เว็บไซต์อารมณ์กลอน เว็บไซต์สำหรับผู้มีกลอนในหัวใจ..

บทกลอนไพเราะ => กลอนให้แง่คิด => ข้อความที่เริ่มโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 14 กันยายน, 2556, 07:37:50 PM



หัวข้อ: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 14 กันยายน, 2556, 07:37:50 PM

สวัสดี ทุกท่าน      "รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด" ลองติดตาม "สัจธรรม" จาก "รำลึกหัวตะพานบ้านเก่า"
 ผมจะทะยอยลงติดต่อกันไป และจะนำแต่ละตอนแยกเป็นชื่อเป็นประเด็น เผื่อได้ ต่อบทกลอนกันบ้าง



                                               ด้วยความจริงใจ
                                                      จาก
                                                ธรรมชาติธรรม
                                           http://www.naturedharma.com
                                               ประทีป  วัฒนสิทธิ์
  


หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 14 กันยายน, 2556, 07:40:10 PM
สอนด้วยจิตวิญญาณ

 ๑ รำลึกถึงหัวตะพานถิ่นฐานเกิด
สุดประเสริฐน้ำใจในน้องพี่
หมู่เพื่อนพ้องญาติสนิทมิตรไมตรี            
ต่างมากมีน้ำใจใคร่อาทร

   ๒  ธรรมชาติอุดมสมป่าเขา                        
มีให้เรามองเห็นเป็นอนุสรณ์
คราครั้งหนึ่งตรึงใจในป่าดอน                
คือนครธรรมชาติประกาศตน

  ๓   เด่นดีสมอุดมธรรมค้ำปกป้อง                    
สืบครรลองธรรมดามหากุศล
ก่อเกิดบุญรุ่นเก่าของเผ่าชน                          
คือมรรคผลของธรรมดาค่าอนันต์

   ๔  ตัดเบียดเบียนแก่กันสรรค์แต่ให้                
เปี่ยมน้ำใจดุจเแคว้นแดนสวรรค์
ต่างคิดเหมือนทุกอย่างมิต่างกัน              
จิตแบ่งปันเอื้อเฟื้อจุนเจือจาน

    ๕ จะบ้านใดไมตรีมีน้ำจิต                          
ทั่วทุกทิศแบบนี้มีทุกบ้าน
คอยต้อนรับขับสู้สู่เรือนชาน                          
บริการผู้อาศัยด้วยไมตรี

    ๖ ดุจดังพี่ดั่งน้องร่วมท้องไส้            
มอบรักให้ประหนึ่งซึ่งน้องพี่
จัดข้าวปลาอาหารทานอย่างมี              
ชมชวนชี้ทางชีวิตจิตวิญญาณ

    ๗ ชี้ให้เห็นเป็นไปในชีวิต                          
เรื่องถูกผิดนำกล่าวคอยเล่าขาน
ดุจดังเป็นเช่นกิจวิทยาทาน                  
เพื่อเพื่อนบ้านทั่วถิ่นได้ยินกัน

    ๘ ได้น้อมนำคำสอนก่อนปูย่า                      
ยึดเป็นค่านิยมบ่มสร้างสรรค์
ด้วยคิดเห็นว่าดีมีสำคัญ                      
เรื่องแบ่งปันจำจดเป็นบทเรียน

    ๙ ด้วยหนังสือตำราหามิได้                        
มิมีใครบันทึกนึกขีดเขียน
การชี้เล่าเทียบเป็นเช่นแสงเทียน                      
เขาแนบเนียนเหลือล้นคนเมื่อวาน

   ๑๐  ทำอย่างนี้ทุกบ้านถืองานสอน                
ดุจละครน้ำเน่าที่กล่าวขาน
ทำซ้ำซากเช่นนี้ที่พบพาน                    
บริการเหมือนกันทุกบ้านไป  

๑๑  แต่การสอนตามนี้มิน้ำเน่า              
สอนแล้วเล่าเตือนจิตเพื่อคิดได้
มีตัวอย่างหลายหลากมากออกไป            
เกิดกำไรชีวิตหากคิดดู

   ๑๒  สิ่งสำคัญปฏิบัติเหมือนของเพื่อนบ้าน        
สอนลูกหลานใส่ใจได้เรียนรู้
ส่งชีวิตสูงประเสริฐเปิดประตู                
เดินเข้าสู่ธรรมาภิบาลทุกบ้านไป

   ๑๓  ยอดธรรมะสมัยก่อนที่สอนสั่ง                
ล้วนปลูกฝังลูกหลานพานสดใส
สังคมเก่าถึงธรรมล้ำวิไล                      
เชื่อผู้ใหญ่ถ่ายทอดยอดทางธรรม

   ๑๔  ถ้วนทั่วรับคำสอนบรรทัดฐาน
ปลูกลูกหลานแบบฉบับนับเลิศล้ำ
ดุจพิมพ์เดียวเกี่ยวข้องของกิจกรรม
เพื่อน้อมนำจิตใจไปถูกทาง

   ๑๕  เรื่องอยู่ร่วมสังคมสมคุณค่า
มอบธรรมาเป็นเสาเอาเสริมสร้าง
แง่ตัณหาเงียบหายคลายปล่อยวาง
ยื่นตัวอย่างดีดีที่หมู่ชน

   ๑๖  ลูกหลานหลังเกิดมาพาเอาอย่าง
เป็นแนวทางยึดได้ไม่สับสน
ด้วยเห็นงามความดีนี้ทุกคน
สืบส่งผลสังคมอุดมคุณ

   ๑๗ มอบแบบอย่างอย่างว่ามานานนัก
เห็นประจักษ์สังคมมิว้าวุ่น
หัวตะพานบ้านเก่าเรามีบุญ
เติมต้นทุนความดีที่สังคม

 :33:
    
 


หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 15 กันยายน, 2556, 05:37:42 PM
 
        ชอบบ้านลุง-ทุ่งนา

 ๑๘  นึกถึงนอนบ้านป้าบ้านนาทุ่ง                  
เจอป้าลุงอุ่นใจให้สุขสม
ในอ้อมกอดลุงป้าน่าภิรมย์                            
ชวนชี้ชมสารพันสรรค์ความดี

   ๑๙  ยิ้มละมุนอุ่นละไมใจรับหลาน                
สู่เรือนชานบ้านไม้ไร้แซมสี
มุงด้วยจากหาง่ายมากมายมี                          
สองสามปีถึงเปลี่ยนหมุนเวียนไป

   ๒๐  บริเวณบ้านเป็นหลักปลูกผักทั่ว              
นอกริมรั้วมากอยู่หมู่แมกไม้
ผกาป่าห้อมล้อมหอมกลิ่นไอ                
บ้านเมืองไพรวิไลยิ่งจริงจริงนา

 ๒๑ ลมเย็นชื่นรื่นพระพายสาดสายสด              
หลั่งรินรดกายใจใคร่ปรารถนา
ดั่งห้องแอร์ปัจจุบันสรรค์สร้างมา            
มิมีค่าใช้จ่ายสบายใจ

    ๒๒  สมัยก่อนที่อาศัยไม่หรูหรา                            
ดูธรรมดามุงจากฟากไม้ใฝ่
มิแข่งขันกันสร้างแต่อย่างใด                
นับเป็นไทท่วมท้นล้นคณา

     ๒๓ ชอบบ้านไม้ของป้าบ้านนาทุ่ง              
ตื่นหัวรุ่งทุ่งเด่นเห็นสง่า
ข้าวสีทองต้องแสงแห่งสุริยา                          
หากใครมาพบเห็นเป็นต้องใจ

    ๒๔ จูงเจ้าทุยจากคอกออกเล็มหญ้า              
ตามคันนาดึงจมูกผูกเชือกไว้
มิล้ำเกินต้นข้าวที่เร้าใจ                      
จูงทุยไปชมทุ่งไปไม่อาทร

   ๒๕  ทุยคือเพื่อนคนใช้ให้ดีหนา          
ตามประสาพอดีที่พุทธศาสน์สอน
เพียงพออยู่มีกินถิ่นดงดอน                            
มิเดือดร้อนใดใดให้ทุกข์ตรม




 
  


หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 17 กันยายน, 2556, 06:25:41 AM
 
๒๖  การช่วยเหลือเกื้อกันนั่นเต็มที่                   
ประเพณีลงแขกยังดื่นถม
ชาวบ้านนาเห็นค่าน่าชื่นชม                           
ยึดนิยมร่วมกันนั้นเรื่อยมา

    ๒๗  คำ “ลงแขก” ใต้ใช้ “ซอ” ก็เหมาะสม
ด้วยเกลียวกลมร่วมกันสู้ฟันฝ่า
งานใดหนักนิยมซอมิรอรา
ทั่วถ้วนหน้าพร้อมใจไปด้วยดี

