคือ คุณใส่ใจอะไรอยู่? หรือคนในสังคมปัจจุบันเขาสนใจอะไรอยู่?
    ความอิหลักอิเหลื่อที่คำถามนี้สร้างให้กับคนเขียนบทกวีหรือคนเขียนหนังสือต้องตอบ แท้จริงแล้วมันอาจจะไม่ได้อยู่ที่กวีหรือนักเขียนเสมอไป ขณะเดียวกันหากเขาเหล่านั้นถามกลับว่าคุณใส่ใจอะไรอยู่? หรือคนในสังคมปัจจุบันเขาสนใจอะไรอยู่? หรือกระทั่งถามว่าคนอ่านมีคุณภาพพอสำหรับงานเหล่านี้หรือเปล่า ก็อาจจะถูกมองว่าดูถูกคนอ่าน อหังการ์
แต่มีความจำเป็นขนาดไหนที่นักเขียนหรือกวีคนหนึ่งต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการเขียนในสิ่งที่ไม่ได้เชื่อ ศรัทธา เพื่อเป้าหมายทางการตลาด หรือเพื่อจะได้รับความนิยม

สนามกวีที่ลดลงมีผลกับการเกิดใหม่ของกวีไหม?

     คงมีอยู่บ้าง ถ้าจะนับจริงๆ มันเหลือแค่ไม่กี่ที่ 4-5 ที่เองมั้ง ความใหม่ของคนทำงาน อาจต้องการการยอมรับอยู่บ้าง เมื่อสนามมันลดน้อยลงไป มาตรฐานที่สูงขึ้น คนเขียนใหม่ๆ คุณภาพงานอาจไต่ระดับไม่ถึง พอส่งงานแล้วหายบ่อยเข้า คนเขียนอาจจะรู้สึกว่าไม่มีที่สำหรับเขา ทำให้รู้สึกท้อใจได้


   คณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์ประกอบด้วย ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กทม. เป็นประธานการดำเนินงานรางวัลซีไรต์ , นายกสมาคมภาษาและหนังสือฯ นายกสมาคมนักเขียน สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และสมาชิกอาวุโสทั้ง 2 สมาคม และตัวแทนจากสถานทูตประเทศอาเซียน
   และสำหรับคณะกรรมการตัดสินประกอบด้วย 1.รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร 2.เจน สงสมพันธุ์  3.รศ.ทวีศักดิ์ ปิ่นทอง  4.ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา  5.นรีภพ จิระโพธิรัตน์ สวัสดิรักษ์  6.ดร.พิเชฐ แสงทอง


อ้างอิงข้อมูลจากคอลัมน์คุยนอกรอบ http://www.praphansarn.com/article/detail/890

สนอง เสาทอง


หัวข้อ: Re: คิดอย่างไรที่กวีนิพนธ์ซีไรต์ปีนี้ส่วนมากเป็นกวีไร้ฉันทลักษณ์
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 06 กันยายน, 2556, 05:13:22 PM
พอดีผมเชียร์กวีไร้ฉันทลักษณ์ท่านหนึ่งในใจลึกๆ แต่พลาดก็ไม่ว่ากัน

แต่บทกวีซีไรต์ไร้ฉันทลักษณ์ (กลอนเปล่า) ที่คว้ารางวัลเมื่อคราวก่อนคือ "ไม่มีหญิงสาวในบทกวี" ของ ซะการีย์ยา อมตยา โดยส่วนตัวด้วยความเคารพ ผมไม่ชอบเลย แต่ก็อ่้่านจนจบเหมือนบทกวีเล่มอื่นๆ (ทั้งที่ได้ซีไรต์และไม่ได้ซีไรต์) คือรักและหลงใหลในวรรณศิลป์ ทุกรูปแบบ แต่ใจอยากเห็นกลอนไร้ฉันทลักษณ์ (ได้รับการยอมรับมากกว่านี้) เพราะก่อนหน้าที่ ซะการีย์ยา อมตยา จะได้ซีไรต์นั้น กวีไร้ฉันทลักษณ์แทบไม่มีพื้นที่ให้ยืนเลย โดยเฉพาะในสื่อสิ่งพิมพ์กระแสหลัก

