น้ำมันยางเกิดได้ให้อย่างนี้
ตามวิธีที่ว่าไว้ให้ทุกอย่าง
หนึ่งอาทิตย์เก็บมันใหม่ไม่เว้นวาง
วิถีทางเก็บน้ำมันนั้นสนุกดี
หากมียางเป็นร้อยน้อยเมื่อไร
มันยางใสสองปี๊บใช้จึงได้ที่
อีกหนึ่งปี๊บขี้คั่วนั้นพอดี
ต่อแต่นี้ผลิตภัณฑ์นั้นตามมา
มันยางใสใช้ได้ในหลายด้าน
ทาจักสานว่ากันนั้นดีหนา
ทากระด้งฝัดข้าวเข้าตำรา
จะทนกว่าตึงกว่าไม่ทามัน
น้ำมันยางเรียกว่า “มันยางใส”
เขานำไปชุบด้ายให้ชื่อ “หมัน”
ตัวผสมหลักมันยางใสให้สำคัญ
ต่างรู้กันทั่วหน้าชาวประมง
เรื่อที่ต่อด้วยไม้ไม่เชื่อมสนิท
จำต้องปิดรอยต่อมิเหลือหลง
“หมัน” นี้เองตัวกันได้มั่นคง
อุดตอกลงรอยร่องตามต้องการ
เชือกด้ายชุบมันยาง “หมัน” ดีนัก
อุดแน่นหนักยัดแน่นเป็นมาตรฐาน
หยอดมันยางตามหลังครั้งเสร็จการ
อีกทาสมานทั่วลำด้วยมันยาง
ปล่อยเรือแห้งทาใหม่ให้หลายซ้ำ
น้ำมันฉ่ำซึมไม้ได้ลึกกว้าง
กันน้ำเค็มกันเพรียงได้สองทาง
น้ำมันจางทาใหม่ไม่ต้องกลัว
พูดถึงไต้ใช้กันนั้นนานนัก
แจ้งประจักษฺคนใต้ใช้กันทั่ว
จุดสว่างไสวไม่มืดมัว
อีกเป็นตัวก่อไฟได้อย่างดี
ขอแนะนำไต้ให้สักหน่อย
จะเรียงร้อยขั้นทำจำถ้วนถี่
วัสดุทำไต้มากมายมี
จะขอชี้ชื่อเห็นเป็นสำคัญ
มันยางใส่ขี้คั่วตัวยืนพื้น
อันสิ่งอื่นที่มีโน้นนี่นั้น
เปลือกเสม็ดเด็ดดีคลุกขี้ชัน
ที่ใช้กันเป็นพื้นกว่าอื่นใด
แทนเสม็ดหนึ่งให้ใช้เปลือกมะพร้าว
สองนั้นเล่าใบปอจงคงกันได้
จะอย่างอื่นทดแทนแค่นว่าไป
ขอเพียงให้ติดไฟได้อย่างดี
ห่อเนื้อใต้ควรทราบใช้กาบหมาก
ถ้าหายากใบเตยเสียเลยนี่
แต่ใบเตยจัดไว้ในเกรดบี
สุดท้ายมีหวายมัดรัดเร็วพลัน
น้ำขั้คั่วผสมมันยางใส
เกิดชื่อใหม่ทันทีนี่น่าขัน
ลองทายดูเรียกว่าอะไรกัน
ก็ "ขี้ชัน" นั่นเล่าขอเข้าใจ
เริ่มขั้นแรกนำเสม็ดคลุกขี้ชัน
ให้ทั่วกันสักพักหมักทิ้งไว้
มันขิ้ชันซึมซับกับเสม็ดไป
นี่เยื่อไต้ เนื้อไต้ ได้ออกมา
เอาเยื่อไต้ใส่ไปในกาบหมาก
ห่อไม่ยากยาวกลมสมปรารถนา
ผ่าศูนย์กลางสามนิ้วดูงามตา
ศอกกว่ากว่าควมยาวมิเท่าไร
ขั้นสุดท้ายหวายมัดจัดเป็นปล้อง
ห่างแค่สองสามนิ้วทั่วลำใต้
เอาเชือกมัดมัดมัดมัดทำไม
ยามติดไฟไต้มิแตกแยกออกมา
หลุมมันยางใช้ได้ให้นานโข
หากหลุมโตเมื่ไรไม่ได้หนา
ไฟติดมากยางอาจตายวายชีวา
ต้องขุดหาหลุมใหม่ไปทันที
ประทีป วัฒนสิทธิ์
11 สิงหาคม 2556