    ๒๘ ซอไถนาใช้ควายหลายหลายคู่
มาเป็นกลุ่มรวมหมู่มิสู้หนี
ซอดำนาเก็บข้าวก็เข้าที
ประเพณีการซอเหมาะดีนา

    ๒๙  ถึงหน้าไถช่วยไถไม่ลดละ           
จักไถดะไถคราดตามปรารถนา
ตกตอนดำช่วยดำเป็นธรรมดา                         
ยามเก็บเกี่ยวก็พาลงนากัน

   ๓๐  หิ้วข้าวห่อช่อปั้นกันครันครบ                 
มาสมทบเจ้าบ้านการสร้างสรรค์
ยึดประเพณีการให้ได้แบ่งปัน                         
เรื่องผูกพันดุจสวรรค์บ้านนาเรา

  ๓๑  ถึงตอนนี้ชี้ความตามต่อเนื่อง
เพื่อประเทืองความรู้ดูเรื่องเก่า
ได้รู้บ้างกิจกรรมพอทำเนา
จะขอเล่ากิจกรรมการทำนา

   ๓๒  แถบถิ่นนี้นาดำทำทุกบ้าน
ทำนาหว่านมิมีแถบนี้หนา
มีห้วยคลองมากหลายสายธารา
น้ำไหลมาพอเพียงเลี้ยงพืชพันธุ์

    ๓๓  รู้ทำนบกั้นคลองต้องใช้น้ำ
ช่วยกันทำเต็มแรงอย่างแข็งขัน
ทั่วหมู่บ้านร่วมด้วยมาช่วยกัน
เพียงครึ่งวันเสร็จงานเบิกบานใจ

    ๓๔  ยามข้าวสุกเต็มนามาเก็บเกี่ยว
“เก็บ”อย่างเดียว “เกี่ยว” นั้นมันมิใช้
เครื่องมือ “แกะ” ที่เก็บข้าวก็นั่นไง
จักเก็บไวได้งานเข้าการดี

   ๓๕  ตัดก้านรวงให้ยาวราวหกนิ้ว
กำแน่นกิ่วสองกำมือถือได้ที่
นำมามัดด้วยซังช่างเข้าที
หนึ่งมัดนี้เรียก “เลียงข้าว” ขอเข้าใจ



    ๓๖ ขนเลียงข้าวจากนาพาลำบาก
เอาใส่ “หนวน” ควายลากยังพอไหว
หากมีเกวียนดีกว่าพาแบบใด
ที่หนักไซร้ใช้คนหาบทราบกันดี

    ๓๗ พวกผู้ชายใช้ “แสรก” เอามาหาบ
ยังเห็นภาพคุณพ่อมิท้อหนี
เหงื่อโทรมกายไหลบ่าทั่วกายี
เคยเห็นพี่ตามหลังพ่อพอพอกัน

    ๓๘ “แสรก” คำใต้กลางหรือคือ “สาแหรก”
ใช่เรื่องแปลกภาษาพาสุขสันต์
สำเนียงใต้กร่อนคำที่จำนรรจ์
เสียงจึงสั้นรวบรัดจัดเข้าที

     ๓๙ หากว่าทูนผู้หญิงเก่งจริงหนา
สามารถพาสิบเลียงเสี่ยงไหมนี่
คอแข็งแรงแกร่งหนาพวกนารี
ชายชาตรียังเขินเดินสวนกัน

    ๔๐ เก็บเลียงข้าวใส่ยุ้งมิยุ่งยาก
แต่ต้องตากให้แห้งเสียก่อนนั่น
จักมิชื้นขึ้นราสารพัน
ไว้หลายวันห้าหกปีมิเป็นไร

   ๔๑ “ยุ้งข้าว” ชาวใต้ใช้ “เพิงข้าว”
ขอบอกกล่าวรู้คำที่นำใช้
รำลึกเก่าเล่าขานเบิกบานใจ
ยิ่งนานไปลืมหายเสียดายนา 

 
 


http://www.naturedharma.com/data-1624.html


หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 23 กันยายน, 2556, 11:39:28 PM

   ๔๒ ขอกล่าวถึงพันธุ์ข้าวสมัยนั้น
มีหลายพันธุ์ดีดีที่เสาะหา
เลือกพันธุ์ปลูกถูกพื้นที่และเวลา
นึกขึ้นมาเสียดายข้าวหายไป

    ๔๓ ล้วนแต่พันธุ์พื้นบ้านเนานานนัก
ต่างรู้จักกันดีมีพันธุ์ไหน
“ช่อปรีดำ” ชื่อดี นี่ “ติดไซ”
พอเห็นใบเห็นต้นคนรู้กัน

    ๔๔ “ข้าวเจ้าโป้” โอ้ชื่อถือว่าแปลก
“ข้าวหลอกแขก” สีคล้ายเหนียวจริงเจียวนั่น
หลอกว่าเป็นข้าวเหนียวได้เลยพลัน
สีของมันคล้ายข้าวเหนียวจริงเจียวนา

    ๔๕  อัน “ข้าวหอม” ทางใต้ผมชอบยิ่ง
หอมจริงจริงระรื่นชื่นนาสา
ยังติดใจมิแปรแม้นานมา
คลุกน้ำปลาร้อนร้อนช้อนหมดจาน

    ๔๖  ขอสอดแทรกกรรมวิธีการสีข้าว
ขอบอกกล่าวให้รู้สู่ลูกหลาน
ภูมิปัญญาหาใดไหนเปรียบปาน
หัวตะพานเรามีดีนักแล

    ๔๗ “ครกสีข้าว” นั้นมีนี้ทุกบ้าน
สีข้าวสารเป็นกล้องของดีแท้
วิตะมินครบครันมิผันแปร
คนเก่าแก่เก่งกาจฉลาดคน

    ๔๘  ข้าวที่สีใส่กระด้งคงต้องร่อน
กากลอยว่อนมากมีนี้เหลือล้น
กระด้งร่อนกากลอยค่อยอยู่บน
สีอีกหนหรือไม่ใส่ครกตำ

    ๔๙  หากผ่อนแรงไม่ตำนำมา “เดื่อง”
นี่คือเรื่องภูมิปัญญาค่าเลิศล้ำ
ใช้ไม้คานแทนสากกระชากทำ
ถีบปลายคานโยกย้ำตำครกพลัน

   ๕๐   ที่ปลายคานติดสากฝากเอาไว้
ก็ตำได้อย่างดีนี่แม่นมั่น
ดุจกระดานหกดั่งเช่นเด็กเล่นกัน
ที่สำคัญผ่อนแรงช่วยแบ่งเบา

    ๕๑ ข้าวที่เดื่องที่ตำกำหนดได้
กล้องมากไปตำต่อค่อยรอเฝ้า
คอยตำไปดูไปตามใจเรา
ว่าจะเอาแบบใดไม่ยากเลย
 


หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 26 กันยายน, 2556, 07:14:35 PM
 ๕๒ ถึงตอนนี้มีเรื่องข้าวมาเล่าเพิ่ม
หยิบยกเสริมข้าวไร่ใคร่เฉลย
สิ่งฝังใจใคร่ฝากยากละเลย
คอยเปิดเผยแจ้งความตามพบพาน

    ๕๓  ขอตั้งต้นนำกล่าวปลูกข้าวไร่
ผิดแผกไปนาดำทำนาหว่าน
ถางป่าใหม่ดีนักจักต้องการ
ดินใดปานข้าวไร่ให้ขึ้นดี

    ๕๔ ดินไร่ใหม่ร่วนซุยปุ๋ยมากล้น
ข้าวแตกต้นแตกก่ออ๋อเต็มที่
รวงก็ใหญ่เมล็ดงามไปตามที
จักมิมีเมล็ดฝ่ออ๋องามตา

    ๕๕ ปลูกข้าวไร่ใต้มีวิธี “น่ำ”
วิธีทำง่ายง่ายใช่ยากหนา
มี “ไม้สัก” ยาวถึงสักครึ่งวา
ตัดไม้มาใหญ่เพียงเคียงกำมือ

    ๕๖  ปลายข้างหนึ่งเหลามนจนได้ที่
คนหนึ่งมีสองอันยึดมั่นถือ
สักเป็นหลุมง่ายดายง่ายนักฤๅ
นี่ก็คือ “แทงสัก” จักเรียกกัน

    ๕๗  รูแทงสักห่างกันนั่นคืบกว่า
เมล็ดข้าวมาหยอดใส่ในหลุมนั่น
สิบถึงสิบห้าเมล็ดลงหลุมพลัน
ต่อจากนั้นดินกลบครบขั้นตอน