ผมเองนั้นเขียนและอ่านทั้งกวีฉันทลักษณ์และไร้ฉันทลักษณ์มาตั้งแต่ต้น บางครั้งก็ยังเคยจับมารวมกันไว้ในบทเดียว อันเป็นงานเชิงทดลอง เป็นการพยายามแหวก, หาช่องสำหรับหายใจ หรือเป็นการพยายามสลายกำแพงความตึงเคร่งของกรอบฉันทลักษณ์ให้บางเบา ยืดหยุ่นในการดื่มเสพ เข้าถึง รวมทั้งเป็นการพยายามสร้างบางสิ่งที่ตนเองคิดว่า "น่าจะลองทำดูนะ" แต่ก็มักโดนติติงเชิงบังคับว่า "ให้เลือก" อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อไม่ให้ "ขนบจารีต" อันเป็น "ความศักดิ์สิทธิ์" ของกวีนิพนธ์ฉันทลักษณ์ต้อง "วิบัติ" ก็เคยแย้งว่า "กลบท" ต่างๆ มีการพัฒนาเลื่อนไหลอยู่ตลอดเวลา เขาก็แย้งว่า แต่มันก็อยู่ในกรอบโครงสร้างฉันทลักษณ์ก็เลยต้องยอมเงียบ เขียนดีกว่า พูดไปไยมี

ประเด็นแรกที่อยากพูดถึงคือ (จากที่ทำตัวหนาไว้ในหน้าแรก) ใจจริงอยากเห็นความรุ่มรวยและหลากหลายในงานวรรณศิลป์ ความหลากหลายทั้งรูปแบบและเนื้อหา เพราะอารมณ์กวีนั้นก็คือปุถุชนสามัญทั่วไป มีทั้งรัก โลภ โกรธ หลง เมตตา สงสาร เห็นใจ น้อยใจ คับข้องใจ หรือกระทั่งอารมณ์ประชดประชัน ฯลฯ ส่วนนี้เป็นเนื้อหา ในส่วนรูปแบบนั้นก็ทั้งฉันทลักษณ์ ไร้ฉันทลักษณ์ หรือการแสวงหาแนวทางอื่นๆ เช่น "อุนนุน" ของนิ้วกลม หรือการได้อ่านงานของฟ้า พูลวรลักษณ์ (มติชนฯ) ผมรู้สึกตื่นเต้นทุกๆ ครั้งที่เห็นใครนำเสนอรูปแบบกวีใหม่ๆ เข้ามาให้อ่าน (รวมเนื้อหานำเสนอ)ชอบหรือไม่ชอบเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่จะเพ่งสมาธินั่งอ่านงานที่ "แหวกแนวกระแสหลัก" นั้นอย่างครุ่นคิดคำนึง ซ้ำ ๆ เพื่อค้นหาอะไรบางอย่าง รวมทั้งแอบชื่นชมกลุ่มคนสร้างงานเหล่านี้ว่า "ช่างกล้า" หรือประเภทว่า "เธอ/นาย แน่มาก"

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ พื้นที่สำหรับคอลัมน์กวีในสื่อกระแสหลักเดี๋ยวนี้มีน้อยมาก ประมาณ 4-5 เล่ม หลักๆ ก็ มติชนสุดสัปดาห์, สยามรัฐฯ , เนชั่นฯ (ทั้งหมดนี้เป็นรายสัปดาห์), ศิลปวัฒนธรรม (รายเดือน) ฯลฯ นอกนั้นเป็นรายสะดวกคือไม่ประจำเสียส่วนมาก เช่น ในสารคดีที่นานๆ มีบทกวีโผล่มาที นอกนั้นก็ประปราย ผมเองมีคอลัมน์บทกวีของตัวเองอยู่ใน What HiFi? (รายเดือน) ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า คนอ่านบทกวีน้อยจริงๆ เหมือนกับที่มีคนเคยกล่าวว่า "ผลัดกันเขียน เวียนกันอ่าน และวานกันชม" เพราะมีคนอ่านบทกวีจำกัดอยู่ในวงแคบๆ กวีหน้าใหม่ที่จะได้รับการลงตีพิมพ์ต้องมีเนื้อหาที่ "แปลก แตกต่าง โดดเด่น และเป็นที่น่าสนใจยิ่งจริงๆ " โดยเฉพาะเนื้อหา โวหาร มุมคิด/มุมมอง ฯลฯ ถึงบรรณาธิการจะหยิบแหวกขึ้นตีพิมพ์ เพราะหากเรียบๆ เช่นกับคนอื่นๆ ทั่วไปที่มีอยู่เกร่อ เขาสู้ลงบทกวีของนักเขียนมีชื่อมือเก่าดีกว่า คือตัวงานไม่แตกต่าง ดังนั้นจึงถูกบังคับไปในตัวกลายๆ ให้จำต้องลงพวกบิ๊กเนม มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก

