โครงการอบรมเสวนา “คืนความสุข ครอบครัว พ้นทุกข์จากความรุนแรง”
องค์กรร่วมจัด คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับ
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม แผนกสตรี
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ (ภายใต้การดำเนินงานของสภาประมุขบาทหลวงคาทอลิกแห่งประเทศไทย)
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อสตรี อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ,
สังฆมณฑลราชบุรี, สังฆมณฑลจันทบุรี, สังฆมณฑลนครสวรรค์ และ
ทาลิธา คุม ไทยแลนด์ (คณะนักบวชคาทอลิกไทยต่อต้านการค้ามนุษย์)
วันที่จัดเสวนา วันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2014 เวลา 08.00 - 15.30 น.
สถานที่ ห้องประชุม วัดบ้านเซเวียร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
********************************************************************
หลักการและเหตุผล
ครอบครัว เป็นสถาบันแรกที่มีความสำคัญยิ่งในสังคม เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของสถาบันทั้งหลาย กล่าวคือ สถาบันครอบครัว เป็นจุดเริ่มต้นที่ให้การศึกษาอบรมบ่มเพาะ สร้างพลเมืองที่ดีให้กับประเทศชาติ แต่ปัจจุบัน ต่างไม่เห็นความสำคัญของครอบครัว และความสัมพันธ์ในครอบครัวลดน้อยลง แต่ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและสังคมกลับเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น หากจะแก้ไขเรื่องดังกล่าวให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จึงสมควรต้องเริ่มต้นที่สถาบันครอบครัวเป็นลำดับแรก
สตรีและเด็กเป็นสมาชิกในครอบครัวและสังคม ที่พึงได้รับการดูแลเป็นพิเศษในเรื่องนี้ เนื่องจากปัญหาความรุนแรงต่อสตรีและเด็กหญิง ที่เกิดขึ้นมากมายในปัจจุบันและปรากฏขึ้นเป็นการทั่วไป ตามข่าวสารต่างๆ เช่น การทำลายชีวิต การทำร้ายร่างกาย การข่มขืนกระทำชำเรา เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้สังคมไทยขาดความปลอดภัยในชีวิต ดังนั้น การสร้างจิตสำนึกและค่านิยมการเคารพในศักดิ์ศรีของกันและกันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง
องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ทุกวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันสากลยุติความรุนแรงต่อสตรี โดยเฉพาะในประเทศไทยพบว่า สตรีไทยยังถูกกระทำรุนแรงต่อเนื่องในทุกรูปแบบ จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข และ ยูเอ็นวีเมน พบว่าประเทศไทยมีเด็กและสตรีถูกกระทำความรุนแรงสูงขึ้น โดยสำรวจจาก 75 ประเทศ ประเทศไทยเป็นลำดับที่ 36 คือ ก่อเหตุทุก 20 วินาที ส่วนประเด็นความรุนแรงทางเพศ สำรวจ 71 ประเทศ ไทยอยู่ในอันดับที่ 7
ด้วยเหตุนี้ องค์กรผู้ร่วมจัดงานจึงเห็นสมควรให้มีการจัดโครงการเสวนา
“คืนความสุข ครอบครัวพ้นทุกข์จากความรุนแรง”
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาครัฐและเอกชน ด้านการเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา และ การศึกษา ตระหนักถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อสตรีและเด็กหญิง รวมถึงบุรุษและเด็กชายเช่นกัน
2. ทุกภาคส่วนในสังคมร่วมมือร่วมใจกันรณรงค์ เพื่อหาทางออก ด้วยการสร้างครอบครัวที่เข้มแข็ง ด้วยการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งเริ่มต้นจากที่บ้าน
3. ลงมือปฏิบัติ ช่วยกันหาทางป้องกันเรื่องความรุนแรงต่อสตรีและเด็กหญิงอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากครอบครัวในทุกศาสนา ละเว้นจากการกระทำรุนแรงต่อบุคคลในครอบครัวทุกรูปแบบ เน้นการเข้าใจปัญหาและหาทางออกด้วยการนำธรรมะของทุกศาสนามาปฏิบัติอย่างจริงจัง และสร้างเครือข่ายพี่น้องสตรีและบุรุษในทุกศาสนาเพื่อรณรงค์ร่วมกัน
4. ผู้เข้ารับการอบรมเสวนามีความรู้และทักษะขั้นพื้นฐานในการป้องกันตัวเกี่ยวกับภัยที่เกิดแก่สตรีและเด็กหญิงและสามารถนำไปถ่ายทอดให้กับผู้ที่อยู่ในความดูแล