    ๕๘ วิธีการที่ทำเรียก “น่ำข้าว”
หนุ่มแก่สาวทำได้ง่ายต่อสอน
“น่ำ” คือปลูกนั่นแลอย่างแน่นอน
ชาวนคร ฯ ส่วนใหญ่ให้รู้กัน

    ๕๙  เขาน่ำข้าวราวราวต้นเดือนหก
“ฝนพรัด” ตกชื่นฉ่ำน้ำสวรรค์
ระเริงใจไหนเล่าเหล่าพืชพันธุ์
นี่แบ่งปันธรรมชาติสะอาดวิไล

    ๖๐ “พริกขี้นก” บ้านผมนิยมปลูก
ด้วยผลลูกเผ็ดดีมิมีไหน
รถกลมกล่อมหอมดีมิมีใด
สิบห้าเม็ดใส่แกงแรงเผ็ดพอ

    ๖๑  เมล็ดพริกใส่คนปนข้าวไร่
น่ำพร้อมไปหลุมเดียวดีเชียวหนอ
หลังเก็บข้าวซังผุเหลือแต่ตอ
พริกมิรอชูต้นใบให้งามดี

    ๖๒  จากไร่ข้าวเปลี่ยนไปเป็นไร่พริก
กลับมาพลิกเปลี่ยนไปในเร็วรี่
ภูมิปัญญาชาวบ้านนั้นเข้าที
ด้วยเช่นนี้จึงกล่าวเล่าสู่กัน

 
 


หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 29 กันยายน, 2556, 07:24:35 PM

     ๖๓  อันศัตรูข้าวไร่นี้ร้ายกาจ
ตัวฉลาดคือลิงไพรร้ายมหันต์
ฝูงเป็นร้อยน้อยเมื่อไหร่ไล่ไม่ทัน
แต่ละวันหลายฝูงจูงกันมา

    ๖๔  สัตว์อีกหนึ่งพึงตอบชอบข้าวนัก
คงรู้จักนั่นหรือคือหมู่ป่า
ขยันกินกันสนุกทุกเวลา
พ่อเคยพา”นั่งหมู” รู้เรื่องดี

   ๖๕  เรียกนั่งหมูแท้จริงไปยิงหมู
ต้องซุ่มดูอยู่เหมาะเฉพาะที่
บนจอมปลวกบนต้นไม้ให้เข้าที
บ้างครั้งมีคาดห้างต่างกันไป

    ๖๖  เหล่าสัตว์ป่าตาหูดูไวว่อง
ผู้นั่งต้องซ่อนหลบกลบพุ่มไม้
ต้องอยู่นิ่งทั้งกายแม้หายใจ
ระวังไว้ทุกทางอย่างรัดกุม

    ๖๗  อีกจมูกสัตว์ป่านานาชนิด
กลิ่นเพี้ยนผิดรับรู้ช่างสุขุม
สัมผัสพิเศษของสัตว์จัดควบคุม
สัตว์แก่หนุ่มจมูกไวเท่าได้ยิน

    ๖๘  นั่งบนลมต้องห้ามตามพรานชี้
สัตว์จะหนีเราไปเมื่อได้กลิ่น
ภูมิปัญญาพรานป่าล่าสัตว์กิน
รู้ครบสิ้นแจ้งจบอย่างครบครัน

    ๖๙  การยิงหมูรู้ไว้ไร้ไฟส่อง
จำจักต้องฟังเสียงเพียงเท่านั้น
หมูขบเคี้ยวรู้ทิศทางอย่างเร็วพลัน
หมายที่มั่นรักแร้แดงตำแหน่งดี

    ๗๐ เห็นนกจาบฝูงใหญ่แล้วใจหาย
ศัตรูร้ายไล่ยากมากเหลือนี่
ฝูงเป็นร้อยเป็นพันนั้นมากมี
เพียงนาทีกินข้าวมากเท่าไร

    ๗๑  ที่กล่าวว่าไล่ยากจากที่เห็น
มันจะเผ่นบินว่อนยามตอนไล่
หรือจะหนีเราบ้างมิห่างไกล
เป็นนิสัยนกจาบทราบกันดี

    ๗๒  ภูมิปัญญาชาวบ้านขอขานฝาก
ทำ “แพวนาก” นกทุกตัวจะกลัวหนี
เห็นแพวนากบินไปไม่รอรี
เป็นวิธีไล่นกจาบภาพยังจำ

    ๗๓  “หุ่นไล่กา” ทางใต้ใช้ “แพวนาก”
พูดติดปากฟังฟังยังนึกขำ
ด้วยความหมายฉันท์ใดในถ้อยคำ
แต่หุ่นทำเหมือนคล้ายหุ่นไล่กา

    ๗๔  การเรียกชื่อบางพื้นที่นี้แตกต่าง
“แพวนาก” บ้างอื่นบ้างต่างภาษา
หัวตะพานอย่างนี้ที่บอกมา
คุณลุงป้าแม่พี่ชี้สอนเรา
 
 
 


หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 03 ตุลาคม, 2556, 08:33:05 PM

    ๗๕   มาบ้านป้านึกถึงอีกหนึ่งเรื่อง               
คงเกี่ยวเนื่องบ้านนาเขตป่าเขา
ประเพณีแบบนี้มีนานเนา                   
สมัยเก่าเขาคิดจิตน้อมนำ

  ๗๖  ด้วยสภาพเป็นอยู่หมู่ชนนั้น         
สร้างสวรรค์ธรรมะประเสริฐล้ำ
ใช้ชีวิตเป็นอยู่คู่หลักธรรม                   
วิธีกรรมออกมาน่าชื่นชม

  ๗๗  หัวตะพานบ้านผมสังคมป่า         
อุดมข้าวอุดมปลามาบ้านผม
น่าชื่อว่า "สังคมนานิยม"                   
แสนเหมาะสมตามชื่อถือคล้องกัน

   ๗๘  ฟากตะวันตกหัวตะพานเรียกบ้านเหนือ     
เขตเนื้อที่ภูเขาเนาสวรรค์
พื้นที่ป่านานาหมู่พืชพันธุ์                   
คนที่นั่นปลูกผลไม้ไว้เป็นทุน

   ๗๙  ที่ปลูกข้าวน้อยนิดผิดท้องทุ่ง                 
มิพอหุงพอหาให้ว้าวุ่น
แต่ด้วยอยู่คู่ธรรมนำค้ำจุน                   
ได้เกื้อหนุนจากท้องนาหัวตะพาน

   ๘๐   ทิศตะวันออกหัวตะพานบ้านทะเล           
มีพื้นเพประมงตรงสถาน
อีกพื้นที่มีมะพร้าวเจ้าน้ำตาล                         
ฝากความหวานทั่วเหมือเจือทุ่งนา 

   ๘๑  สามบ้านนี้ดำเนินชีวิตกิจสร้างสรรค์                   
ต่างผูกพันอยู่ร่วมสุขท่วมฟ้า
ไม่มีเหลี่ยมเล่ห์กลพ้นมารยา                           
ต่างพึงพาแก่กันนั้นด้วยดี
 
 
 


หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 18 ตุลาคม, 2556, 07:14:23 PM
   ๘๒  สร้างสังคมแบบหนึ่งซึ่งเขาเห่อ               
เรียกว่า “เกลอ” สมนามตามชื่อชี้
เพื่อลูกหลานมีมิตรจิตไมตรี                           
เป็นอย่างนี้ที่มาคำว่าเกลอ

   ๘๓  เกลอนั้นเป็นเช่นดั่งยังพี่น้อง                           
จำจักต้องรักกันมั่นเสมอ
หาโอกาสเวลามาพบเจอ                     
เพื่อเสนอสิ่งสนองที่ต้องการ

  ๘๔  หมั่นช่วยเหลือเจือจุนเป็นทุนมอบ             
สนองตอบทุกทางกว้างไพศาล
มีเกลอมากเหลือล้นคนพบพาน             
มากวงศ์วานญาติมิตรจิตสัมพันธ์

  ๘๕   มีทั้งญาติทั้งเกลอเสมอพี่น้อง                           
เหมือนพวกพ้องเผ่าพงศ์รักคงมั่น
มีอาหารข้าวปลามาแบ่งปัน                           
ช่วยเหลือกันระหว่างบ้านจานจุนเจือ

 ๘๖   ผลไม้เนื้อย่างมีน้ำผึ้ง                           
นั้นได้พึ่งชาวไพรในบ้านเหนือ
พึ่งชาวทะเลกะปิปลามะพร้าวเกลือ                   
คอยพึ่งเผื่อข้าวสารบ้านทุ่งนา

   ๘๗  เห็นชาวทะเลหาบคอนตอนสายสาย                   
ของมากมายขึ้นทุ่งต่างมุ่งหน้า
เกลือกะปิน้ำตาลด้านปูปลา                           
หาบคอนมาบ้านผมสุขสมใจ