ทางเลือกของกวีทั้งหน้าเก่า/ใหม่จึงไหลไปรวมที่งานประกวดเป็นส่วนใหญ่ ก็ไม่ต้องแปลกใจ อย่างน้อยทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงได้เท่าเทียมกัน คือได้แสดงฝีมือความสามารถ มุมคิด/มุมมองให้กรรมการได้อ่าน เรื่องเข้ารอบ/ตกรอบและได้รางวัลแทบจะเป็นประเด็นรอง เพราะประเด็นหลักจริงๆ คือ เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมเสมอหน้า

สุดท้ายที่ดีใจมากๆ ก็คือ ตอนนี้มีเว็บไซต์กลอนมากมายเป็นสนามให้ทุกคนที่เป็นทั้งหน้าเก่า/ใหม่ และที่อยากจะเขียนได้ "เข้าถึงและเข้าง่าย" ต้องขอบคุณเว็บมาสเตอร์และทีมงานเว็บฯ และบล็อกออนไลน์ทุกเว็บฯ บล็อก (ไม่เฉพาะแต่อารมณ์กลอนเท่านั้น) ที่ "เปิดพื้นที่สร้างโอกาสให้กับคนที่รักและต้องการเขียนกลอน/กวีโดยเสมอภาพและเท่าเทียมกัน" การติชมท้วงติงเป็นเรื่องธรรมดามาก เมื่อก่อนนั้นบรรณาธิการแต่ละท่านเลือกติชมบทกวีด้วยการ "ตีพิมพ์" หรือไม่ก็ "โยนทิ้งถังขยะ" แต่ก็มีบางท่านตอบติชมเป็นการส่วนตัวเพื่อเป็น "กระจก" และเป็น "ตะเกียง" ให้กับนักเขียนหน้าใหม่ได้ปรับปรุงผลงานตัวเอง ทำให้เกิดการพัฒนาในทักษะ ฝีมือ และที่สำคัญสุดคือจะไม่แตะในส่วน มุมมอง/แนวคิดในเนื้อหาบทกวี ดังนั้น สำหรับใครทุกคนที่รักและหลงใหลในงานวรรณศิลป์ควรอย่างยิ่งที่จะทำตัวเป็น "แก้วน้ำที่ว่างและมีที่พออยู่เสมอที่จะเติมน้ำใหม่ลงไป" คำติชมทักท้วงนั้นเป็นประดุจกระจกและตะเกียง เป็นสิ่งล้ำค่ามากๆ ต้องพร้อมรับฟังอย่างมีโยนิโสมนสิการ ผมเองมีความสุขทุกครั้งที่ถูกติชมและพยายามที่จะปรับปรุง  (แต่ไม่ใช่ที่แนวคิด/มุมมอง) โดยเฉพาะในช่วงหลังๆ เริ่มใส่ใจฉันทลักษณ์มากขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าไม่สนใจกับฉันทลักษณ์แต่ต้น ผมก็เหมือนกับคนอื่นๆ อีกหลายๆ คนที่โตมาจากการท่องบทอาขยานในห้องเรียนตอนประถม (อาทิ เห็นกวางย่างเยื้องชำเลืองเดิน...ฯ และอื่นๆ ) จากนั้นก็หลงใหลงานท่านสุนทรภู่ เริ่มต้นงานเขียนแบบกลอนฉันทลักษณ์ทั่วๆ ไป พอถึงจุดๆ หนึ่งก็เบื่อ เริ่มแหวกนิดแหวกหน่อย คือมันอึดอัด พอแหวกไปสักระยะมันก็ไม่ได้ไปไกลกว่าฉันทลักษณ์ที่เราเคยมองว่าเป็นกำแพง/กรอบ ช่วงหลังๆ ก็เริ่มกลับมาเขียนงานฉันทลักษณ์มากขึ้น อย่างคอลัมน์กวีนิพนธ์ประจำของผมใน What HiFi? จะเป็นทั้ง โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ตอนแรกๆ ก็เล่นแหวกๆ แต่ดีใจมากๆ ที่มีปิยมิตรจำนวนหนึ่ง (น้อยมากๆ คือคนอ่านกลอน/กวีมันน้อยอยู่แล้ว) ท้วงติง แนะนำ ก็เลยรู้สึกตื่นเต้นเล็กๆ ที่จะเขียนตามขนบฉันทลักษณ์มากขึ้น คือพอมีคนอ่านแล้วติชมท้วงติง มันก็มีความสุข และไม่อยากใ้ห้คนที่เขาอ่านงานเราผิดหวัง ก็เลยปรับเข้าหาฉันทลักษณ์มากขึ้น (เคาะสนิมใหม่และเคาะยากมากมันจับตัวหนาเขรอะนานแล้ว ฮ่าๆๆ)

