- กลบท กินนรรำ -
-๐ กระต่ายรำพัน ๐-
๑. กระต่ายต้องจะจ้องจันทร์ก็หวั่นไหว
ชโลมไล้กระไรเลยจะเอ่ยอ้าง
จรัสเลิศประเสริฐแสงมิแคลงคลาง
มิแรมร้างกระจ่างจันทร์นะพรรณพราย
๒. ผิว์ดวงเดือนสิเคลื่อนคล้อยละลอยลิ่ว
พระพายพลิ้วจะปลิวโปรยระโหยหาย
จะเมียงมองนะน้องนางสะอางอาย
เพราะมุ่งหมายกระต่ายเต้นสิเด่นดวง
๓. ก็เพียงพร่ำจะร่ำร้องและก้องกู่
มิคิดคู่จะวู่วามและลามล่วง
ระทดท้อระย่อย้ำระส่ำทรวง
ตะขิดขวงเพราะหน่วงหนักประจักษ์จินต์
๔. จะโลมเล้าก็เศร้าซมและขมขื่น
สะอึกอื้นนะคืนค่ำมิส่ำสิ้น
เพราะต่ำต้อยละห้อยหวนระรวนริน
ประดุจดินจะดิ้นด่าวเพราะร้าวแรง
๕. สลดรักประจักษ์จิตขนิษฐ์น้อง
ชม้ายมองจะลองรักก็หนักแหนง
เสน่ห์นางก็พร่างพรับระยับแยง
มิเปลี่ยนแปลงแสวงวาดสวาทวอน
๖. ฤทัยทนและหม่นหมองมิครองคู่
เพราะรับรู้จะอยู่ไยละไถ่ถอน
กระต่ายตรมระทมแท้มิแง่งอน
ก็จำจรสมรแม่ นะ แค่ ครวญ.. ๚ะ๛
- Black Sword -
(หมู มยุรธุชบูรพา)
ขอบคุณภาพจาก Internet
๐----------------๐
"กลบท กินนรรำ"
วางเขียนเป็น "กลอนเก้า" โดยแบ่งช่วงจังหวะ [๓ / ๓ / ๓]
ข้อบัญญัติ :
๑). ให้คำแรกของแต่ละช่วงในวรรคเป็น "ลหุ" (คำที่ ๑ ,๔ และ ๗)
๒). คำที่ ๒ และ ๓ ของแต่ละช่วงเล่นสัมผัสอักษรกัน
๓). ให้มีสัมผัสสระแทรกของทุกช่วงภายในวรรค (คำที่ ๓-๕ และ ๖-๘)
** กลบทนี้มีปรากฏที่มาเฉพาะในกลบท "จารึกวัดพระเชตุพนฯ"