   ๘๘   มานอนวันฝันคืนกันชื่นจิต                           
ด้วยเป็นมิตรแลญาติสะอาดใส
แม่นวดข้าวตากสีมีฝากไป                             
มีมอบให้แก่กันเป็นสันดาน

  ๘๙  วันคืนดีมีเวลาคอยหาสู่                       
ผมเคยรู้เคยจำจึงร่ำขาน
พาครอบครัวมุ่งเหนือเพื่อพบพาน           
นำข้าวสารติดกายหมายฝากกัน

  ๙๐   นอนที่นั้นประมาณผ่านอาทิตย์               
ร่วมกอปรกิจถ้วนทุกแสนสุขสันต์
เล่าความดีชี้ความชอบทุกรอบวัน           
แบ่งปันจิตปันของกันต้องใจ 

   ๙๑  ตอนขากลับคอนทูนหาบต้องอาบเหงื่อ                 
ของชาวเหนือมากมีที่มอบให้
ทุเรียนบ้านมังคุดมะมุดมะไฟ                         
จากดงไพรน้ำผึ้งดีมีตัวยา

  ๙๒  อีกเนื้อย่างค่างกระจงคงได้ฝาก               
ทั้งกล้วยตากทุเรียนกวนชวนเสน่หา
ยอดผักกูดผักเหนือเหลือคณา                         
หยวกกล้วยป่าผักใบได้ต้มแกง

  ๙๓ ญาติทางเหนือแม้ไกลไม่ย่อท้อ                 
หาบสะตอพะเนียงเหรียงพริกแห้ง
ปราศจากฉีดยาฆ่าแมลง                     
อีกฟักแฟงนำให้ชาวชายทะเล

   ๙๔  อยู่อย่างนี้ที่เห็นเป็นมาตรฐาน               
สามกลุ่มบ้านร่วมใจไม่หันเห
รู้คุณค่าการกระทำจำทุ่มเท                           
มิรวนเรเหนียวแน่นมิแคลนคลอน
 
 


หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 23 ตุลาคม, 2556, 01:54:19 PM
     ๙๕ ขอเล่าถึงงานต่างต่างทางหมู่บ้าน             
หัวตะพานบ้านเราแต่เก่าก่อน
แบบฉบับธรรมดาป่าดงดอน                           
ที่สะท้อนแนวคิดจิตวิญญาณ

   ๙๖  มีงานศพที่ใดให้หิ้วหม้อ                     
มิรั้งรอภายในใส่ข้าวสาร
สองถึงสามกระป๋องนมพอประมาณ                   
เพื่อเข้างานหาหุงได้ปรุงพลัน

   ๙๗ พริกกระเทียมเกลือกะปิมีหัวหอม             
ใส่เพียบพร้อมข้าวสารรวมไปนั่น
สิ่งละเล็กละน้อยพลอยแบ่งปัน               
ได้ใช้กันจนรอดตลอดงาน

   ๙๘  พืชผักหญ้าปลาปูหมู่เป็ดไก่                             
นำมาให้มิมีใครไหนประสาน
ดั่งหน้าที่ปฏิบัติคอยจัดการ                           
จิตวิญญาณอย่างว่าค่าอนันต์

   ๙๙  คนละไม้คนละมือถือว่าผ่าน                           
เริ่มแต่งานหีบศพครบตามขั้น
จับกระดานเลื่อยตัดจัดการพลัน             
มิเกี่ยงกันฉันใดไม่นิ่งนอน

   ๑๐๐  แผนกครัวครันครบจบหมู่บ้าน                       
ชวนลูกหลานงานมอบให้คล้ายเช่นสอน
แผนกหุงหาข้าวเฝ้าไฟฟอน                           
เตรียมหม้อช้อนอีกแผนกแยกกันไป

   ๑๐๑  ขูดมะพร้าวตำเครื่องแกงแบ่งไปทั่ว                 
เรื่องในครัวเตรียมการพร้อมทานได้
แขกที่มาทานดื่มกันปลื้มใจ                           
จักมิให้ขาดตกบกพร่องเลย

  ๑๐๒  พวกหนุ่มหนุ่มงานหนักจักแบ่งให้           
เช่นผ่าไม้ผ่าฟืนไม่ยืนเฉย
ขูดมะพร้าวขนน้ำทำตามเคย                         
อะไรเอ่ยงานหนักจักแบ่งเบา

   ๑๐๓  มีมากหลายชายหนุ่มทุ่มเทได้                       
มิหวั่นไหวแม้หนักจักขุนเขา
งานแรกสุดขุดขุดคือขุดเตา                           
หรือเตรียม”เพา”แบบใต้เอาไว้ปรุง

   ๑๐๔  เตาหุงข้าวต้องมีถึงสี่ห้า                     
มิชักช้าประเดี๋ยวใจเป็นได้หุง
กลิ่นข้าวนาหอมรวยรินกลิ่นจรุง             
ให้หอมฟุ้งทั่วงานทั่วบ้านนา
 
 


หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 02 พฤศจิกายน, 2556, 11:40:51 PM


    ๑๐๕  อีกอย่างหนึ่งมิอาจขาดหลีกเลี่ยง           
คือ “โรงเลี้ยง” ต้องมีหนึ่งที่หนา
หรือสองสามตามแต่แลงามตา               
ขอเพียงว่าเพียงพอต่อรับแขก

  ๑๐๖  โรงเลี้ยงหรือคือโต๊ะทานอาหาร             
คำเรียกขานทางใต้ให้ดูแปลก
เป็นตัวยาวต่อติดมิคิดแยก                   
มันผิดแผกโต๊ะบ้างช่างปะไร

   ๑๐๗  ต้องต้นหมากหรือไฝ่ใช้เป็นขา                       
เจาะเป็นบ่ารองรับกับคานใส่
ชั้นบนล่างสองชั้นแยกกันไป                           
ดุจบันไดสองขั้นเป็นชั้นวาง

   ๑๐๘  นับจากล่างชั้นหนึ่งซึ่งที่นั่ง                           
แบ่งสองฝั่งสองฝ่ายได้สองข้าง
วางชั้นบนเหนือที่นั่งระหว่างกลาง         
เป็นชั้นกว้างวางอาหารรับทานกัน

   ๑๐๙  ขาชุดหนึ่งซึ่งมีถึงสี่ขา                     
นึกหน้าตาคงเห็นก็เป็นชั้น
ขุดหลุมฝังลึกศอกออกสำคัญ                         
ยึดได้มั่นมิโยกไหวเมื่อใช้งาน

   ๑๑๐ ขาจะวางห่างกันวากว่ากว่า                           
สิบห้าขาต่อตัววางขนาน
ปูที่นั่งสุดสวยด้วยกระดาน                             
ที่วางอาหารกระดานด้วยก็สวยดี

   ๑๑๑  หากไม่มีกระดานต้องการใช้                         
ฟากไม้ไฝ่ก็ได้สวยสดสี
ปูให้แน่นหวายฝ่าซีกคาดอีกที               
ชวนน้องพี่ผูกรัดมัดเร็วไว

   ๑๑๒  เสร็จโต๊ะยาวอย่างดีมิชักช้า                           
มุงหลังคาร่มรื่นชื่นสดใส
เห็นหลังคาเขียวขจีงามวิไล                           
มุงใบไม้สดสดดูงดงาม

   ๑๑๓  มุงหลังคาสวยสวยด้วยใบไม้                         
นิยมใช้เข้าการประมาณสาม
ใบมะพร้าวสาคูคงรู้นาม                     
อีกจากน้ำมุงได้ใช้กันดี
 
 


หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 05 ธันวาคม, 2556, 02:07:59 PM


 ๑๑๔ ศพไว้นานลำบากยากสุดฝืน                           
แค่สามคืนฝืนได้หรือไม่สี่
หากไว้นานเน่าเหม็นเป็นทวี                           
ด้วยเหตุนี้ฝังเผารีบเอาไป

   ๑๑๕  มีสามอย่างกันศพเน่าแลดับกลิ่น                     
หนึ่งเกลือกินนี้หนอพอใช้ได้
อีกฝรั่งดับกลิ่นดีนี้เอาใบ                     
มันยางใสใส่ท้องศพก็ครบครัน

   ๑๑๖  สมัยก่อนญาติมิตรอยู่ชิดใกล้                         
จะส่วนใหญ่อยู่ในหมู่บ้านนั้น
เรื่องคอยญาติน้องพี่มิสำคัญ                           
สองสามวันเผาได้ไร้กังวล

   ๑๑๗  ปัจจุบันลูกหลานบ้านมิใกล้                           
ศพต้องไว้รอน้องพี่นี้เหตุผล
น่าสงสารศพใดใครยากจน                           
มันมิพ้นเป็นหนี้พิรี้พิไร