การติชมนั้นสำหรับผมแล้วจะรู้สึกดีใจมากๆ มองเป็นเรื่องที่ดี มองผู้ติชมเสมือนเป็นกระจก และตะเกียง หรือ ครู แต่ต้องติชมอย่างปิยมิตร, กัลยาณมิตร และเป็นสุภาพชน และติชมที่ตัวรูปแบบ (ตัวฉันทลักษณ์) เท่านั้นนะครับ ซึ่งผมเองก็จะพยายามปรับปรุงผลงานตัวเองที่ถูกติชมนั้นให้ดีที่สุดแบบเต็มสติปัญญาเท่าที่จะทำได้ คือกลัวท่านผู้ติชมเขาจะเสียใจด้วย ว่า "สอนยากสอนเย็น" อะไรประมาณนั้น แต่สำหรับในเรื่องเนื้อหา มุมมอง ทัศนคติ มโนทัศน์ ตลอดจนแนวคิดในตัวบท (text) ในตัวบทกวีนั้นๆ แฮะๆๆๆ กรุณาอย่าติเลยครับท่าน ผมมีมุมมองและวิธีคิดที่สอดคล้องสัมพันธ์กับการใช้ชีวิตของตนเอง คงยากที่จะเปลี่ยนให้ผมเป็นอย่างอื่น คือแก่แล้วแก่เลยกะโหลกกะลา ก็ต้องขอโทษที่เอ่ยนาม ถ้าแนะนำติชมแบบปิยมิตรอย่างท่าน "ระนาดเอก" ผู้ถูกติชมท้วงติงย่อมมีความสุข คือติชมอย่างกัลยาณมิตร (รวมปิยมิตร) และผู้ถูกติชมก็ย่อมไม่อยากให้ท่านผิดหวังด้วย (ขอใช้สิทธิ์พาดพิงกลับก็ได้นะครับท่านระนาดเอก) อย่างนี้เป็นต้น

ขอบคุณเว็บมาสเตอร์และเว็บบล็อกทั้งหมดที่มีอยู่มากมายในขณะนี้ที่อุตส่าห์เสียสละอย่างยิ่งมาทำกันด้วยใจรัก (ผมคิดว่าอย่างนั้นนะครับ) ถ้าไม่มีพวกท่านเหล่านี้ บทกวีอาจจะถูกบอนไซคับแคบอยู่ในพื้นที่จำกัดอันเป็นสื่อสิ่งพิมพ์กระแสหลัก เพื่อรอวันที่จะล้มหายตายจากไปเท่านั้น    

ก็คงเท่านี้นะครับ แม้ผมจะผิดหวังเล็กๆ ที่แอบเชียร์กวี (ไร้ฉันทลักษณ์/กลอนเปล่า) ท่านหนึ่ง/เล่มหนึ่งแต่ไม่ได้ซีเรียสครับ เพียงแต่อยากให้กลุ่มกวีไร้ฉันทลักษณ์ (กลอนเปล่า) มีพื้นที่มากขึ้นทั้งในส่วนสื่อสิ่งพิมพ์ ออนไลน์ และกับสถาบันรางวัลต่างๆ  

ขออภัยเมื่อเช้าเข้าเว็บฯ แล้วพิมพ์ พอดีมีธุระสำคัญด่วนเข้ามาแทรกเลยลืมปิดคอมฯ แช่นานกว่า 2 ชั่วโมงมั้งถึงได้เข้ามาพิมพ์ต่อและส่งครับ


ด้วยจิตคารวะ

สนอง เสาทอง

๘/๙/๕๖



หัวข้อ: Re: คิดอย่างไรที่กวีนิพนธ์ซีไรต์ปีนี้มีบทกวีไร้ฉันทลักษณ์มากขึ้น
เริ่มหัวข้อโดย: hort39 ที่ 07 กันยายน, 2556, 04:55:10 PM
ขอ อนุญาต แสดงความเห็นครับ

