** ผิดที่ผิดทาง ไร้ความหมาย ไม่มีในพตนานุกรม **
...............................................
คำที่มีปัญหาในที่นี้นี้ ได้แก่ ท่าม (ทุกคำ) ระบิล วิญญ์ สถิตย์ หรรษ์ (ไม่)สน พริ้ว หวล วิญญา นิจสิน
๑. ท่าม กวี/นักกลอนหลายท่าน นำมาใช้ในความหมาย ท่ามกลาง – ที่ซึ่งอยู่ระหว่างกลาง แต่ความจริงมิน่าจะใช่ความหมายนั้น เพราะหาคำนี้ไม่พบในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯ มีเพียงวงเล็บไว้ตอนท้ายคำอธิบายความหมายของคำ ท่ามกลาง (ไทยเดิม ท่าม ว่า ที่ เช่น ท่ามเหนือ ท่ามใต้)
๒. ระบิล – น. เรื่อง ความ ฉบับ อย่าง เช่น ระบิลเมือง (หลายๆคนนำมาใช้ผิด ในความหมาย ลือลั่น เลื่องลือ ดัง)
๓. วิญญ์ – ผู้ใช้คำนี้ใช้แทน วิญญาณ แต่ต้องการพยางค์เดียว หรือ ต้องการเสียงอิน จึงตัดสระ - พยัญชนะท้ายคำออก และ ใช้เครื่องหมายทัณฑฆาต กำกับพยัญชนะที่ไม่ต้องการให้ออกเสียง ซึ่งไม่ถูกต้อง
๔. สถิตย์ ใช้เป็นคำวิสามานยนาม (ชื่อเฉพาะ) ได้ เช่น ชื่อคน ชื่อถนน (พจานานุกรมฯ มิได้บันทึกไว้) ถ้าหมายถึง อยู่ ยืนอยู่ ตั้งอยู่ ต้องใช้ สถิต
๕. หรรษ์ – ผู้ใช้คำนี้ใช้แทน หรรษา แต่ต้องการเสียงอัน จึงตัดสระออกแล้วใช้เครื่องหมายทัณฑฆาต กำกับพยัญชนะท้ายคำที่ไม่ต้องการออกเสียง ซึ่ง ไม่ถูกต้อง ควรเลือกใช้คำ หฤหรรษ์ แทน
๖. สน – น. ชื่อต้นหลายพืชชนิด เช่น สนทะเล สนแผง สนหางกระรอก ฯลฯ
สน - ก. ร้อยด้วยเชือกหรือด้าย เช่น สนตะพาย สนเข็ม
“สน” เป็นภาษาปาก ตัดมาจากคำ สนใจ เช่น ไม่สน สนไหม น่าสนนะ ฯลฯ จึงไม่เหมาะสมที่
จะนำมาใช้ในบทร้อยกรอง (อาจพบได้ในคำสนทนาของตัวละคร ในนิยาย, ภาพยนตร์)
๗. พริ้ว – เป็นคำที่มักเขียนผิด และพบบ่อยมาก คำที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต บรรจุไว้ คือ พลิ้ว
๘. หวล ใช้เป็นคำวิสามานยนามได้ เช่น ชื่อคน (นายหอมหวล) ถ้าเป็นคำกริยา ต้อง หวน – เวียนกลับ
๙. วิญญา คำนี้พบบ่อยในบทร้อยกรอง มาจาก วิญญาณ ต้องการเสียงอา ผู้เขียนเลยตัดพยัญชนะท้ายคำทิ้ง ซึ่ง ผิดหลักภาษาไทย ที่ถูกต้องต้องใช้ วิญญาณ์ (ทำนองเดียวกับ สังขาร – สังขาร์)
๑๐.นิจสิน - ใช้ผิดจนเคยชินครับ พจนานุกรมฯ ใช้ นิจศีล – ว. เป็นปรกติเสมอไป
ยังมีอีกหลาย ๆ คำครับ ที่นัก “ประดิษฐ์ภาษา” รุ่นใหม่ๆ ตัด/ดัดแปลงใช้กัน อันเป็นการทำลายมรดกทางวัฒนธรรม มากกว่าการส่งเสริมสร้างสรรค์
สุวัฒน์ ไวจรรยา
* ยินดีรับความคิดเห็น ตาม "หลักการใช้ภาษาไทย"
* ขอสงวนสำหรับความเห็นที่ว่า "ใช้กันมานานแล้ว - กวี/ครูกลอนรุ่นเก่าก็ใช้กัน - เห็นท่านใช้ก็เลยใช้ตาม"