   ๑๑๘  ด้วยข้าวของมันแพงดังแกล้งซ้ำ           
ต้องค่าน้ำค่าเต็นท์เป็นยกใหญ่
ค่าคนครัวอื่นอื่นดื่นถมไป                     
สมัยใหม่ผิดกันเมื่อวันวาน

   ๑๑๙  เข้าเรื่องเผาเขาหามตามวิถี                           
มันมิมีรถถนนให้คนผ่าน
ผลัดช่วยหามตามประสาหน้าชื่นบาน                 
ถือเป็นการแทนคุณบุญผู้ตาย

   ๑๒๐  นาของศพอยู่ไหนหามไปหา                         
หามศพพาให้ถึงซึ่งจุดหมาย
เพื่อเจ้าของพบนามาเยี่ยมกราย                       
ก่อนสลายร่างไหม้ได้เห็นกัน

   ๑๒๑  เชิงตะกอนก่อนเก่าเขาเผาศพ                       
ไฟฟืนอบขอนไม้เผากายนั่น
เห็นศพไหม้ปลงใจไม่จาบัลย์                           
นึกคิดวันทำดีก่อนที่ตาย

 
 


หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 05 ธันวาคม, 2556, 02:09:38 PM


  ๑๒๒ งานบวชนาคแต่งงานการอีกอย่าง         
เพียงแต่ต่างพิธีกรรมที่จำหมาย
ยามช่วยงานการกิจทั้งหญิงชาย             
ก็คล้ายคล้ายคลึงกันงานทั่วไป

   ๑๒๓  จะร่วมมือร่วมใจไม่ทอดทิ้ง                           
งานทุกสิ่งเจ้าบ้านจ่ายงานได้
จากญาติมิตรที่ช่วยทำด้วยใจ                         
ทางอ้อมไซร้คอยนิมิตจิตวิญญาณ

   ๑๒๔  ก่อนจะถึงซึ่งงานการบวชแต่ง             
คงจัดแจงเตรียมสะสมขนมหวาน
ข้าวเหนียวกวนรับตอบคนชอบทาน                 
ต้องน้ำตาลมะพร้าวเข้ากันดี

   ๑๒๕  ขนมหนึ่งซึ่งใต้ใช้ "ยาหนม"               
ยังนิยมทำกันนั้นทุกที่
ภาษากลาง "ละละเม"แน่นะซี                         
ไว้เป็นปีไม่บูดสูตรโบราณ 

   ๑๒๖  ก่อนเข้างานควันโขมงเรือนโรงทั่ว                   
“ลงโรงครัว”ประเพณีที่หมู่บ้าน
สองสามวันก่อนหน้าจะมีงาน               
รีบเตรียมการทุกอย่างวางแผนกัน

   ๑๒๗  "ลงโรงครัว"นั้นหรือคือปรุงอาหาร                   
ตอนใช้ทานเป็นหมู่รู้ไหมนั่น
และอยู่ทานกันไปในหลายวัน               
เพื่อลงขันทำงานการหนึ่งใด

   ๑๒๘  ลงโรงครัวกวนกะละแมแลกวนเหนียว               
สนุกเชียวทำโรงเลี้ยงเพียงยกใหญ่
เตรียมความพร้อมมิสายสบายใจ           
ขาดอะไรตรวจทวนไม่จวนตัว

 
 


หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 05 ธันวาคม, 2556, 02:10:49 PM


๑๒๙  ประเพณีแต่งงานสมัยก่อน                     
มีขั้นตอนคล้ายกันนั้นถ้วนทั่ว
เริ่มแต่ต้นจนท้ายล้มควายวัว                         
เรื่องพันพัวปลีกย่อยน้อยเมื่อไร

   ๑๓๐  ประเพณีแบบเก่าไทยเรานั้น                         
ถูกขวางกั้นเรื่องรักจากผู้ใหญ่
มิมีเป็นเช่นว่าประชาธิปไตย                           
หากคิดไปยังดีประเพณีเดิม

   ๑๓๑  ฝึกใจหญิงเจียมเนื้อเจียมตัวได้             
ผูกมัดใจห้ามไว้ไม่ฮึกเหิม
มิปล่อยใจในกามาอย่างร่าเริง                         
แบบไว้เชิงเจียมจิตคิดเจียมใจ

   ๑๓๒  จนกระทั่งฝังใจในสายเลือด                         
มิแห้งเหือดประเพณีติดนีสัย
นี่คือประเพณีเก่าเราคนไทย                           
ถ้าคงไว้ได้ถ้วนล้วนเจริญ

   ๑๓๓  เมื่อหญิงชายหมายปองจะครองคู่         
แค่ได้ดูรู้ใจไปผิวเผิน
เพียงพบกันน้อยนิดกิจบังเอิญ               
เพียงเผชิญหน้าหน่อยร้อยดวงใจ

   ๑๓๔  เพียงได้พบในงานเทศกาลนี้                         
งานประจำปีหรืองานขึ้นบ้านใหม่
งานบวชแต่งศพบ้างเพียงอย่างใด           
สัมผัสได้เพียงกายก็หมายปอง

   ๑๓๕ จึงบอกกล่าวพ่อแม่คนแก่เฒ่า                         
ไปเยือนเหย้าเพื่อขอร่วมหอห้อง
เรื่องของใจคอยปรับคอยรับรอง             
เมื่อเกี่ยวดองครองรักภักดิ์ร่วมใจ

   ๑๓๖  เรื่องคู่ผัวตัวเมียมิหลีกพ้น                           
คลุมถุงชนมากมีที่มอบให้
คู่บ่าวสาวมิเคยเห็นมิเป็นไร                           
หากผู้ใหญ่สองฝ่ายให้รักกัน

   ๑๓๗  เมื่อพ่อแม่พอใจสะใภ้เขย                             
เลยลงเอยสองฝ่ายได้หมายหมั้น
ดูวันเดือนร่วมหอเฝ้ารอวัน                           
นี่คือขั้นสาวหนุ่มคลุมถุงชน
 


หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 10 ธันวาคม, 2556, 06:57:03 AM


14
๑๓๘  ถึงแม้ว่าคลุมถุงชนหนทางลัด
การรวบรัดเรื่องรักน่าสับสน
กลับตรงข้ามที่คิดผิดชอบกล
ด้วยเหตุผลกลใดใคร่ชี้แจง

    ๑๓๙ ด้วยผู้ใหญ่หูตาดุจฟ้ากว้าง
มองทุกอย่างละเอียดอ่อนที่ซ่อนแฝง
เห็นตื่นลึกกว้างหนากว่าสำแดง
จึงรู้แจ้งเห็นจริงทุกสิ่งอัน

    ๑๔๐ เมื่อร่วมอยู่คู่ครองต้องตามติด
คอยช่วยคิดช่วยชี้ที่สร้างสรรค์
สิ่งบกพร่องแก้ไขไล่ตามทัน
ทั้งปลอบขวัญตักเตือนเป็นเพื่อนใจ

    ๑๔๑  เขยสะใภ้ใต้บังคับรับคำสอน
ดั่งว่านอนสอยง่ายหมายแก้ไข
เมื่อศรัทธาแม่พ่อข้อห่วงใย
เชื่อผู้ใหญ่ในสันดานผ่านจิตมา

    ๑๔๒  ที่พลั้งเผลอผิดพลาดขาดยับยั้ง
ที่พลาดพลั้งรู้ตัวว่าชั่วช้า
คิดกลับตัวกลับใจไปทันตา
นี่คุณค่าสอนสั่งครั้งวัยเยาว์

    ๑๔๓  เรื่องการบวชก่อนเบียดก็ข้อใหญ่
ศีลเสริมใส่หนึ่งพรรษาพาหายเขลา
ศีลธรรมสุมใส่ไว้ไม่เบา
วันแล้วเล่าล้างใจให้ใฝ่ดี

    ๑๔๔  เรื่องพอเพียงประการหนึ่งพึงประกอบ
เป็นระบอบพุทธศาสน์ปราศจากหนี้
ความวุ่นวายตามมาหามิมี
เกิดสงบสุขขีที่สังคม

   ๑๔๕  การแข่งขันธุรกิจปิดทุกฉาก
ความจนยากมิตกอับเสริมทับถม
ด้วยยึดอยู่คูเคียงพอเพียงนิยม
จิตถูกบ่มแนบหนุนสรรค์คุณธรรม

    ๑๔๖ ความอยู่เย็นเป็นสุขมิทุกข์เข็ญ
สิ่งนี้เป็นธรรมาภิบาลเป็นคานค้ำ
ทุกครอบครัวเข้มแข็งแห่งผลกรรม
ด้วยน้อมนำธรรมดาพาชีวี