เรื่องของฉันทลักษณ์ในบทกลอนนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อน บางครั้งเราแนะนำด้วยความหวังดี ก็กลายเป็น การติติง ก้าวก่ายไปได้ เวลาที่เห็นใครเขียนกลอนผิดฉันทลักษณ์ จะไม่กล้าทัก นอกจากว่าสนิทกันจริงๆ

ตัวผมเอง เขียนกลอน โดยอาศัยความรู้สมัยประถม ก็พอรู้ว่ารูปแบบที่่ถูกต้องเป็นอย่างไร แต่ก้ไม่ได้แตกฉาน พร้อมจะรับฟังคำชี้แนะเสมอๆ

คนที่เขียนกลอนนั้น มาจากต่างครอบครัว ต่างวิถี คนที่อยู่ในแวดวงตั้งแต่เด็กๆ ก็จะเคยชินกับกฏเกณฑ์ ในการเขียนกลอน  ส่วนคนที่เขียนจากประสบการณ์นั้น ก็จะไม่เน้นกฏเกณฑ์มากนัก เน้นอารมณ์ความรู้สีกมากกว่า

ยอมรับว่าการแต่งกลอนให้ได้ทั้งอารมณ์และถูกต้่องตามฉันทลักษณ์นั้นไม่ง่ายสำหรับผม แต่ก็พยามยามทำให้ครบครับ
การแต่งกลอนของคนรุ่นใหม่อาจจะยืดหยุ่นมากขึ้น ทำนองเดียวกับภาษาวัียรุ่นที่เพี้ยนมากขึ้น (ในความรู้สึกของเรา แต่วัยรุ่นเขานิยมชมชอบ)

ผมว่าการที่บทกวีมีฉันทลํกษณ์เพื่อให้เป็นกรอบแนวทางได้ศึกษาอย่างถูกต้อง แม้กลอนที่แต่งกันรุ่นหลังๆจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในโครงสร้างที่เหมือนกัน ทำให้รู้่ว่าเราก็เป็นคนเขียนกลอนรักในบทกลอนเหมือนกัน ถ้าไม่มีฉันทลักษณ์ซะเลยการแต่งกลอนก็คงไม่สนุกไม่น่าสนใจ

ผมยังไม่ได้อ่านบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ แค่ฟังชื่อก็แปลกแปร่งครับ แต่คิดว่าจะไปหาอ่านดูเหมือนกันครับ


หัวข้อ: Re: คิดอย่างไรที่กวีนิพนธ์ซีไรต์ปีนี้มีบทกวีไร้ฉันทลักษณ์มากขึ้น
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 07 กันยายน, 2556, 10:39:48 PM
ขอ อนุญาต แสดงความเห็นครับ

เรื่องของฉันทลักษณ์ในบทกลอนนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อน บางครั้งเราแนะนำด้วยความหวังดี ก็กลายเป็น การติติง ก้าวก่ายไปได้ เวลาที่เห็นใครเขียนกลอนผิดฉันทลักษณ์ จะไม่กล้าทัก นอกจากว่าสนิทกันจริงๆ

ตัวผมเอง เขียนกลอน โดยอาศัยความรู้สมัยประถม ก็พอรู้ว่ารูปแบบที่่ถูกต้องเป็นอย่างไร แต่ก้ไม่ได้แตกฉาน พร้อมจะรับฟังคำชี้แนะเสมอๆ

คนที่เขียนกลอนนั้น มาจากต่างครอบครัว ต่างวิถี คนที่อยู่ในแวดวงตั้งแต่เด็กๆ ก็จะเคยชินกับกฏเกณฑ์ ในการเขียนกลอน  ส่วนคนที่เขียนจากประสบการณ์นั้น ก็จะไม่เน้นกฏเกณฑ์มากนัก เน้นอารมณ์ความรู้สีกมากกว่า

ยอมรับว่าการแต่งกลอนให้ได้ทั้งอารมณ์และถูกต้่องตามฉันทลักษณ์นั้นไม่ง่ายสำหรับผม แต่ก็พยามยามทำให้ครบครับ
การแต่งกลอนของคนรุ่นใหม่อาจจะยืดหยุ่นมากขึ้น ทำนองเดียวกับภาษาวัียรุ่นที่เพี้ยนมากขึ้น (ในความรู้สึกของเรา แต่วัยรุ่นเขานิยมชมชอบ)