    ๑๔๗  การหย่าร้างครัวแตกสาแหรกขาด
มันมิอาจเทียบได้สมัยนี้
สมัยก่อนน้อยนิดมิมากมี
เหตุผลชี้ที่กล่าวอย่างเข้าใจ

    ๑๔๘  สมัยนี้ตรงข้ามยามก่อนเก่า
เหตุนี้เล่าร้างหย่าเหลือปราศรัย
ของเก่าดีมิมีเหลือเผื่อเมืองไทย
แล้วไหนใครช่วยพาประชาชน
   ๑๔๙  ขอไขขานการ “แยบ” แบบชาวใต้                 
การแยบไซร้คือหาความตามขุดค้น
ถ้าฝ่ายชายยังมีที่กังวล                       
หญิงที่ตนหมายมั่นนั้นฉันใด

   ๑๕๐  คอยส่งคนค้นความถามฝ่ายหญิง           
ว่าความจริงเรื่องนี้มีไฉน
ฤๅรังเกียจเดียดฉันท์ขั้นพอใจ                         
เพื่อจักได้สู่ขอตามประเพณี

   ๑๕๑  วันสู่ขอพ่อแม่แลผู้ใหญ่                     
ชักชวนไปมิมากนักสมศักดิ์ศรี
ญาติฝ่ายหญิงรับรอแต่พอดี                           
เข้าพิธีสู่ขอกันต่อไป

   ๑๕๒  ค่าสินสอดทางใต้ใช้ "เงินตก"               
ปกติพองามตามวิสัย
"พองามเขางามเรา" มีเยื่อใย                         
คำที่ใช้ดูดีมีค่าคุณ
๑๕๓  ประเพณีบวชนาคจากพบเห็น                           
จะมิเน้นจัดงานให้พานวุ่น
ถ้ามิฆ่าวัวควายถือได้บุญ                     
เป็นต้นทุนบุญส่งตรงเจ้างาน

   ๑๕๔  ทำขวัญนาคมีบ้างในทางใต้                         
นิยมใช้มโนราห์ว่าขับขาน
กลอนหนังตะลุงใช้ได้ให้ต้องการ             
ผิดอีสานหรือกลางแตกต่างกัน

   ๑๕๕  เปรียบการบวชสว่างอย่างเทียนส่อง                 
เทียบดั่งทองถือว่าค่าสวรรค์
มุ่งสร้างศีลข้อธรรมเป็นสำคัญ               
ถือว่าปั้นความดีที่จิตใจ

   ๑๕๖  บวชเป็นพระข้อธรรมจำใฝ่คว้า             
หนึ่งพรรษาอย่างน้อยร้อยเรียงได้
ศีลกุศลมากมายติดกายไป                   
จักนำใช้ในชีวิตติดตามมา 
 
 


หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 13 มกราคม, 2557, 12:35:24 PM



สร้างคุณธรรม


  ๑๕๗  เอื้อนเอ่ยเรื่องอบรมบ่มนิสัย         
ครอบครัวไทยสมัยผมอุดมค่า
ฝึกนิสัยใจคอต่อบุตรตรา         
ติดกายาแลใจในสันดาน

   ๑๕๘  สร้างคุณธรรมประจำใจในวัยเด็ก      
ฝึกแต่เล็กคู่กิจวัตรบรรทัดฐาน
แต่ตื่นนอนเข้านอนมิหย่อนยาน      
นี่คือการสอนสั่งให้ฝังใจ

   ๑๕๙  แค่หกขวบผมจำทำหลายอย่าง      
หนักมีบ้างพ่อแม่รู้ว่าสู้ไหว
เพิ่มแข็งแกร่งเพียงพอเหมาะตามวัย      
ตอนโตใหญ่ไม่ท้อต่อการงาน

   ๑๖๐  ตื่นตอนเช้ามุ่งเล้าไก่ไม่เหหัน         
ไก่ยังขันสำเนียงเสียงประสาน
เปิดประตูแผ่กว้างกางสองบาน      
ไก่ออกพล่านจากเล้าเฝ้ายืนมอง

ประทีป  วัฒนสิทธิ์
13 มกราคม 2557




หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 22 มกราคม, 2557, 08:19:19 PM

 :33:

แม่โยด

   ๑๖๑  เข้าคอกทุยลุยโคลนโดนดังหมาย      
ฉี่ขี้ควายมิระอากล้าจับต้อง
กลิ่นเจ้าทุยฝังใจยังใฝ่ปอง         
ด้วยเกี่ยวข้องผูกพันกันนานมา

   ๑๖๒  ดังเพื่อนเกิดเพื่อนแก่แลเจ็บตาย      
บุญคุณควายเลอเลิศประเสริฐค่า
เป็นแม่แรงแม่งานการทำนา         
ได้ข้าวปลาเลี้ยงเรามาเนานาน

   ๑๖๓  ควายตัวใดใช้งานกอปรการกิจ         
ห้ามคอยคิดฆ่าเข่นเป็นอาหาร
ทะนุถนอมเลี้ยงไว้จนวายปราณ      
ยังมีการฝั่งร่างอย่างพิธี

   ๑๖๔  ควายแก่สุดทางใต้เรียกหลายอย่าง      
"แม่คอก" บ้าง "แม่โยด" บ้างเรียกอย่างนี้
หากตายไปเก็บเขาเขาว่าดี         
นำแขวนที่ยุ้งข้าวเป็นราวไป
      
   ๑๖๕  ทำอย่างนี้คงระลึกนึกบุญคุณ
ที่เกื้อหนุนเรามาทำนาให้
ก็อย่างน้อยเตือนจิตสะกิดใจ         
เก็บเอาไว้ให้ดูผู้มีพระคุณ         


 :letter:


หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 22 มกราคม, 2557, 08:27:12 PM

หมูขี้พร้า

   ๑๖๖  ตอนสายสายบางทีอยู่ที่บ้าน
เตรียมอาหารแม่หมูและหมูขุน
หาหยวกบอนเป็นผักเก็บกักตุน      
เผื่อเป็นทุนมื้อต่อไปได้สบาย   
      
   ๑๖๗  จับต้นบอนมาฝานจัดการต้ม
รำผสมต้มพร้อมรสหอมหลาย
ใส่ปลายสารลงไปได้มากมาย      
เป็นอาหารมื้อบ่ายสบายใจ

   ๑๖๘  ตอนมื้อเช้ามีหยวกบวกเศษอาหาร      
หยวกต้องฝานแล้วตำรำเสริมใส่
น้ำล้างจานเจือเพิ่มเติมลงไป      
เด็กเล็กใหญ่ทำได้แม่ให้งาน

   ๑๖๙  เวลาว่างบางทีพี่น้องฉัน         
เป็นบางวันไปนาหาอาหาร
จับปลากุ้งทุ่งนามารับทาน         
หามินานพอได้ไว้ต้มแกง

   ๑๗๐  ขากลับบ้านงานมีนี้ไม่หนัก         
เก็บหาผักกินได้มิหน่ายแหนง
เข้าสวนครัวเพิ่มผักพวกฟักแฟง      
มาปรุงแต่งได้ทานอาหารเย็น


หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 13 กุมภาพันธ์, 2557, 06:25:13 AM

 :letter:

พูดถึงเรื่องทำครัวตัวสอนจิต


   ๑๗๑  เมื่อพ่อแม่มิอยู่บ้านมีงานยุ่ง         
คอยหาหุงปรุงไว้ไม่ยากเข็ญ
ตอนหกขวบแกงต้มผมทำเป็น      
ด้วยได้เห็นแม่พี่คอยชี้นำ

   ๑๗๒ พูดถึงเรื่องทำครัวตัวสอนจิต
ให้รู้คิดวิเคราะห์เหมาะเลิศล้ำ
เพิ่มอดทนพยายามตามกิจกรรม
เสริมคุณธรรมประจำใจได้แน่นอน

   ๑๗๓  ความลำบากตรากตรำลึกล้ำเลิศ
เป็นบ่อเกิดคุณธรรมเหนือคำสอน
ฝึกจิตใจสูงส่งตรงขั้นตอน
เปรียบอาภรณ์มีค่าน่านิยม

   ๑๗๔ ปรุงอาหารสมัยนั้นขั้นตอนยาก
ความลำบากสอนสิ่งดีมากมีถม
ยามก่อไฟกับฟืนฝืนอารมณ์
รบกับลมดับไฟไม่ได้ความ

   ๑๗๕  ต้องอดกลั้นอดทนจนไฟติด
รวมพลังจิตเพียรทำซ้ำสองสาม
คอยสุมไฟพัดเป่าเข้าชั่วยาม
ข้าวเม็ดงามใกล้สุกรุกไฟฟืน


หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 13 กุมภาพันธ์, 2557, 03:42:33 PM


   ๑๗๖   คอยเช็ดน้ำดงหม้อรอข้าวสุก
โยงข้าวรุกหอมหวนน่าชวนชื่น
สิ่งเรียนรู้แสนดีที่ยั่งยืน
คอยหยิบยื่นให้ใจในกิจกรรม

   ๑๗๗  งานช่วยเหลือพ่อแม่มิแชเชือน      
มิเคยเตือนหรือบอกคอยตอกย้ำ
นิสัยรักการงานการประจำ         
ลูกลูกทำสัมฤทธิ์ด้วยจิตใจ

   ๑๗๘  ของดีดีมิควรพลาดขาดกล่าวถึง      
ที่เราพึงระลึกฝึกนิสัย
ล้วนของดีมีคุณบุญเด็กไทย         
เมื่อสมัยก่อนเก่าเขาฝึกดี

   ๑๗๙  คงเป็นการจงใจในการสอน         
แต่เก่าก่อนสอนเน้นเห็นหน้าที่
รับผิดชอบสำคัญนั้นพึงมี         
สมัยนี้สูญหายเสียดายจริง

   ๑๘๐  ฝึกให้ตื่นแต่เช้าแม้หนาวสั่น         
คุณพ่อนั้นก่อไฟไอร้อนผิง
ลูกนั่งล้อมกองไฟไม่ประวิง         
มินั่งนิ่งพ่อแม่พี่มีนิทาน


หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 20 กุมภาพันธ์, 2557, 08:41:29 AM

 :letter:

การเฆี่ยนตีสอนสั่งยังใช้กัน


   ๑๘๑  นิทานดีมีข้อคิดติดตอกย้ำ         
ผมยังจำแม้ว่าเวลาผ่าน
ยังฝังจิตฝังใจในดวงมาน         
สอนเรานานจำมั่นตราบวันตาย

   ๑๘๒  พ่อสอนเสร็จคอยเน้นเฟ้นตอกย้ำ      
แจงข้อธรรมฝังใจได้มากหลาย
ชี้คุณธรรมวินัยติดใจกาย         
จุดมุ่งหมายนำใช้ในชีวิต

   ๑๘๓  ตื่นจากนอนเก็บกวาดสะอาดเรียบร้อย         
แม่ยื่นถ้อยย้ำตอกฟอกใจจิต
สอนเท่าไรไม่ระวังยังพลั้งผิด         
เจ็บมากนิดจากไม้เรียวเคี่ยวให้ดี

   ๑๘๔  ถูกเจ็บเจ็บไม่กี่ทีนี้เข็ดหลาบ      
เตียนราบคาบสิ่งชั่วจะกลัวหนี
เรื่องไม้เรียวใช้เป็นเช่นประเพณี      
การเฆี่ยนตีสอนสั่งยังใช้กัน

   ๑๘๕   เสื้อผ้าใครใครซักจักสะอาด         
หากว่าขาดเย็บปะจะไม่หวั่น
งานเกี่ยวของทุกชนิดกิจประจำวัน      
ทุกชิ้นอันทำได้ง่ายดายนัก

20 กุมภาพันธ์ 2557

 :33:


หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 21 กุมภาพันธ์, 2557, 08:19:55 PM
 :29:

ลงแป้งมันอีกครั้งหลังจากซัก

๑๘๖  เตารีดผ้าสมัยนั้นมันเตาถ่าน         
ยามใช้งานยุ่งยากลำบากหนัก
ต้องรอถ่านติดไฟไปสักพัก         
ทนย้ายยักถ่านไฟเข้าในเตา

   ๑๘๗  คุมความร้อนกันเรื่อยเหนื่อยใจยิ่ง      
หากทอดทิ้งเสื้อผ้าจะถูกเผา
ใช้ใบตองรองรีดร้อนบรรเทา         
หรือไม่เล่าพรมน้ำความร้อนซา

   ๑๘๘  สมัยนั้นเนื้อผ้าที่มาใช้         
ล้วนผ้าด้ายมากมีที่เนื้อหนา
รีดให้เรียบยากยิ่งจริงจริงนา         
คอยค้นหาวิธีการผ่านอุปสรรค

   ๑๘๙  วิธีหนึ่งพึงใช้ได้ดังฝัน         
ลงแป้งมันอีกครั้งหลังจากซัก
นำแป้งมันผสมน้ำร้อนมิมากนัก         
ครึ่งจวักผสมน้ำสามสี่ลิตร

   ๑๙๐  บิดเสื้อผ้าน้ำไหลไปเกือบแห้ง      
ชุบน้ำแป้งซึมซับจับผ้าติด
โซมผ้าทั่วมิช้านำมาบิด         
แห้งสักนิดตากลมใต้ร่มเงา


 :24:


หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 07 เมษายน, 2557, 04:20:17 PM
 
  ๑๙๑  ผ้าลงแป้งรีดเรียบระเบียบสวย      
ดูแววด้วยเด่นตาสง่าเฉลา
ภูมิปัญญาชาวบ้านมานานเนา         
เดี๋ยวนี้เราลืมเลือนเหมือนไม่มี

   ๑๙๒  เสริมเสื้อผ้ามากล่าวสาวความก่อน      
ช่างจี้สอนจดจำแนะนำชี้
เร่งรู้หลักจัดเห็นเป็นวิธี         
สิ่งเหล่านี้สร้างนิสัยเสริมสร้างงาน

   ๑๙๓  รู้กระทั่งรับผิดชอบกอบด้วยกิจ      
ใจอุทิศจิตขยันประสมประสาน
แม้น้อยนิดฝึกย้ำนำสันดาน         
เหล่าลูกหลานเข้มแข็งแห่งความดี

   ๑๙๔  สมัยก่อนป้อนคุณธรรมสุดล้ำเลิศ      
มิละเมิดแต่น้อยคอยแนะชี้
คอยสอดแทรกทุกการงานที่มี      
ทุกหน้าที่มุ่งเน้นมิเว้นวัน

   ๑๙๕  สมัยนั้นอาหารทานพร้อมหน้า      
คอยรอท่าทุกคนจนพร้อมนั่น
มีมื้อเช้ามื้อเย็นเป็นสำคัญ         
ไม่พร้อมกันมีเที่ยงเพียงมื้อเดียว


หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 01 มิถุนายน, 2557, 10:36:18 PM

   ๑๙๖  นั่งล้อมวงร่วมทานเบิกบานไซร้      
มีอะไรคุยถามความข้องเกี่ยว
สั่งงานการตอนนี้ดีจริงเจียว         
เรื่องใดเคี่ยวใดเข็ญเป็นว่ากัน

   ๑๙๗  เรื่องการสอนมีมากหลากการใช้      
มันมิได้แค่ถ้อยคอยเสกสรร
ใช้สายตาสั่งสอนสิ่งสำคัญ         
ถือเป็นขั้นสูงสุดสะดุจใจ

   ๑๙๘  คือสั่งสอนให้จิตคิดวิเคราะห์      
สิ่งใดเหมาะมิควรด่วนแก้ไข
รู้จักรับปรับเปลี่ยนเรียนฉับไว         
วินิจฉัยด้วยตนหาหนทาง

   ๑๙๙  ผมเคี้ยวข้าวไม่ดีมีเสียงบ้าง         
พ่อก็วางตาจ้องมองตาขวาง
หยุดรับทานจานช้อนจะตั้งวาง      
ลูกรอบข้างต่างตรวจสำรวจตน

   ๒๐๐ ตามองจองที่ผมคล้ายข่มขู่         
ผมตรวจรู้ว่าผิดใดไม่สับสน
นั่งทบทวนหวนคิดจิตเวียนวน      
ก็มิพ้นค้นพบเมื่อทบทวน

http://www.naturedharma.com/data-1758.html

 :jub jub:


หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 13 มิถุนายน, 2557, 08:34:30 AM
 :30:

   ๒๐๑  กฎระเบียบดื่มทานนั้นมิน้อย         
พ่อแม่คอยสอนเน้นเป็นกระสวน
นั่งพับเพียบขัดสมาธินี่สมควร      
ห้ามช้อนกวนเลือกกับข้าวคราวชอบพอ

   ๒๐๒   มิพูดคุยเสียงดังระวังมั่น         
เรื่องขำขันมิควรชวนหัวร่อ
เดี๋ยวสำลักอาหารพานติดคอ         
ทั้งพ่อแม่คอยสอนป้อนคุณธรรม

   ๒๐๓   เผลอช้อนดังเคี้ยวดังระวังพลาด      
ตักเรี่ยราดหกหล่นหรือจนคว่ำ
ไม่ให้เอื้อมมือคว้าอาจคะมำ         
มิตักซ้ำตักซ้อนช้อนมิวาง