ผมว่าการที่บทกวีมีฉันทลํกษณ์เพื่อให้เป็นกรอบแนวทางได้ศึกษาอย่างถูกต้อง แม้กลอนที่แต่งกันรุ่นหลังๆจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในโครงสร้างที่เหมือนกัน ทำให้รู้่ว่าเราก็เป็นคนเขียนกลอนรักในบทกลอนเหมือนกัน ถ้าไม่มีฉันทลักษณ์ซะเลยการแต่งกลอนก็คงไม่สนุกไม่น่าสนใจ

ผมยังไม่ได้อ่านบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ แค่ฟังชื่อก็แปลกแปร่งครับ แต่คิดว่าจะไปหาอ่านดูเหมือนกันครับ


(ตัวอย่างกลอนเปล่า อาจไม่ใช่บทกวีที่ดี่สุด แต่คนกวีควรอ่านอย่างยิ่ง)

กาบแขวนไว้ข้างกลอน (ประตู)
'รงค์ วงษ์สวรรค์

๑.
เรณูปรูโปรย
วิรงรองแม่นว่าพลับพลึง
เพทายแก้วก่ำหม่น
กรวด, แก้วเก็จกาววาว
แมงบ้ง, จั๊กกิ้มจั๊กกะเล้อ
ร่านระดาฤดี
๒.
หยาดน้ำค้างพร่างเพรียง
ไมกากลีบหินชุ่มชรอุ่ม
ดิน, ดาน, กำหนัดสันดาน
ดลดอนถนนคอนกรีท
ถัน, ถนัน, ถนนแน่วพ้นบ้าน
ม่าน, ควันมลพิษ
บ้า, ใบ้, ไขสือไม่ยินยลก่นโคตร
เมามนอำนาจแลเงินขุ้นขึด
ไอ้ขี้ฮากสองกอง
แม่งมลาย
๓.
แพร่งสบสังวาส
บนชานชาลาสถานีขี้เหมี้ยง
หลุผุ
หมอนไม้รองเรียงรับเหล็กขนาน
สร้อยสนิมอเนกอนาจาร
สีการาคะสมีสถุลถ็อกถ่อน
ก่อก่นกลกามกะหลี่-
กัญชา,
ฝอยทอง,
๔.
บ่ายเวลานาฬิกาคล้อยคล้าย
หวีดหวูดรถไฟบรรเลง
โฉงเฉงฉอกเฉกเฉวียนไฉน
ฉลุฉลวยดำรู
สิมพลีแม่นว่าไม้งิ้ว, หนามไหน่
จั๊กกะเล้อเหลือง, ไอ้โล้น,
โดนขย่มกบาลแยงเยียน, เยียใด
อีร่านเริงร่า
๕.
อ้าปากขบกัดกินไก่ไฟ,
ย่างเกรียมนุ่มนุช
โซดา, เทวา, เดวาร์อมฤตรส
ละมุด, ละเม็ดถั่วถิมทิ่มเกลือกลอกกลิ้ง
ถาโถมถ้อย,
ก้อย, กุ้งเกรียบกรอบ
เผาเผ็ดพริกเค็มน้ำปลาเปรี้ยวมะนาว
สยิวเสยียว
๖.
แก้วคลาไคลรมเยศ
ขมุบขมิบขมมคลึงเคล้าอรทัย
อร่อยแอร่มลำหลายปลายนิ้ว,
ปลายลิ้น,
กุนเชียงยำแตงกวา,
กุ้งพล่า, ส้มฟักแนมขิง,
จื่น, จ่าว, เจียวผักแคบ,
แอบอิงยำไก่ลาบฟัก,
ส้ามะเขือหำม้าเห็ดถอบ,
แค็บหมูไส้อั่วพริกอ่อง,
แกงขนุนคั่วผำตำพริกอีเก๋,
ผักเชียงดา, ขี้ก๋วง, ขี้เสียด,
ส้าน, ส้าน, เสี้ยน, เสี้ยน, เสี้ยน,
เหียนหัน,
หิวหื่นกามา,
กาเฟอีน,
โคเคน, รเบงระบำอ้อนแอ้น
แคนธาริดีสแม่นว่าแมงงนสเปน
สะป๊ะสป่าย,
ก่ายเกย,
ป่นปี้สี้ไสยาล่วงชู้ทรามเชย
ในโบกี้บังม่านนอนโท
๗.
เลขผาบนหน้าปัดจรลี, ผ่านเวียง,
สเปกตรัมแผดแผ่รังสี
อมรา, อมีบา, สาลี, ข้าวโพดเทียน (อบเนย)
แหนม, แนมเหน็บนวลนาง
แกงอ่อม, แกงแคแลนแคลิ่น
แคเต่าแคเห็ดทั้งปลาฝา
ส้าผักกูดแมงมันแลมดส้ม
ต้มปุ๋มหนา
ลาบไก่อ็อกปลากั้งปลาปก,
ร้าวรัญจวน
๘.
รุกรวดวัวเถลิงล่นถึงแปดอย
เครือออนบานไสว
แดดแรแสงสาดเส้า, กาสะลอง,
กันเกรา, กะล่า, กรักแก่นบะลิดไม้,
เอื้องเผิ้งสามปอย, แกถวา,
สารภีผกาฟ้ามุ่ย,
เม็ดทราย,
๙.
สไบ, บิกินี, มาร์ทินีมะกอกเทศ
หม้อห้อม, เตี่ยวยีนส์ปีนป่าย
จำปาจำปีคางคากแลยางเนิ้ง
มะแขว่น, ปลากั้ง, ก้าน, แกด,
ปลาเหยี่ยน, เป้า, ปาน, สะป๊าก,
ไหน่, หนอน,
แน้, ปูนา,
น้ำเมี้ยงน้ำปู, ข้าวมวก
มะเหนียกน้ำมณีเม็ดใน, หนอง
ฟักหม่น, น้ำตาชุ่มกว่าน้ำฝน,
กูเป็นคน,
หนึ่งไม่เป็นสองรองไผ
หน็อย—กูเป็นหนองในโกโนเรีย
๑๐.
หยาดร้อยหยดโอดโอย
อีแม่โป่ใคร่หวัวไยไพ
แมงงน, ขี้เดือน, กำบี้, กำเบ้อ, ก่ำปุ้ง,
แปดเปื้อนสังคมสังคัง, สังคัน
นกแล, กองกอย, เกว๋น,
แอ่นแวน, กะบ้า,
เอี้ยงคำ,
เอี้ยงขี้หมาแหม้นมะม่วง (ฝี)
แม่ฮ้างแม่เฮือนเบือนหน้า
นมแมว, สะบันงา, เค็ดเค้า,
อูน, ออนเครือ, สารภีสลิดก้าน
มะลิซ้อนกาบกลีบอ้าซอนลอน
วาบวับหวี่หวิวหวิว,
หวิว,
วอนแวนว้อง,
วงเวียนเทียนหมกไม้
๑๑.
บานหน้าต่างประตูกลอน
กร่อนกาพย์ยานีคาบคารวะโยนี
อมีบา, บักเตรีสไปริลลัม,
ขอกคอกคั้นเคี่ยวเมฆา,
วิลย,
วิลัยวิลัยวิลาป
ครั่งเคียงไฟแลไขเคียงแดด
ต่อมแตกเร่าร้อนละลาย
กรวดวางไว้บนกรวด
ทรายวางไว้บนทราย
อากาศวางไว้บนอากาศ
นบนอบน้อมเนิ้ง
สุมาเต๊อะ—ไอ้หน้อยนี้บ่แม่นว่ากวี
กะทกรกก้นแง้นงึดง่าว
แม้นว่าคนสาละวีกจิตหลุนั้นแม่นแล้ว, ป้อเฮย


***'รงค์ วงษ์สวรรค์ ฉายา "พญาอินทรีในสวนอักษร" อยากให้สังเกตชั้นเชิงลีลาโวหารและสำนวนความเป็นนักเลงภาษา เนื้อหาอาจหมิ่นเหม่สองแง่สามง่ามไปบ้าง แต่เป็นบทกวีเกียรติยศที่อนุชนรุ่นหลังน่าจะได้อ่าน

***พิมพ์ครั้งล่าสุดใน สองบทกวีประดับไว้ในวงวรรณ, นัยน์ตาของโคเสี่ยงทาย, กวีนิพนธ์รางวัลยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๒, กรุงเทพฯ, อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิซชิ่ง, 2552

***พิมพ์ครั้งที่ ๒ ลมบาดหิน

***พิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร HI-CLASS


หัวข้อ: Re: ซีไรต์ 2556 รวมบทกวี “หัวใจห้องที่ห้า”
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 08 กันยายน, 2556, 10:35:52 AM
***ลืมบอกไป (ตามจรรยามารยาท)