   ๒๐๔  แม้ซดดังฟังชัดจัดไม่เหมาะ         
มินั่งเคาะช้อนเล่นมือเว้นว่าง
หายใจดังถอนใจหรือไม่คราง         
ทุกทุกอย่างไม่งามตามประเพณี

   ๒๐๕  มีเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นเช่นความเชื่อ      
คือ“ขวัญเกลือ”“ขวัญข้าว” ขอเล่าชี้
คำว่าขวัญความหมายหรือคือความดี      
ข้าวเกลือมีดีงามตามแนวทาง

 :33:


หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 17 มิถุนายน, 2557, 06:39:51 AM
 :30:

   ๒๐๖  หากขวัญข้าวเขากล่าวเท่าหัวเรือ      
หากขวัญเกลือเขากล่าวเท่าหัวช้าง
เทียบเล็กใหญ่หากเทียบมาเปรียบวาง      
เกลือเข้าข้างสำคัญนั้นแน่นอน

   ๒๐๗  เป็นเพราะเกลือหายากลำบากกว่า      
คงถือค่ามากมายเอาไว้ก่อน
แต่อย่างไรถ้าทั้งสองต้องขาดรอน      
จักเดือดร้อนมนุษย์สุดพรรณนา

   ๒๐๘  หากเห็นคุณเห็นดีตามที่กล่าว         
ทั้งเกลือข้าวสองนี้ล้วนมีค่า
ห้ามตกหล่นทุกทางทิ้งขว้างปา      
ต้องถือว่าทำชั่วตัวกาลี

   ๒๐๙  ความเชื่อถือสอนใดในทางอ้อม      
ทุกคนพร้อมน้อมนำตามวิถี
มิกล้าผิดคิดชอบกอบทำดี         
ความเชื่อนี้ควรปลูกฝังอย่างโบราณ

   ๒๑๐  ขอยกเรื่องขี้ใต้ให้สว่าง         
มาจากยางต้นใหญ่ขอไขขาน
บ้านผมมีร้อยกว่าน่าประมาณ         
เข้าขวบกาลหนึ่งอาทิตย์ต้องติดตาม

http://www.naturedharma.com/data-1758.html


 :33:


หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 30 มิถุนายน, 2557, 08:21:24 PM
 :30:

   ๒๑๑  เตรียมตะคบถักด้วยฟางอย่างเหนียวแน่น   
ประมาณแขนบวกคืบสืบอีกสาม
ดูพอดีพอเหมาะอ๋อพองาม         
มิมีด้ามมีคันนั้นดูดี

   ๒๑๒  เตรียมปี๊บใส่น้ำมันยางอย่างพร้อมพรั่   ง
เตรียม“บอกหมัง”ใส่ “ขี้คั่ว” เพียงเท่านี้
ตื่นแต่เช้าคดข้าวห่อมิรอรี         
พ่อแม่พี่ผมด้วยไปช่วยพลัน

   ๒๑๓  “บอกหมัง” หรือคือที่ใส่ขี้คั่ว      
สีหม่นมัวตัวดำดูขำขัน
ไผ่ตงใหญ่สองปล้องห้องทะลุกัน      
ใช้ใส่มัน“ขี้คั่ว”เจ้าตัวดี

   ๒๑๔  เจ้าตัวดีขี้คั่วตัวอะไร         
หลังเผาไฟหลุมยางยังร้อนจี่
ในหลุมยางน้ำมันนั้นพอมี         
น้ำมันนี้“ขี้คั่ว”ตัวถูกไฟ

    ๒๑๕  บอกวิธีทำยางบ้างพอรู้         
เผื่อมองดูพิจารณาว่ายากไหม
หรือได้เห็นวิถีชีวิตไพร         
เกิดเข้าใจกันบ้างสว่างตา


หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 17 กันยายน, 2557, 05:59:00 AM
 :30:

    ๒๑๖  ขั้นแรกสุดขุดเจาะยางที่โคนต้น         
หลุมห่างพ้นจากพื้นเมตรกว่ากว่า
สูงหนึ่งเมตรห้าสิบตามธรรมดา      
หลุมกว้างห้ายาวลึกสิบนิ้วประมาณ

    ๒๑๗  ภูมิปัญญาชาวบ้านการขุดหลุม      
ต้องดูมุมทิศทางอย่างมาตรฐาน
ตรงรากใหญ่นั้นดีที่ต้องการ         
ภูมิปัญญาชาวบ้านนั้นแสนดี
   
   ๒๑๘  ทิ้งหลุมยางสัปดาห์อย่าไหวหวั่น      
นำน้ำมันยางใสได้แล้วนี่
วิดน้ำมันใส่ปี๊บได้ทันที         
ต่อจากนี้เผาหลุมสุมเชื้อไฟ

   ๒๑๙ เป่าตะคบทันทีมิรอช้า         
มินานหนามีควันพลันลุกไหม้
ตรวจเชื้อเพลิงอย่างดีที่เตรียมไป      
ก็ขี้ไต้จุดไฟไปเผาเลย

   ๒๒๐   มีมันยางค้างไว้ที่ในหลุม         
ขี้ไต้สุมติดทันทีมิรอเฉย
หนึ่งนาทีดับได้ให้เสบย         
รู้ไหมเอ่ยเอาอะไรดับไฟกัน

ประทีป  วัฒนสิทธิ์
ธรรมชาติธรรม
17 กันยายน 2557


หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 02 ตุลาคม, 2557, 06:30:55 AM

 :30:
ใบไม้สดมากมายมุมชายป่า

   ๒๒๑  ใบไม้สดมากมายมุมชายป่า         
หักเอามาหนึ่งกำมือถือให้มั่น
นำดับไฟในหลุมสุมลงพลัน         
มิถึงกลั้นหายใจไฟหมดเปลว

     ๒๒๒  เหลือบดูหลุมเกิดมีเรียก “ขี้คั่ว”         
ดูรูปชั่วตัวดำน้ำข้นเหลว   
รีบตักใส่ “บอกหมัง” เสียเร็วเร็ว      
คุณภาพเลวกว่า“น้ำมันยาง”

   ๒๒๓  น้ำมันยางเกิดได้ให้อย่างนี้         
ตามวิธีที่ว่าไว้ให้ทุกอย่าง
หนึ่งอาทิตย์เก็บมันใหม่ไม่เว้นวาง      
วิถีทางเก็บน้ำมันนั้นสนุกดี

   ๒๒๔   แม้นมียางเป็นร้อยน้อยเมื่อไหร่      
มันยางใสสองปี๊บใช้น่าได้ที่
อีกหนึ่งปี๊บขี้คั่วนั้นพอดี         
ต่อแต่นี้ผลิตภัณฑ์นั้นตามมา

   ๒๒๕   มันยางใสใช้ได้ในหลายด้าน         
ทาจักสานว่ากันนั้นดีหนา
ทากระด้งฝัดข้าวเข้าตำรา         
ถึงทนกว่าตึงกว่าไม่ทามัน


ประทีป  วัฒนสิทธิ์
ธรรมชาติธรรม
1 ตุลาคม 2557



หัวข้อ: Re: รำลึกหัวตะพานบ้านเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 22 ตุลาคม, 2557, 08:30:51 AM
น้ำมันยางเรียกว่า “มันยางใส”

๒๒๖  น้ำมันยางเรียกว่า “มันยางใส”      
เมื่อนำไปชุบด้ายให้ชื่อ“หมัน”
ส่วนผสมหลักมันยางใสให้สำคัญ      
เรียนรู้กันทั่วหน้าชาวประมง
   ๒๒๗  เรื่อที่ต่อด้วยไม้ไม่เชื่อมสนิท         
มันต้องปิดรอยต่อมิเหลือหลง
“หมัน” นี้เองตัวกันได้มั่นคง         
อุดตอกลงรอยร่องตามต้องการ
   ๒๒๘  เชือกด้ายชุบมันยาง “หมัน” ดีนัก      
อุดแน่นหนักยัดเน้นเป็นมาตรฐาน
หยอดมันยางตามหลังครั้งเสร็จการ      
อีกทาสมานทั่วลำด้วยมันยาง
   ๒๒๙  ปล่อยเรือแห้งทาใหม่ให้หลายซ้ำ      
น้ำมันฉ่ำซึมไม้ได้ลึกกว้าง
กันน้ำเค็มกัน “เพรียง” ได้สองทาง      
น้ำมันจางทาใหม่ไม่ต้องกลัว
   ๒๓๐ พูดถึงไต้ใช้กันนั้นนานนัก         
แจ้งประจักษ์คนใต้ใช้กันทั่ว
จุดสว่างไสวไม่มืดมัว         
ยังเป็นตัวก่อไฟได้อย่างดี

http://www.naturedharma.com


ประทีป  วัฒนสิทธิ์
ธรรมชาติธรรม
22 ตุลาคม 2557