ข้อคิดเห็นในหน้าแรกของกระทู้นี้ ผม copy แบบยกมาทั้งดุ้นจากที่ได้อ้างอิงถึงไว้ท้ายบท

ส่วนหน้าที่สองเป็นความเห็นส่วนบุคคลของผมเองคนเดียวนะครับ ไม่ได้เกี่ยวกับบุคคล สถาบัน หรืออะไรใดๆ ทั้งสิ้น


การนำเนื้อหาบทความจากที่อื่นเป็นมารยาทอย่างยิ่งที่ต้องกล่าวอ้าง หรือ link ไปถึงอันเป็นการให้เกียรติกัน


สนอง เสาทอง

๘/๙/๕๖


หัวข้อ: Re: ซีไรต์ 2556 รวมบทกวี “หัวใจห้องที่ห้า”
เริ่มหัวข้อโดย: สนอง เสาทอง ที่ 08 กันยายน, 2556, 01:40:31 PM
***ตัวอย่างบทกวีที่ผมพยายามจับเอากวีไร้ฉันทลักษณ์ (กลอนเปล่า) มาผสมผสานกับกวีฉันทลักษณ์ คือ เขียนกลอนเปล่าแบบให้มีสัมผัส แต่จะไม่ใช่เป็นการยึดกฎเกณฑ์การสัมผัสตามขนบกวีฉันทลักษณ์ (กลอนแปด) เพียงต้องการให้ได้เสียงคล้องสัมผัสอ่านลื่นไหลเท่านั้น ซึ่งในหนังสือกวีนิพนธ์ อุ่นลมรัก พัดคืนหวน มาอุ่นใจ (สนพ.วิภาษา, ตีพิมพ์ปี 2554) เป็นบทกวี หรือกลอนเปล่าที่ใส่เสียงสัมผัส คือ “ทดลองทำดู” โดนด่าอยู่มาก และที่ชื่นชมก็มีอยู่บ้าง จนผมต้องนำหลายบทที่รวมเล่มในครั้งนั้นมาปรับปรุงใหม่เป็นกวีฉันทลักษณ์ทยอยลงตามสื่อออนไลน์ เช่น อย่างหลายบทที่ปรับปรุงมาวางในอารมณ์กลอน

...ย้ำอีกครั้งครับว่านี่เป็นกลอนเปล่า (ไร้ฉันทลักษณ์) แต่จับมาใส่เสียงสัมผัส เดี๋ยวจะเข้าใจผิดกัน…

ยามอุ่นรัก...ห่มเอมใจ

ยามอุ่นรัก...อุ่นห่มใจ
อุ่นใดเท่า, อุ่นใดเทียบปาน
ใยแท้รักทอถักอุ่นละมุนดวงมาน
วาดวิมานฉิมพลี...แรฤดีสวรรค์ฟ้า

เมื่อดวงใจ...กอดกุมแท้รัก
เกี่ยวร้อยบ่วงจิตรัดรึงแร้วเสน่หา
สองแรงใจป่ายฝันรักเต็มศรัทธา
อุปสรรคนานา...มิอาจกั้น

ยามสองใจ...ออมฝันรัก
อุ่นอิงพำนักจิบดื่มรักฝัน
ห่มอุ่นกอดใจกันและกัน
สุขมาพลัน...อาบซ่านใจ

เมื่อสองใจ...ปักป้ายรัก
เฝ้าฟูมฟักผลิช่องาม ณ รวงหฤทัย
จึงวาดช่อรุ้งฝันรักนั้น, งามสีแรระบาย
หวังแปงป้าย...สร้างฝันจริง

ยามดวงใจ...พูนฝันรัก
ต่างฝันเดียวกัน...ฝันหอมรักยิ่ง
สองใจสองกาย...ฝันหวังอุ่นอิง
เอนพักพิง...ในอ้อมฝันนั้น

เมื่ออุ่นรัก...ห่มเอมใจ
ใดใดในทุกสิ่งกล่อมหวาน
ใดใดในแท้รักงดงาม
โลกดุจวิมาน...สวรรค์ฟ้าฯ

จาก
สนอง เสาทอง, กวีนิพนธ์ อุ่นลมรัก พัดคืนหวน มาอุ่นใจ, กรุงเทพฯ, วิภาษา, 2554